“กรมประมง” ส่งเจ้าหน้าที่สำรวจพันธุ์สัตว์น้ำต่างถิ่นก่อนออก กม.คุมเข้มหวั่นกระทบระบบนิเวศ

นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากกรณีที่พบการแพร่ระบาดของชนิดพันธุ์สัตว์น้ำต่างถิ่น (เอเลี่ยนสปีชีย์) ในประเทศไทยหลายสายพันธุ์ อาทิ ปลาซัคเกอร์ หอยเชอรี่ เต่าญี่ปุ่น รวมถึงปลาหมอสีคางดำ และปลาพีคอกแบส ซึ่งการหลุดรอดของสัตว์น้ำต่างถิ่นกลายเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของแหล่งน้ำในธรรมชาติ และเสี่ยงต่อการรุกรานสัตว์น้ำท้องถิ่นของไทย ตลอดจนสร้างความเสียหายต่อเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจากการระบาดดังกล่าว กรมฯจึงได้กำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาเพื่อหยุดวงจรการแพร่ระบาดของสัตว์น้ำต่างถิ่นไม่ให้ไปทำลายสัตว์น้ำพื้นถิ่นของประเทศและได้เตรียมร่างกฎหมายลำดับรองโดยอาศัยอำนาจตามพ.ร.ก.การประมง 2558 ในการควบคุมดูแลสัตว์น้ำต่างถิ่น ซึ่งปลาหมอสีคางดำจะถูกเป็นสัตว์น้ำต่างถิ่นที่ห้ามนำเข้าอย่างเด็ดขาด โดยกรมฯได้มีนโยบายเร่งกำจัดปลาชนิดนี้และไม่ส่งเสริมให้มีการเพาะเลี้ยง เนื่องจากเป็นพันธุ์สัตว์น้ำต่างถิ่นที่รุกรานและมีรายงานพบการรุกรานในต่างประเทศ ทั้งนี้ได้ส่งนักวิชาการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลทางชีวภาพและการแพร่ระบาดในแหล่งน้ำต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อวางแผนกำจัดปลาหมอสีคางดำในบ่อเลี้ยงและแหล่งน้ำธรรมชาติด้วยเครื่องมือประมงและวิธีต่างๆ ในช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อไป

นายอดิศรกล่าวว่า กรณีสัตว์น้ำต่างถิ่นสายพันธุ์อื่น ๆ หากจะนำเข้ามาในประเทศก็จะต้องผ่านพิจารณาจากคณะกรรมการระดับสถาบันด้านความปลอดภัยและความหลากหลายทางชีวภาพของกรมประมง (ไอบีซี) เป็นรายชนิดอย่างละเอียด ทั้งนี้ กรมฯไม่ได้กำหนดห้ามนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่นทุกชนิด การที่จะนำเข้าจะต้องให้คำตอบได้อย่างชัดเจนถึงวัตถุประสงค์ของการนำเข้าสัตว์น้ำชนิดนี้ และมีวิธีป้องกันไม่ให้สัตว์น้ำต่างถิ่นหลุดออกไปยังแหล่งน้ำสาธารณะ สำหรับบทลงโทษถ้ามีการประกาศกฎหมายบังคับใช้หากพบผู้ใดกระทำผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีที่ผู้กระทำผิดนำสัตว์น้ำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นายอดิศร กล่าวว่า นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเฝ้าระวังไม่ให้สัตว์น้ำต่างถิ่นหลุดลอดลงแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ต่างๆ กรมได้สั่งการให้สำนักงานประมงจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศได้ทำการประชาสัมพันธ์ถึงผลเสียจากการแพร่ระบาดของสัตว์น้ำต่างถิ่น และรณรงค์ให้ประชาชนที่นิยมปล่อยปลาทำบุญเนื่องในโอกาสต่าง ๆ หันมาปล่อยปลาสายพันธุ์ไทยแท้เพื่อช่วยรักษาสมดุลให้กับระบบนิเวศอีกด้วย

“ขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน หากท่านเลี้ยงหรือครอบครองสัตว์น้ำต่างถิ่น ควรศึกษาถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อระบบนิเวศในทุก ๆ ด้านอย่างรอบคอบ และหากไม่ต้องการเลี้ยงอีกต่อไปแล้ว อย่านำไปปล่อยลงในแหล่งน้ำสาธารณะโดยเด็ดขาด ขอให้ท่านนำสัตว์น้ำต่างถิ่นมามอบให้กับทางกรมประมง หรือสำนักงานประมงจังหวัดในพื้นที่ใกล้บ้านท่าน เพื่อให้กรมประมงรับไปดูแลและป้องกันไม่ให้สัตว์น้ำต่างถิ่นหลุดรอดลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะอันจะสร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศของประเทศต่อไป” นายอดิศรกล่าว

 

 

ที่มา : มติชนออนไลน์