SMEs เกือบ100% จ่อปากเหว เข้าไม่ถึงซอฟต์โลน-จัดจ้างรัฐยังไม่เริ่ม

สภา SMEs โอด 90% เข้าไม่ถึงมาตรการ soft loan 4 แสนล้าน เตรียมเสนอ 6 ข้อที่ประชุมคณะอนุกรรมการด้านเศรษฐกิจของสภาพัฒน์ 14 ธ.ค.นี้ ด้าน ส.อ.ท.-สมาพันธ์เอสเอ็มอี เร่งขึ้นทะเบียนเอกชนเข้าร่วมตลาดจัดซื้อจัดจ้าง 1.3 แสนล้าน ห่วง 5 ประเด็นกระทบเอสเอ็มอีเข้าไม่ถึงโครงการ “รายใหญ่ส่งนอมินี” ชิงตลาด

นายไชยวัฒน์ หาญสมวงศ์ ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (สภาเอสเอ็มอี) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นับตั้งแต่สภาได้ยื่นข้อเสนอต่อภาครัฐเพื่อเป็นหนึ่งในเครื่องมือ และกลไกช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs มาตลอด ทางภาครัฐยังไม่มีการตอบสนองในทางที่ถูกต้อง และยังไม่ตรงจุดตามที่ SMEs ขอให้ช่วย โดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือทางด้านการเงิน ขณะนี้จึงมีเพียง 10% เท่านั้นที่เข้าถึงมาตรการ ส่วนอีก 90% ยังไม่มีทางออกว่าจะเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างไร

จากการรวบรวมตัวเลขรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาตรการ soft loan วงเงิน 500,000 ล้านบาท ข้อมูล ณ วันที่ 5 ต.ค. 2563 สามารถปล่อยสินเชื่อได้เพียง 117,809 ล้านบาท ให้กับผู้ประกอบการ 70,255 รายเท่านั้น สินเชื่อเฉลี่ย 1.7 ล้านบาท/ราย เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก 76% ขนาดกลาง 17% และขนาดใหญ่ 6.5%

“เหลือเวลาอีก 3 เดือนก็จะหมดปีแล้วรัฐแทบจะช่วยเราได้น้อยมากจากความเป็นจริง SMEs เข้าถึงสินเชื่อธนาคารได้เพียง 468,000 ราย จากทั้งหมดที่มี 3.1 ล้านราย SMEs ไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือด้านการเงิน หากพิจารณาด้วยเงื่อนไขปกติในสถานการณ์ที่ไม่ปกติสะท้อนว่า มาตรการ soft loan ยังช่วยเหลือ SMEs ไม่ได้ โดยส่วนมากติดเงื่อนไขคุณสมบัติที่กําหนดเอาไว้ ซึ่งแบงก์ชาติควรออกมาตรการใหม่ ปรับเงื่อนไขผ่อนปรนให้เข้ากับสถานการณ์ที่ไม่ปกติในปัจจุบัน โดยอาจใช้วงเงินที่ยังเหลือ 400,000 ล้านบาท”

นอกจากนี้ ในวันที่ 14 ธ.ค. 2563 ทางสภาในฐานะอนุกรรมการด้านวิเคราะห์และสนับสนุน ข้อมูลด้านเศรษฐกิจรายสาขา ภายใต้คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบศ.) เตรียมหารือกับธนาคารพาณิชย์ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ถึงการขยายมาตรการพักชำระหนี้ รวมถึงการเตรียมเสนอมาตรการอีกครั้งให้รัฐบาลรับทราบ 6 ข้อ เช่น จ่ายเงินช่วยผู้ประกอบการในอัตรา 25% ของเงินที่บริษัทได้ชําระผ่านระบบประกันสังคม, ธนาคารต้องพิจารณาสินเชื่อวงเงินเพิ่มเติมดูจากประวัติเดิมไม่ต้องยื่นใหม่ เป็นต้น

ส่วนแนวทางปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ที่แม้จะกำหนดให้มีการซื้อจากเอสเอ็มอีสัดส่วน 30% แต่ก็ต้องไปดูรายละเอียดของประกาศว่าการจัดซื้อสินค้าต่าง ๆ หน่วยงานใดรับผิดชอบโครงการขึ้นกับกระทรวงไหนก็ต้องดู TOR หน่วยงานนั้น ๆ แต่จะแน่ใจได้อย่างไรว่ามาตรฐานการจัดซื้อ ระบบต่าง ๆ จะซื้อสินค้าช่วย SMEs ได้จริง

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำระบบข้อมูลรายชื่อ SMEs ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบในหลักการ เรื่องหน่วยงานของรัฐจัดซื้อจัดจ้างพัสดุจากผู้ประกอบการ SMEs โดยใช้เงินงบประมาณไม่น้อยกว่า 30% ในการจัดซื้อจัดจ้าง พร้อมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์

