“ชาวนา” ลุ้นพายุโค้งสุดท้าย เติมน้ำ 6 เขื่อนหลักก่อนแล้ง

ชาวนา
Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP

ชาวนาลุ้นพายุโค้งสุดท้าย เติมน้ำใน 6 เขื่อนหลักก่อนหว่านข้าว “กอนช.” เตรียมประเมินน้ำต้นทุน-แผนเพาะปลูกเสนอบิ๊กป้อม

รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระบุว่า จากอิทธิพลของพายุ และร่องความกดอากาศต่ำดีเปรสชั่นในเดือนกันยายนเป็นเวลา 1 เดือนเต็มส่งผลให้สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศที่เคยมีปริมาณน้ำใช้การน้อย มีทิศทางที่ดีขึ้น จากก่อนหน้านี้ที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่า 30% อยู่ถึง 31 แห่ง

แต่ขณะนี้ยังคงเหลืออ่างที่มีปริมาณน้ำน้อยอยู่เพียง 6 แห่ง (กราฟิก) และเป็นที่น่าสังเกตว่าปริมาณน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น มีน้ำไหลเข้าเพิ่มขึ้นแล้วกว่า 670 ล้าน ลบ.ม. ทำให้ปัจจุบันมีน้ำใช้การได้ 13% ถือว่าสูงสุดในรอบ 2 ปี หลังจากปี 2560 ที่เกิดน้ำท่วม

ขณะที่หากเทียบสถานการณ์ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 11,952 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) หรือคิดเป็น 48% ของความจุอ่างรวมกันมีน้ำใช้การได้ประมาณ5,256 ล้าน ลบ.ม. จะเห็นได้ว่าปริมาณน้ำใช้การได้ ของ 4 เขื่อนหลัก ยังคงอยู่ในเกณฑ์น้อย ทั้งที่ใกล้สิ้นสุดฤดูฝนแล้ว

โดยปีนี้คาดการณ์ปริมาณน้ำในเขื่อนเมื่อสิ้นสุดฤดูฝนจะมีปริมาณน้ำเก็บกักประมาณ 1,200 ล้าน ลบ.ม. แม้ว่าอ่างเก็บน้ำในภาคตะวันออกที่ต้นฤดูฝนมีน้ำน้อยและน่าเป็นห่วง แต่ปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งจุดที่มีมวลน้ำมากเกินศักยภาพอยู่ 3 แห่ง (กราฟิก) เข้าขั้นวิกฤตน้ำล้นที่รอการประเมิน ผลพวงจากอิทธิพลพายุโซนร้อน “หลิ่นฟา” ซึ่งเป็นพายุลูกสุดท้ายก่อนจะเข้าสู่หน้าหนาวเดือน ต.ค.นี้ (ฤดูแล้ง 2563/2564)

สำหรับเกษตรกรปลูกข้าวนาปีที่ได้ทยอยเก็บเกี่ยวข้าวไปแล้วบางส่วน และจะหว่านเพื่อปลูกต่อทันที ยังอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะขาดน้ำ ในขณะที่ปริมาณน้ำในเขื่อนจะต้องสำรองไว้ใช้แล้งหน้าให้มากที่สุด แม้เริ่มเก็บเกี่ยวแล้ว แต่จะมีบางส่วนที่คิดว่ามีน้ำพอ จึงเสี่ยงทำต่อเลย ซึ่งไม่มีการันตีว่าน้ำจะเพียงพอ แม้จะขอให้ชาวนางดทำนาปีต่อเนื่อง จนกว่าจะประกาศให้สามารถทำนาปรังได้คาดว่าอีกไม่กี่วันที่จะถึง

“ปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นในภาพรวมจะส่งผลดีต่อน้ำต้นทุนในฤดูแล้งหน้าก็เบาได้ใจระดับหนึ่งว่าจะมีน้ำเพียงพอสำหรับการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ ที่จำเป็นต่อการจัดสรรน้ำของประเทศได้ ยังคงต้องรอการประเมินอีกครั้ง”


ภายใต้กลไกการทำงานร่วมกับหน่วยงาน โดยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) วันที่ 14 ต.ค. จะมีการประชุมประเมินสถานการณ์น้ำและแผนเพาะปลูก ก่อนเสนอพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ฐานะประธานพิจารณาบริหารจัดการน้ำ และเสนอคณะมนตรีอนุมัติมาตรการรับมือก่อนเข้าสู่ฤดูแล้ง และจัดการกักเก็บน้ำให้สมดุลที่สุดต่อไป