ลุ้นไทย-เชฟรอน ถกอนุญาโตตุลาการนัดแรก “สวิตเซอร์แลนด์”

แฟ้มภาพ

ปลัดกุลิศย้ำความพร้อมทีมไทย ลุยเจรจาเชฟรอน หลังระยะเวลาขอเบรกอนุญาโตตุลาการใกล้สิ้นสุด 1 ปี คาดใช้ “สวิตเซอร์แลนด์” เวทีถกนัดแรก

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทางบริษัทเชฟรอน สหรัฐอเมริกา ยื่นเรื่องเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการในปี 2562 ที่ผ่านมา ในประเด็นเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณที่กำลังจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2565

“เรื่องการรื่อถอนแท่น พยายามเจรจาให้ได้ข้อยุติให้ได้ ตอนนี้ยื่นอยู่ แต่เราขอระงับถอนออกมาเพื่อเจรจรา ฟ้องปีที่แล้วตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายไทยแล้ว แต่ตอนนี้เราขอระงับไว้ก่อนการเดินหน้าอนุญาโตไว้ก่อน 1 ปี  ให้มาเจรจาก่อน พยายามเจรจาให้จบ ทางเค้าก็ต้องการเจรจา”

กุลิศ สมบัติศิริ
กุลิศ สมบัติศิริ

“ประเด็นที่ร้องคือ การรื้อถอนแท่นขอไม่วางหลักประกันทั้งหมด แท่นที่คืนขอไม่จ่าย เขาใช้แค่ไหนขอจ่ายแค่นั้น รัฐใช้ต้องรับส่วนนี้ด้วย ส่วนที่ยังไม่หมดอายุ วางหลักประกันไม่แฟร์ รัฐใช้ต่อไม่คิดเขา ที่ต้องรื้อ 49 แท่น เจรจาอยู่ ซึ่งเค้าฟ้องเรียกค่าเสียหายว่าเราทำผิดสัญญา”

“ทางเราก็มีดูข้อกฎหมาย เตรียมการ เจรจาเดินไป เราก็เดินหน้าอนุญาโต เพื่อเตรียมความพร้อมฝ่ายไทย ฝ่ายกฎหมาย ตอนนี้เตรียมการแล้ว ตั้งอนุญาโต ส่วนจะมีการเจรจาที่ประเทศอะไรอยู่ระหว่างพิจารณาอยู่ ก็อาจจะเป็นสวิตเซอร์แลนด์”

ก่อนหน้านี้ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ออกเอกสารคำชี้แจงในเรื่องเกี่ยวกับการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียม เมื่อวันที่ 3 ต.ค.2563 ว่า เชฟรอนประเทศไทยได้ทำงานร่วมกันกับรัฐบาลไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมการส่งมอบสิ่งติดตั้งที่ยังใช้ประโยชน์ได้ในแหล่งเอราวัณให้รัฐบาลอย่างปลอดภัยหลังจากสัมปทานสิ้นสุดลงในเดือนเมษายน 2565

ทั้งนี้ ข้อตกลงในสัญญาสัมปทานปิโตรเลียมได้ระบุไว้ว่าผู้รับสัมปทานมีหน้าที่รับผิดชอบการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่จะมิได้ส่งมอบให้แก่รัฐบาลแต่เพียงเท่านั้น ซึ่งเชฟรอนมุ่งมั่นในการปฏิบัติตามข้อผูกพันดังกล่าว

ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการอีกครั้ง เพื่อให้ได้รับความชัดเจนเกี่ยวกับหน้าที่ความรับผิดชอบในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่จะส่งมอบให้รัฐบาลภายหลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลง


เชฟรอนประเทศไทยได้เริ่มดำเนินการรื้อถอนสิ่งติดตั้งในแหล่งเอราวัณที่จะมิได้ส่งมอบให้แก่รัฐบาลในปี 2565 ภายใต้ข้อตกลงที่ระบุไว้ในสัญญาสัมปทานปิโตรเลียม และบริษัทจะยังคงมุ่งมั่นในภารกิจจัดหาพลังงานอย่างรับผิดชอบและปลอดภัย เพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานในระยะยาวของประเทศอย่างต่อเนื่องต่อไป ดังที่ได้ปฏิบัติมาแล้วกว่า 5 ทศวรรษ