พายุ “หลิ่นฟา” ถล่มนาข้าว 6 จังหวัด เสียหายแล้วกว่าแสนไร่

พายุหลิ่นฟา-นังกา ถล่มที่เกษตรเสียหาย 6 จังหวัด นครราชสีมา สระแก้ว จันทบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี และเพชรบุรี เกษตรกร 60,924 ราย พื้นที่ 234,569 ไร่ ข้าว 107,642 ไร่ กรมอุตุเตือนประเทศไทยยังมีฝนตกต่อเนื่อง 14-16 ต.ค. กรมชลประทานติดตามอ่างเก็บน้ำใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำชี-มูล พร้อมพิจารณาปรับการระบายน้ำตามเกณฑ์ควบคุม

วันที่ 13 ต.ค. 2563 นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักหลายพื้นที่ ส่งผลให้สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 43,399 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 57 ของความจุอ่างฯ 37% เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 19,470 ล้าน ลบ.ม.

เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 11,952 ล้าน ลบ.ม หรือร้อยละ 48 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 5,256 ล้าน ลบ.ม.

ทั้งนี้ ทั่วประเทศยังคงมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง ประกอบกับพายุโซนร้อน “หลิ่นฟา” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง คาดว่าเคลื่อนตัวเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง ทำให้เกิดฝนตกในบางพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลดีต่อปริมาณน้ำในเขื่อนที่ยังคงมีปริมาณน้อยอยู่ (ต่ำกว่า 30%) ซึ่งมี 6 แห่ง ได้แก่ ภูมิพล แม่มอก อุบลรัตน์ ศรีนครินทร์ วชิราลงกรณ และคลองสียัด ส่วนที่มีน้ำ (มากเกิน 80%) ได้แก่ ลำพระเพลิง เขื่อนหนองปลาไหล เขื่อนขุนด่านปราการชล ยังสามารถควบคุมการปรับระบายได้

อย่างไรก็ตาม ได้กำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำในพื้นที่ของตนอย่างใกล้ชิด

“โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำชี-มูล พร้อมพิจารณาปรับการระบายน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์และเกณฑ์ควบคุมที่กำหนด รวมทั้งเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ย่อมความกดอากาศที่จะเกิดขึ้นภายใน 1-2 อาทิตย์นี้อย่างเคร่งครัด”

ทางด้านกระทรวงเกษตรฯ รวบรวมผลกระทบด้านการเกษตร ด้านพืช ได้รับผลกระทบ 6 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา สระแก้ว จันทบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี และเพชรบุรี เกษตรกร 60,924 ราย พื้นที่ 234,569 ไร่ แบ่งเป็นข้าว 107,642 ไร่ พืชไร่ 115,548 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 11,379 ไร่ อยู่ระหว่างสำรวจความเสียหาย
ด้านประมง ได้รับผลกระทบ 2 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี กาญจนบุรี เกษตรกร 179 ราย ด้านปศุสัตว์ ได้รับผลกระทบ 1 จังหวัด คือ จังหวัดนครราชสีมา เกษตรกร 17 ราย

รายงานข่าวจากกรมอุตุนิยมวิทยา 3 (พายุโซนร้อน) “นังกา” ช่วงเช้าต่อจากพายุหลิ่นฟา บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ไทยยังได้รับผลกระทบต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 14-16 ตุลาคม 2563 โดยจะทำให้มีฝนเพิ่มขึ้นในบริเวณด้านตะวันออกและตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