โควิดเมียนมาสาหัส รัฐบาลเข้มมาตรการขนส่ง ฉุดราคาสินค้าแพง

เมียนมาของแพง

ทูตพาณิชย์ย่างกุ้ง เผย ผลจากโควิดเมียนมา รัฐบาลเพิ่มความเข้มงวดการขนส่งภายในเฝ้าระวังการแพร่ระบาด กระทบราคาสินค้าอุปโภคบริโภคขยับขึ้น จับตาเงินเฟ้อพุ่ง

วันที่ 17 ตุลาคม 25 นายธนวุฒิ นัยโกวิท ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ประจำ กรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รัฐบาลเมียนมาได้บังคับใช้มาตรการที่เข้มงวดในการตรวจสอบควบคุมคนขับรถบรรทุกสินค้าที่เดินทางระหว่างรัฐ/ภาค เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ไปทั่ว ประเทศเมียนมา

“มาตรการดังกล่าวเริ่มส่งผลกระทบต่อการกระจาย เคลื่อนย้ายสินค้าทั่วประเทศ เนื่องจากคนขับรถบรรทุกสินค้าต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในการตรวจหาเชื้อ และการกักกันโรค ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลากักตัวนานหลายวัน โดยผู้ประกอบ การค้าเมียนมา ได้กล่าวว่า หากยังคงมีปัญหาด้านโลจิสติกส์ การไหลเวียนทางการค้าระหว่างรัฐอาจจะหยุดชะงัก และอาจส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อได้”

เนื่องจากมีคนขับรถบรรทุกสินค้าที่ต้องเดินทางระหว่างรัฐติดเชื้อไวรัส COVID-19 จำนวนมาก ทำให้รัฐบาลได้เริ่มออกคำสั่งให้คนขับและผู้ช่วยคนขับต้องแสดงใบรับรองสุขภาพ (Health Certificate) เพื่อรับรองว่าปราศจากไวรัส COVID-19 ก่อนเดินทางเข้า-ออกรัฐ/ภาคต่างๆ ซึ่งรวมถึงภาคย่างกุ้ง ภาคมัณฑะเลย์ กรุงเนปิดอว์ และรัฐฉาน

ทั้งนี้ ใบรับรองสุขภาพมีอายุสองสัปดาห์นับจากวันที่มีการทดสอบ โดยจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ในเบื้องต้นพบว่าคนขับรถส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารรับรอง เจ้าหน้าที่จึงต้องให้คนขับรถเข้ารับการตรวจเชื้อที่จุดตรวจใน Waiting Areas หรือ Terminals ก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้เดินทางไปจัดส่งสินค้า

โดยเจ้าหน้าที่มีการใช้ชุดอุปกรณ์ตรวจเชื้อแบบ Antigen ในการตรวจเชื้อคนขับรถ ซึ่งจุดตรวจดังกล่าวจะแสดงผลได้ภายในเวลาไม่เกิน 30 นาที อย่างไรก็ตามชุดตรวจเชื้อและเจ้าหน้าที่จากกระทรวงสาธารณสุขนั้นมีจำนวนไม่เพียงพอ ส่งผลให้การขนส่งสินค้าข้ามเขต/รัฐ ในประเทศเมียนมาเกิดความล่าช้า และหยุดชะงัก

รายงานข่าว ระบุว่า Mr. Kyin Thein ประธานสมาคมการขนส่งสินค้าทางหลวงเมียนมา (Myanmar Highway Goods Transportation Association) กล่าวว่า ปัจจุบัน การขนส่งสินค้าต้องประสบกับปัญหาคอขวด

เนื่องจากโดยปกติแล้วจะมีรถบรรทุกสินค้าประมาณ 300 – 400 คันออกจากตลาดค้าส่ง Bayint Naung Wholesale Center ในเมืองย่างกุ้งทุกวันเพื่อส่งสินค้าไปยังรัฐและภาคอื่นๆ ของประเทศเมียนมา แต่เนื่องจากปัจจุบันมี ข้อกำจัดที่สามารถทดสอบคนขับรถบรรทุกได้เพียง 50 คนต่อวัน ทำให้รถบรรทุกที่มีอยู่ไม่สามารถออกไปขนส่งสินค้าได้ทั้งหมด

ซึ่งหากปัญหาดังกล่าวยังคงมีอยู่ก็อาจทำให้เกิดการขาดแคลนสินค้าอาหารหลักๆ อาทิ ข้าว และน้ำมันปรุงอาหารทั่วประเทศเมียนมา ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อ นอกจากนี้ ในเมืองมูเซ รัฐฉานก็ประสบปัญหาใกล้เคียงกัน

โดยเจ้าหน้าที่สมาคม Muse Highway Goods Transportation Association ได้ให้ข้อมูลว่า ชุดอุปกรณ์ตรวจเชื้อ COVID-19 มีจำนวนไม่เพียงพอ จึงส่งผลให้การกระจายสินค้าที่จำเป็นเกิดความล่าช้า ในขณะที่การขนส่งสิ่งของที่ไม่จำเป็น อาทิ เบียร์ สุราและอาหารว่างได้หยุดลงชั่วคราว