มาตรฐานต่าง ๆ สำหรับสินค้าเพื่อให้ตรงกับที่รัฐต้องการ และเพื่อส่งเสริมสินค้าเมดอินไทยแลนด์ นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช เลขาธิการสมาพันธ์ SME ไทย และประธานสมาพันธ์ SME ไทย ส่วนภูมิภาค เปิดเผย”ประชาชาติธุรกิจ” ขณะนี้ทางสมาพันธ์ ประสานกับ ส.อ.ท. เปิดรับลงทะเบียนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่จะเข้าร่วมโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนตุลาคมนี้ จ

ากนั้นจะส่งให้ทางสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาย่อม (สสว.) พิจารณาคัดกรองเอสเอ็มอีตัวจริงต่อไป ทั้งนี้ เอสเอ็มอีสามารถมาขึ้นทะเบียนได้ทั้งประเภทบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และถึงแม้จะไม่ใช่สมาชิกของสมาพันธ์ก็ขึ้นทะเบียนได้เช่นกัน โดยเบื้องต้นตามข้อมูลปี 2562 มีเอสเอ็มอีประเภทนิติบุคคล และบุคคลธรรมดา ซึ่งอาจจะมีทั้งวิสาหกิจ และโอท็อป ที่สามารถเข้าระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ 2.6 แสนราย จากเอสเอ็มอี

ทั้งหมด 3.1 ล้านราย โดยแบ่งเป็นคู่สัญญากับภาครัฐ 56% องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 29% รัฐวิสาหกิจ 16% มหาวิทยาลัย 7% และหน่วยงานอื่น ๆ โดยมีมูลค่าการจัดจ้าง 1.3 แสนล้านบาทแบ่งเป็น ก่อสร้างสัดส่วน 40% รองลงมาคือ รับผลิตสินค้า 36% รับจ้างเหมาบริการ 19% เช่า 2-3% และที่ปรึกษา 1%

ประเด็นที่เรากังวลในทางปฏิบัติ 5 เรื่อง คือ 1) การตั้งทีโออาร์ของรัฐต้องไม่กีดกันเอสเอ็มอีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและโอท็อปให้สามารถเข้าร่วมได้ 2) หากเป็นไปได้ควรเพิ่มสัดส่วนการจัดจ้างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจาก 30% เป็น 50% เพราะเรามั่นใจว่าเอสเอ็มอีมีกำลังมากพอจะเข้าร่วมโครงการจัดซื้อจัดจ้างได้ จากตัวเลขปัจจุบันไทยมีเอสเอ็มอี 3.1 ล้านราย แต่เพิ่งเข้าสู่การจัดจ้างเพียงแค่ 2.6 แสนรายเท่านั้น หากเพิ่มสัดส่วนก็จะทำให้ผู้ประกอบการเข้าถึงตลาดการจัดซื้อจัดจ้างมากขึ้น

3) การใช้อำนาจเหนือตลาด โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ที่อาจจะส่งบริษัทลูกมาเข้าประมูลแทน ซึ่งรัฐต้องมีมาตรการตรวจสอบ ป้องกันไม่ให้มีการใช้นอมินีรายใหญ่ หรือหากพบก็ต้องมีบทลงโทษ เพื่อให้เม็ดเงินกระจายสู่มือเอสเอ็มอีตัวจริง

4) การประชาสัมพันธ์หลักเกณฑ์เงื่อนไขการประมูล เพราะที่ผ่านมาเรามีตัวเลขจากกรมบัญชีกลาง ระบุว่าในปีที่ผ่านมามีการประชาสัมพันธ์

ทีโออาร์ 53,845 ครั้ง ลดลง 5% จากปี 2561 ที่มี 51,226 ครั้ง และการประชาสัมพันธ์ประกาศจัดซื้อจัดจ้าง มีจำนวน 1.30 แสนครั้ง ลดลงจากปี 2561 ซึ่งมีจำนวน 1.38 แสนครั้ง และ 5) เรื่องธรรมาภิบาล เราเสนอว่าภาครัฐควรมีการตรวจสอบประเมินทุกเดือนว่ามีการจัดจ้างเอสเอ็มอีไปแล้วเท่าไร และต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้เพื่อความโปร่งใส

“ในระบบการประมูลภาครัฐ เน้นผู้ที่เสนอราคาต่ำที่สุดเป็นเกณฑ์ แต่ประเด็นการแข่งขันราคานี้ ตามมติ ครม.ให้แฮนดิแคปราคาเอสเอ็มอีสูงกว่า10% ก็ได้ เช่น การแข่งขันสินค้าชนิดเดียวกัน เอสเอ็มอีเสนอชิ้นละ 110 บาทรายใหญ่เสนอชิ้นละ 100 บาท ก็ต้องเลือกเอสเอ็มอี แต่ในทางปฏิบัติก็ขึ้นอยู่กับผู้ประมูล ซึ่งอาจจะมีการเลือกโดยใช้ดุลพินิจก็ได้ โดยเฉพาะกรณีที่มีนอนิมีรายใหญ่ลงแข่งด้วยก็จะมีความได้เปรียบ เราจึงเน้นเรื่องการดูแลอำนาจเหนือตลาดให้ดี ต้องอาศัยการตรวจสอบกันเอง เพราะตอนนี้ภาครัฐเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีได้ร่วมแล้วก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี”