ตลาดข้าวขาว-ข้าวนึ่งไทยกระแสดี แอฟริกายังนำเข้าถึงปลายปี’63

ข้าว
Photo by NICOLAS ASFOURI / AFP

สมาคมผู้ส่งออกข้าว ชี้ตลาดข้าวขาว-ข้าวนึ่งไทย ยังเป็นที่ต้องการจากตลาดแอฟริกา เนื่องจากอินเดียประสบปัญหาการขนส่ง ส่งผลให้หันมาซื้อข้าวไทยทดแทน

นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ระบุว่า สถานการณ์ราคาข้าวของไทยในช่วงนี้ยังคงสูงกว่าประเทศคู่แข่งที่สำคัญ แม้ว่าค่าเงินบาทจะมีแนวโน้มอ่อนค่าลง แต่เนื่องจากอุปทานข้าวในประเทศโดยเฉพาะข้าวเปลือกเจ้า ที่จะนำไปสีแปรสภาพเป็นข้าวขาวและข้าวนึ่งมีปริมาณจำกัด จึงทำให้ราคาข้าวภายในประเทศยังคงอยู่ในระดับสูง และส่งผลให้ราคาข้าวส่งออกสูงกว่าประเทศคู่แข่งประมาณ 30-140 เหรียญสหรัฐ

โดยเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2563 สมาคมฯประกาศราคาข้าวขาว 5% ที่ 495 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ขณะที่เว็บไซต์ Oryza.com รายงานราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนาม อินเดีย และปากีสถาน อยู่ที่ 463-467, 348-352 และ 403-407 เหรียญสหรัฐต่อตัน ตามลำดับ

ทั้งนี้ ทำให้คาดการณ์การส่งออกข้าวในเดือนกันยายน 2563 ปริมาณส่งออกข้าวจะอยู่ที่ประมาณ 400,000-500,000 ตัน เนื่องจากประเทศผู้นำเข้าในแถบแอฟริกายังคงมีความต้องการนำเข้าข้าวจากไทยทั้งข้าวขาวและข้าวนึ่ง เพื่อเตรียมไว้ใช้ในช่วงเทศกาลปลายปีนี้

ในขณะที่อินเดียยังคงประสบปัญหาด้านโลจิสติกส์ ซึ่งทำให้การส่งมอบล่าช้า ส่งผลให้ประเทศไทยได้รับอานิสงส์แต่ก็เป็นปริมาณที่ไม่มากนัก ส่วนของการส่งออกข้าวหอมมะลิมีแนวโน้มชะลอลง เนื่องจากประเทศผู้นำเข้าได้นำเข้าไปเป็นจำนวนมากแล้ว และบางส่วนรอดูผลผลิตข้าวนาปีที่จะออกสู่ตลาดในช่วง 1-2 เดือนนี้

ส่วนการส่งออกข้าวในเดือนสิงหาคม 2563 มีปริมาณ 356,554 ตัน มูลค่า 7,366 ล้านบาท โดยปริมาณและมูลค่าส่งออกลดลง 12.9% และ 7.8% เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2563 ที่ส่งออกได้ 409,451 ตัน มูลค่า 7,988 ล้านบาท เนื่องจากการส่งออกข้าวขาวและข้าวนึ่งมีปริมาณลดลง เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เนื่องจากราคาข้าวไทยยังคงสูงกว่าประเทศคู่แข่ง เช่น อินเดีย เวียดนาม ประกอบกับผู้นำเข้าบางส่วนมีสต๊อกข้าวเพียงพอแล้ว จึงชะลอการนำเข้าข้าว

โดยการส่งออกข้าวในเดือนสิงหาคม 2563 การส่งออกข้าวขาวมีปริมาณ 133,510 ตัน ลดลง 18.6% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยส่วนใหญ่ส่งไปยังประเทศญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก โมซัมบิก แองโกล่า จีน เป็นต้น

ส่วนการส่งออกข้าวนึ่งมีปริมาณ 109,538 ตัน ลดลง 7.7% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ส่วนใหญ่ส่งไปตลาดประจำในแถบแอฟริกา เช่น แอฟริกาใต้ เบนิน เยเมน เป็นต้น สำหรับการส่งออกข้าวหอมมะลิ (ต้นข้าว) มีปริมาณ 68,393 ตัน เพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนซึ่งส่วนใหญ่ยังคงส่งไปยังตลาดประจำ เช่น สหรัฐฯ ฮ่องกง จีน สิงคโปร์ เป็นต้น