Mr. Khin Han ประธานสมาคมหัวหอม กระเทียม และพืชประกอบอาหารเมียนมา (Myanmar Onion, Garlic & Culinary Crops Association) ได้ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน ราคาอาหารในเมืองต่างๆ รวมถึงในย่างกุ้ง เริ่มสูงขึ้น โดยราคาหัวหอมปัจจุบันราคา 800 – 1,000 จ๊าตต่อ Viss (ประมาณ 11.9 – 14.90 บาทต่อกิโลกรัม) (หน่วยน้ำหนัก 1 Viss โดยประมาณ 1.63 กิโลกรัม) ในขณะที่ตอนนี้มันฝรั่งมีราคาสูงถึง 1,250 จ๊าตต่อ Viss (ประมาณ 18.63 บาทต่อกิโลกรัม) ซึ่งสูงกว่าปกติ

ทั้งนี้ คนขับรถบรรทุกสินค้าไม่ต้องการไปส่งสินค้าที่ต่าง รัฐ/ภาค โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทซึ่งห้ามไม่ให้คนขับรถบรรทุกสินค้าเข้าไปส่งสินค้าในพื้นที่ โดยถึงแม้ว่าจะมีการจัดส่งชุดอุปกรณ์ตรวจเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ปัจจุบันยังมีชุดอุปกรณ์ทดสอบน้อยกว่าความต้องการในขณะนี้ ทำให้ส่งผลกระทบต่อระบบโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้าเกิดความล่าช้า รวมทั้งทำให้อาหารสดเน่าเสียได้

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเมียนมาได้ตระหนักถึงความเสี่ยงและกำลังดำเนินมาตรการเพื่ออำนวยความสะดวก การไหลเวียนทางการค้า โดยขณะนี้รถบรรทุกได้รับอนุญาตให้ใช้ทางหลวงสายย่างกุ้ง – มัณฑะเลย์ หากคนขับรถบรรทุกสินค้าปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านสาธารณสุข เช่น การสวมหน้ากากอนามัย

เมียนมาราคาสินค้าแพง

ในขณะเดียวกันมุขมนตรีภาคย่างกุ้ง ได้กล่าวว่า เมืองย่างกุ้งได้มีการเตรียมการเพื่อเพิ่มปริมาณและความถี่ในการทดสอบตรวจเชื้อ COVID-19

ในขณะเดียวกันภาคมัณฑะเลย์จะดำเนินการตรวจสุขภาพให้แก่คนขับรถบรรทุกสินค้าที่เข้ามาในภูมิภาค แต่ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2563 ภาคมัณฑะเลย์จะไม่ตรวจคนขับรถบรรทุกที่เดินทางออกจากภาคมัณฑะเลย์อีกต่อไป เนื่องจากจะต้องถูกตรวจสอบที่เมืองจุดหมายที่จะเข้าไปส่งสินค้าอยู่แล้ว โดยมุขมนตรีภาคมัณฑะเลย์ ได้กล่าวว่า สุขภาพของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ อย่างไรก็ตามต้องให้ความสำคัญถึงการกระจายสินค้าด้วย

นอกจากนี้ มุขมนตรีภาคพะโค (Bago Region) และมุขมนตรีรัฐมอญ (Mon State) ได้ประชุมเกี่ยวกับวิธีการเพื่อให้สินค้าขนส่งผ่านระหว่างภูมิภาคได้อย่างราบรื่น หลีกเลี่ยงการจราจรหน่าแน่นบนสะพาน Sittaung ซึ่งอยู่ระหว่างเส้นแบ่งเขตภูมิภาค โดยมีรถบรรทุกติดอยู่ประมาณ 500 คัน ทั้งสองภูมิภาคตกลงกันว่า รัฐมอญจะตรวจคนขับรถบรรทุกที่มาจากรัฐมอญ และภาคพะโคจะตรวจรถที่มาจากภาคพะโคเช่นกัน

ในขณะเดียวกันเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ รัฐบาลได้ขายข้าวในคลังสำรองของรัฐให้กับผู้ค้าปลีกทั่วประเทศเมียนมา โดยในปัจจุบันมีการขายข้าวให้แก่ บริษัทนายหน้าค้าข้าว Wathan และ Bayintnaug ในเมืองย่างกุ้ง

นอกจากนี้ ประธาน Mandalay Rice Wholesale Centre กล่าวว่า ตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน 2563 รัฐบาลมัณฑะเลย์มีการขายข้าวในคลังสำรองให้ประชาชนในราคา 1000 จ๊าตต่อ Pyi (ประมาณ 11.40 บาทต่อกิโลกรัม) (หน่วยน้ำหนัก 1 Pyi โดยประมาณเท่ากับ 2.13 กิโลกรัม) โดยมีการเปิดขายข้าวในพื้นที่ต่างๆ กว่า 30 จุด ในภาคมัณฑะเลย์ ทั้งนี้ ราคาดังกล่าวเป็นการขายแบบไม่มีกำไร เนื่องจากผู้ค้าข้าวได้เสียสละเพื่อช่วยเหลือประเทศเมียนมา