“รังสรรค์ สบายเมือง” หาเสียงชิงนายกสมาคมโรงสีข้าว

เปิดใจ “รังสรรค์ สบายเมือง” ว่าที่คู่ชิงนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย ชี้ มาตรการช่วยเหลือข้าวที่ดีคือหันมาลดต้นทุน-เพิ่มผลผลิต

ในโอกาสที่จะมีการประชุมสามัญสมาคมโรงสีข้าวไทย เพื่อพิจารณาวาระเลือกตั้งนายกสมาคมคนใหม่ เพื่อมารับหน้าที่แทน นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ที่จะหมดวาระ ในวันที่ 12 ธันวาคมนี้

ปรากฎชื่อ “นายรังสรรค์ สบายเมือง” ประธานชมรมโรงสีข้าวจ.กำแพงเพชร เจ้าของโรงสีสนั่นเมือง และกรรมการผู้จัดการ บริษัท กำแพงเพชรเอ็กซ์ปอร์ต หนึ่งในแคนดิเดตนายกสมาคมโรงสีข้าวไทยคนใหม่ครั้งนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสัมภาษณ์พิเศษถึงที่มาที่ไปในการลงสนามครั้งนี้

ซึ่งปัจจุบัน “รังสรรค์” เป็นอุปนายกสมาคมโรงสีข้าวไทยอยู่แล้ว และเคยเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงนายกสมาคม เมื่อ 4 ปีก่อน แข่งกับนายเกรียงศักดิ์ แต่ขณะนั้น ด้วยยังอ่อนอาวุโสกว่าและยังไม่มองเรื่องนี้จึงได้ “สละสิทธิ์” หลังจากที่แสดงวิสัยทัศน์

33 ปี ในธุรกิจโรงสี

พื้นเพเดิมผมได้เริ่มทำโรงสีมาตั้งแต่ปี 2530 หรือประมาณ 33 ปีมาแล้ว เป็นการทำด้วยตัวเองไม่ใช่มาจากพ่อแม่ ตอนนั้นเริ่มต้นธุรกิจด้วยพื้นที่โรงสีแค่ 8 ไร่ สีวันละ 6 ตัน กระทั่งมาตอนนี้มีพื้นที่ 300 ไร่ สีวันละ 900 ตัน แต่ก็เป็นเพียงโรงสีระดับกลางๆ เท่านั้น นอกจากธุรกิจโรงสีแล้ว ผมก็ยังได้เริ่มจดทะเบียนตั้งบริษัทส่งออกข้าวเมื่อปี 2548 และเริ่มส่งออกจริงเมื่อปี 2550 ตอนนั้นส่งออกแค่หลัก 1-2 หมื่นตันเท่านั้น แต่ตอนนี้ผมส่งออกปีละ 1 แสนตัน

หมวก 2 ใบทั้งส่งออก-โรงสี

ผมมองว่าการทำทั้งโรงสีและส่งออกทำให้เรารู้กระบวนการทำงานตั้งกลางน้ำ และปลายน้ำ เช่น ช่วงไหนโรงสีมีข้าว หรือช่วงไหนตลาดส่งออกเป็นอย่างไร ราคาส่งออกเป็นอย่างไร ควรขายล่วงหน้าหรือไม่ หรือควรผลิตข้าวแบบไหนจะตรงกับความต้องการของตลาดโลก ซึ่งทั้งหมดน่าจะเป็นข้อมูลที่ดีที่ผมจะให้กับสมาชิกโรงสีได้

แรงจูงใจ – แข่งเดือด

ส่วนตัวแล้วผมเป็นคนใช้ชีวิตเรียบง่าย มีความสุขทุกวัน ทั้งออกกำลังกายทุกวัน อยากไปไหนก็ไป แต่เหตุผลที่ต้องการลงรับสมัคร ผมก็ถามตัวเองอยู่หลายครั้งว่าเราจะลงสมัครเพื่อรับภาระเพิ่มทำไม ทั้งที่ตำแหน่งนายกสมาคมไม่มีเงินตอบแทน ต้องเสียสละเวลา และแรงกายหรือแม้แต่ทุนทรัพย์

ซึ่งก็ได้คำตอบให้ตัวเองว่า หลายปีที่ผ่านมาที่ผมมองสมาคมเห็นว่าความศรัทธาและความเชื่อมั่นของสมาชิกที่มีต่อสมาคมลดน้อยลงทุกวัน มันเกิดจากความไม่เข้มแข็งขององค์กร ความเปราะบางนี้ คนรุ่นผมไม่ห่วงเลยผมอายุ 58 ปีแล้ว ผมไม่ทำอะไรก็ได้ แต่ผมห่วงรุ่นลูกหลาน รุ่นใหม่ที่มาทำโรงสี เรียกว่าเห็นแล้วอดไม่ได้ ผมยังมีลูกที่ทำโรงสี จึงอยากรักษาองค์กรนี้ไว้ให้เข้มแข็งเป็นปากเป็นเสียงของผู้ประกอบการโรงสี

