เปิดเกณฑ์ “โรงไฟฟ้าชุมชน” ประมูลค่าไฟตีกัน “นอมินี” ฮุบ

เปิดเงื่อนไขล่าสุดโครงการนำร่องโรงไฟฟ้าชุมชน 100 MW ไม่เกิน 33 แห่ง ผู้ประกอบการไฟฟ้าขนาดจิ๋วที่สนใจต้องยื่นประมูลราคารับซื้อไฟฟ้า พร้อมทำสัญญา contract farming ประกันราคารับซื้อพืชพลังงาน นำร่อง 3 จังหวัด วิสาหกิจชุมชนพื้นที่บุรีรัมย์-ขอนแก่น-อุบลราชธานี

จากประมาณการที่จะรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ให้ได้ถึง 1,933 เมกะวัตต์ (MW) ในสมัยอดีตรัฐมนตรีพลังงาน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ปัจจุบันโครงการนี้ได้ถูกลดไซต์ลดขนาดกลายเป็นเพียง “โครงการนำร่อง” แค่ 100 MW SCOD ภายใน 12 เดือน โดยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และไม่จำเป็นที่จะต้องรอการปรับปรุงแก้ไข แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ฉบับใหม่ ซึ่งยังไม่มีใครรู้ว่าจะเสร็จเมื่อไหร่

ล่าสุดกระทรวงพลังงานได้ปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์ในการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนใกล้จะเสร็จเรียบร้อย ซึ่งแตกต่างไปจากโครงการสมัยนายสนธิรัตน์ ภายใต้ concept ใหม่ ทำโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อให้ชุมชนได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง ท่ามกลางสถานการณ์สำรองไฟฟ้าของประเทศที่ล้นเกินจนไม่สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ไปจนกระทั่งถึงความจำเป็นที่จะต้องลดการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศลง

เกณฑ์สุดท้ายก่อนเคาะโครงการ

รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงานเปิดเผยถึงหลักเกณฑ์ในการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนจะเป็นโครงการนำร่อง 100 MW ส่วนโครงการทั่วไปจะเปิดรับภายในระยะเวลา 1 ปี นับจากวันที่โครงการนำร่องเริ่มขายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ โดยจะต้องประเมินความสำเร็จของโครงการนำร่องก่อน สำหรับปริมาณไฟฟ้าที่จะเสนอขายจะไม่เกินโรงละ 3 MW จากเดิมที่ให้ขายได้ถึง 3-10 MW

นั่นหมายความว่า ในโครงการนำร่องจะเกิดโรงไฟฟ้าชุมชนได้ประมาณ 33 แห่งจากทั้งประเทศ ส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการจะรับซื้อในรูปแบบ feed-in-tariff สัญญารับซื้อไฟฟ้า nonfirm ในอัตราของผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็กมาก ๆ (VSPP) แบ่งประเภทเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าออกเป็น 2 ประเภท คือ โรงไฟฟ้าชุมชนชีวมวล กับโรงไฟฟ้าชุมชนก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงาน

“ที่สำคัญและต่างไปจากโครงการสมัยของนายสนธิรัตน์ก็คือ การกำหนดให้นำระบบวิธีการประมูลราคารับซื้อไฟฟ้ามาเป็นเกณฑ์ในการคัดเลือก VSPP ที่สนใจจะเข้ามาในโครงการนี้ นอกจากนี้สัดส่วนการถือหุ้นโรงไฟฟ้าชุมชนก็ปรับเปลี่ยนใหม่จากเดิมที่ให้ชุมชนถือหุ้นได้ถึงร้อยละ 40 ก็เหลือแค่ร้อยละ 10 ซึ่งจะเป็นหุ้นบุริมสิทธิ ส่วนหุ้นที่เหลืออีกร้อยละ 90 จะเป็นของเอกชน หรือเอกชน+หน่วยงานรัฐก็ได้

นอกจากนี้ ผู้สนใจที่จะเข้าร่วมประมูลโรงไฟฟ้าชุมชนจะต้องเสนอแผนการปลูกพืชที่เหมาะสมจะใช้เป็นเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้า ไฟฟ้าที่ผลิตได้จะถูกขายให้กับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในอัตรา feed-in-tariff เงินที่ได้จากการขายไฟฟ้าจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกจ่ายค่าไฟฟ้าให้กับโรงไฟฟ้า กับอีกส่วนหนึ่งจะแบ่งรายได้จากการขายไฟเข้าสู่กองทุนหมู่บ้าน” แหล่งข่าวกล่าว

ส่วนการปลูกพืชพลังงานที่จะใช้เป็นเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าชุมชนนั้น โรงไฟฟ้าจะต้องทำสัญญา contract farming กับชุมชนเพื่อประกันราคาพืชพลังงานขั้นต่ำ กรณีข้อกังวลที่ว่า ผู้ประกอบการด้านพลังงานรายใหญ่ หรือทุนระดับประเทศ จะเข้ามา “ฮุบ” โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนด้วยการแตกบริษัทวิสาหกิจชุมชนขึ้นมากมายในประเทศนั้น

ในประเด็นนี้มีข้อกำหนดให้ผู้ร่วมลงทุนในส่วนชุมชน 10% จะต้องเป็นวิสาหกิจชุมชน 200 ครัวเรือนขึ้นไป และต้องจดทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ที่สำคัญก็คือจะต้องมีการตรวจสอบว่า วิสาหกิจชุมชนนั้นไม่ใช่ nominee ของนายทุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

“ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ของโรงไฟฟ้าชุมชนที่จะต้องทำกับ กฟน.-กฟภ.จะต้องมีแผนการปลูกพืช ข้อเสนอโครงการ แนบท้ายสัญญาไปด้วย หาก VSPP ไม่ปฏิบัติตามสัญญา ทั้ง กฟน.-กฟภ.มีสิทธิบอกเลิกสัญญา PPA ได้ ส่วนสถาบันทางการเงินที่จะเข้ามาสนับสนุนโครงการทั้งในส่วนของการปลูกพืชพลังงานกับผู้ประกอบการโรงไฟฟ้านั้นกำลังมีการหารือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กับธนาคารไทยพาณิชย์อยู่” แหล่งข่าวกล่าว

นำร่องชุมชน 3 จังหวัด

นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สัปดาห์หน้ากระทรวงพลังงานจะหารือร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย รวมถึงเกษตรกรและผู้ประกอบการ เพื่อเดินหน้านโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก โดยเฉพาะการหารือถึงเงื่อนไข หลักเกณฑ์ ข้อกำหนดโรงไฟฟ้าชุมชน และราคารับซื้อพืชพลังงาน เช่น หญ้าเนเปียร์, กระถินณรงค์ และจะนำข้อหารือสรุปเป็นข้อมูลเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.)-คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้

ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าที่มีความพร้อมเดินเครื่องหรือที่เป็นโครงการ Quick Win เดิมและสร้างไปแล้ว จะปรับและผลักดันเข้าสู่เงื่อนไขใหม่ โดยจะไม่รวมกับนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากที่จะเดินหน้าพื้นที่ใหม่ เพื่อให้เกิดการจ้างงานที่ชัดเจนและกระตุ้นรายได้ชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม ตามนโยบายการจ้างงานรัฐบาล ทั้งนี้ คาดว่าเฟสเเรกตั้งเป้าหมายอยู่ที่ 100-150 MW โดยมั่นใจว่าภายในสิ้นปีนี้จะสามารถประกาศรับซื้อไฟฟ้า

“โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนไม่ได้ปิดกั้นผู้ประกอบการรายเดิมที่มีความพร้อม หากแต่จะต้องปรับให้เข้ากับเงื่อนไขใหม่ เช่นเดียวกันกับบริษัทจำกัด (มหาชน) หากจะดำเนินการร่วมกับชุมชนได้ เราก็ไม่ได้ปิดกั้นเช่นกัน แต่ทุกอย่างก็ต้องเป็นไปตามเกณฑ์”

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า สัปดาห์หน้าจะมีการหารือถึงเงื่อนไข พื้นที่การปลูกพืชพลังงาน เช่น การกำหนดพื้นที่ปลูกใหม่ หรือหากเกษตรกรมีพื้นที่เพาะปลูกมากกว่า 500 ไร่ รูปแบบแปลงใหญ่ สามารถดำเนินการได้ทันที คาดว่าจะมี 2-3 แห่งที่จังหวัดบุรีรัมย์ ขอนแก่น และอุบลราชธานี ที่มีศักยภาพ โดยจะแบ่งสัดส่วนเกษตรกร 80% เป็นคอนแทร็กต์ฟาร์ม (รวมชีวมวล) อาทิ เนเปียร์, ไม้โตเร็ว, กระถินณรงค์ ที่เหลือ 20% เป็นเชื้อเพลิงจากพืชอื่น ๆ เช่น วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร

“เราจะเลือก 3 พื้นที่ที่เกิดการรวมกลุ่มกันอยู่แล้วก็จะเข้าสู่โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ และโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนยังคงอยู่ในกรอบตามแผนการพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) ฉบับล่าสุดที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน (PDP 2018) ส่วนกรณีหลักเกณฑ์สัดส่วนถือหุ้น ด้านกฎหมายวิสาหกิจชุมชนถือหุ้นอาจจะต้องมีการทบทวนถึงความเหมาะสม โดยปรับการถือหุ้นเป็นการแบ่งรายได้และผลกำไรที่ชัดเจน ไม่ใช่ลักษณะหุ้น”นายประเสริฐกล่าว

ให้ระวังนอมินี

แหล่งข่าวจากกลุ่มผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าชีวมวลกล่าวว่า กำลังรอการประกาศหลักเกณฑ์และเงื่อนไขขั้นสุดท้ายของโครงการนี้อยู่ แต่เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า โรงไฟฟ้าชีวมวลเดิมที่สร้างไปแล้ว แต่ขายไฟเข้าระบบไม่ได้ จะไม่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ โดยทางกระทรวงพลังงานแสดงท่าทีว่า ให้แยกปัญหาออกมาจากเดิมที่ถูกรวมเข้าไปกับโรงไฟฟ้าชุมชน

“สุดท้ายแล้วก็ยังเชื่อว่าจะมีผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก VSPP สนใจที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ เนื่องจากเป็นช่องทางเดียวที่รัฐบาลจะรับซื้อไฟฟ้าอยู่ จากปัญหาไฟฟ้าสำรองล้นเกินในอีก 10 ปีข้างหน้า สิ่งที่ต้องระวังก็คือ ต้องมีการตรวจสอบว่า VSPP ที่ตั้งขึ้นมานั้นเป็น nominee ของใครหรือเปล่า ถ้าเป็น nominee ของโรงไฟฟ้ารายใหญ่ก็ผิด concept ของท่านรัฐมนตรีสุพัฒนพงษ์ ที่ต้องการให้เกิดประโยชน์กับชุมชนจริง ๆ” แหล่งข่าวกล่าว