ดึงงานวิจัยลงจากหิ้ง ชงตั้งกฎหมาย คุมจัดการน้ำพื้นที่ EEC ป้องกันแย่งน้ำ

นิคมอุตสาหกรรมอีอีซี
แฟ้มภาพประกอบข่าว

สทนช. เล็งใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยการจัดการน้ำอีอีซี แนะกำหนดเกณฑ์การใช้น้ำในแต่ละกิจกรรมให้ชัดเจน เอื้อต่อการนำไปปฏิบัติ ป้องกันขัดแย้งการใช้น้ำ พร้อมผลักดันเข้าสู่ที่ประชุม กนช. ก่อนขยายผลสู่คณะกรรมการลุ่มน้ำ และคณะอนุฯ น้ำจังหวัด ภายในเดือน ธ.ค. 2563

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อผลการศึกษาของแผนงานวิจัยการพัฒนาระบบการวางแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จากทีมวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

นำโดย รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ โดยมีผู้บริหาร ว่าโดยขณะนี้แผนงานวิจัยดังกล่าวดําเนินการในระยะที่ 1 เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยมีประเด็นการศึกษาหลัก ๆ ได้แก่ 1.การศึกษาสมดุลน้ำและมาตรการลดการใช้น้ำเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในพื้นที่อีอีซี 2.การพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำภาคอุตสาหกรรม 3.แผนงานวิจัยการจัดการความต้องการใช้น้ำ และการป้องกันและจัดการความขัดแย้งในการใช้ทรัพยากรน้ำ

สำหรับการรับฟังความเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในครั้งนี้ ทีมนักวิจัยจะนำไปปรับปรุงเพื่อให้งานวิจัยมีความสมบูรณ์และครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

“คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้ เช่น การประเมินสมดุลน้ำในอนาคต แผนที่ขาดน้ำและแผนจัดสรรน้ำที่เหมาะสม แผนป้องกันและจัดการความขัดแย้งในการใช้น้ำระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ รวมทั้งเสนอเชิงนโยบาย กฎหมายและมาตรการต่าง ๆ ที่มีหลายภาคส่วนเกี่ยวข้อง การกำหนดเกณฑ์มาตรฐานที่ชัดเจน ทั้งในเรื่องการประหยัดน้ำด้วย”

รวมทั้งการใช้น้ำในแต่ละกิจกรรมที่มีความแตกต่างกันให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทั้งภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงภาคการท่องเที่ยว เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนการจัดการน้ำด้านอุปสงค์ ไปสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริง

“พื้นที่อีอีซี มีแนวโน้มความต้องการใช้น้ำเพื่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีความเสี่ยงสูงต่อการขาดแคลนน้ำในอนาคตอันใกล้ งานวิจัยในวันนี้ สทนช.ต้องการนำผลงานวิจัยที่ได้ไปต่อยอดปรับใช้ให้สามารถนำไปสู่การปฏิบัติ ทั้งชุมชน เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม”

ทั้งนี้ จะนำเสนอผลงานวิจัยให้คณะกรรมการลุ่มน้ำ คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด และคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณา ซึ่งคาดว่าจะมีการประชุมในเดือนธันวาคมนี้ เพื่อนำไปสู่แนวทางการปฏิบัติที่เหมาะสมต่อไป