ต่อคำถามถึงการแข่งขันที่กำลังจะเกิดกับคู่แข่งอีกคนนั้น ผมคิดว่าคนที่จะมาเป็นนายกจะต้องเป็น “คนโรงสี” ซึ่งคงเหมือนองค์กรอื่นที่ต้องการคนในอาชีพนั้นๆ มาเป็นผู้นำ แต่ไม่ได้ปิดกั้นคนที่มีความรู้ความสามารถให้มายืนข้างๆ เป็นที่ปรึกษาทำงานร่วมกัน และผมพร้อมจะดึงคนรุ่นใหม่เข้ามาช่วยเพื่อพัฒนาองค์กรนี้

มุมมองต่อนโนบายรัฐ

ผ่านมาทุกสมัยทั้งจำนำ และประกันรายได้ เคยเข้าร่วมโครงการจำนำ ซึ่งทุกอย่างถ้าทำตรงไปตรงมาดีกับเกษตรกร ถ้าทำตามเส้นตามกรอบกฎที่วางไว้ จำนำแล้วส่งไปสี แล้วคลังกลางไปขาย แต่ช่วงหลังมันบิดเบี้ยวทั้งราคา และมีปริมาณสต๊อกมากเกินกว่าจะบริหารกรได้

ส่วนมาตรการการประกันรายได้ ข้อดีคือ ทำให้ราคาข้าวเป็นไปตามกลไกตลาด ปกติไม่มีการแทรกแซง เกษตรกรที่ขายข้าวได้ราคาถูกกว่าประกันรัฐก็ชดเชยส่วนต่างให้ ผู้ส่งออกก็ไปขายได้ตามราคาตลาด สำหรับผมสถานการณ์ข้าวตอนนี้ แก้ไขอย่างเดียว คือหันไปลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต ปรับให้ตลาดมันเดินไปเอง

ลดต้นทุนด้วยพันธุ์ใหม่ “ข้าวพื้นนุ่ม” ผลผลิตสูง แก้ได้ไหม

ประเด็นเรื่องข้าวขาวพื้นนุ่มมีการมองกันคนละมุมระหว่างโรงสี ซึ่งแต่ละพื้นที่มีความชำนาญคนละชนิด เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวขาว ข้าวนึ่ง และข้าวเหนียว ดังนั้น มุมมองที่มีต่อข้าวขาวพื้นนุ่มทั้ง 4 โรงสีจะแตกต่างกัน และความต้องการก็จะแตกต่างกันด้วย ถ้าทำแล้วจะโซนนิ่งในพื้นที่ที่เหมาะสมได้หรือไม่

“ซึ่งประเด็นระหว่างสมาคมโรงสีข้าวไทยกับสมาคมโรงสีข้าวอีสานไม่ได้มีปัญหากัน ปรับจูนการทำงานได้ รู้ปัญหา รู้วิธีการ เรามีการคุยกันตลอด”

ส่วนการแก้ปัญหาเรื่องการแยกชนิด มองว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะสร้างความแตกต่าง เช่น การปรับสีข้าวเปลือกให้เข้มขึ้นกว่าหอมมะลิได้หรือไม่ เพื่อทำให้แยกออกได้ ซึ่งจะช่วยลดความกังวลของคนที่ทำข้าวหอมมะลิ เป็นต้น ส่วนการออกมาตรฐานข้าวผมมองว่ายังมีขั้นตอนอีกเยอะเช่น การแยกชนิดข้าวจากขั้นตอนการต้ม ถ้าต้มข้าวนานเกินไปแล้วนำมาแยกก็จะแยกไม่ออก ถ้าจะตรวจสอบจริงๆ ต้องใช้ DNA (พันธุกรรม) ซึ่งต้องใช้เวลาหลายวัน มีปัญหา

ปัญหาสภาพคล่องโรงสี

ปัญหาสภาพคล่องโรงสีที่เกิดขึ้นแต่ละที่จะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัย เช่น การกู้วงเงินมากน้อยเท่าไร นโยบายของแต่ละธนาคาร ประเด็นนี้สิ่งสำคัญของเราต้องต้องพยายามทำอย่างไรให้สถาบันการเงินมองโรงสีเป็นหนึ่งในฟันเฟืองขับเคลื่อนอุตสาหกรรมข้าว จะแก้ปัญหาอย่างไร หากโรงสีที่เป็นเด็กดีก็ต้องดู เพราะตราบใดที่เรายังมีชาวนาปลูกข้าว ก็ต้องส่งมาที่โรงสี สีแปรข้าวเป็นข้าวสาร ก็ต้องมาช่วยกันทำให้สถาบันการเงินมองตรงจุดนี้