เอ็กซอน เบรกลงทุนโปรเจ็กต์ปิโตรเคมี 3 แสนล้าน

“เอ็กซอน” บริษัทแม่เอสโซ่ (ประเทศไทย) สั่งชะลอแผนลงทุนบิ๊กโปรเจ็กต์ส่วนขยายโรงงานปิโตรเคมี 300,000 ล้านออกไปไม่มีกำหนด หลังวิกฤตโควิดสะเทือนบริษัทพลังงานโลก ปรับแผนเลิกการกลั่นน้ำมันเจ็ตหันไปผลิตดีเซล-แก๊สโซลีนแทน แต่ยังทุ่มงบ 1,200-1,500 ล้าน ขยายปั๊ม 700 แห่ง ปีหน้าพร้อมผนึกไมเนอร์ส่ง Coffee Journey ลุยตลาด 15 สาขาปีนี้

“อดิศักดิ์ แจ้งกมลกุลชัย” กลายเป็นคนไทยคนแรกที่ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บมจ.เอสโซ่ (ประเทศไทย) (ESSO) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ท่ามกลางการระบาดของไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศ ได้กล่าวถึงนโยบายและแผนการลงทุนในประเทศไทย รวมถึงอนาคตของโครงการลงทุนส่วนขยายโรงงานปิโตรเคมี หรือโรงแครกเกอร์สำหรับผลิตปิโตรเคมี มูลค่า 300,000 ล้านบาท ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งแสดงท่าทีสนใจที่จะลงทุนโครงการนี้ในประเทศไทย

นายอดิศักดิ์กล่าวว่า ขณะนี้บริษัท เอกซอน โมบิล เคมิคอล บริษัทแม่ที่สหรัฐ ได้ตัดสินใจที่จะ “ชะลอ (on hold)” การศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนโครงการนี้ออกไปก่อน จากปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ จนบริษัทพลังงานทั่วโลกต่างดำเนินนโยบายไปในทิศทางเดียวกันก็คือ การลดคอสต์ลง ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนโอเป็ก หรือคาเป็ก “โครงการนี้บริษัทแม่ได้ศึกษาความเป็นไปได้ในระดับหนึ่ง แต่สถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทุกบริษัทต่างต้องดำเนินการลดคอสต์ ตอนนี้โครงการจึงมีสถานะเรียกว่า ชะลอ การศึกษาการลงทุน แต่ไปถึงเมื่อไหร่ก็ยังไม่ทราบ”

ลุยขยายสาขาปั๊มน้ำมัน

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเอสโซ่ (ประเทศไทย) มีแผนจะลงทุน 1,200-1,500 ล้านบาท ทั้งในส่วนของค้าปลีกน้ำมันและโรงกลั่น โดยในปี 2564 มีเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนสถานีบริการน้ำมันมากกว่า 700 แห่ง จากสิ้นปีนี้ที่คาดว่า จะมีสถานีบริการน้ำมัน 690 แห่งโดยปัจจุบันมี 670 แห่ง ไม่เพียงเท่านี้ บริษัทยังมุ่งขยาย “พันธมิตร” รายใหม่ ๆ

เพื่อให้บริการร้านค้าปลีกในสถานีบริการน้ำมัน ล่าสุดได้ร่วมกับกลุ่มไมเนอร์ฟู้ด เปิดร้านกาแฟใหม่ภายใต้ชื่อแบรนด์ “Coffee Journey” ซึ่งจะมีเฉพาะสถานีบริการของเอสโซ่เท่านั้น และได้นำร่อง 2 สาขา ที่สถานีบริการน้ำมันเอสโซ่ รามอินทรา กม.6.5 กับพระราม 9 มีเป้าหมายถึงสิ้นปี Coffee Journey จะมีสาขา 12-15 แห่ง จากปัจจุบันที่มีทั้งร้านเบอร์เกอร์คิง-แมคโดนัลด์-เคเอฟซี-เดอะพิซซ่า คัมปะนี-เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส และแฟมิลี่มาร์ท

“การขยับขยายการลงทุนขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ตอนนี้เราได้ประเมินปัจจัยผลกระทบจากโควิด-19 แล้วพบว่า ปัจจุบันปริมาณการใช้น้ำมันดีเซล หรือเบนซิน กลับมา 90% เทียบกับช่วงก่อนโควิด ดังนั้น สถานีบริการจึงต้องเติบโตต่อแต่ก็ต้องพิจารณาถึงมาร์จิ้นด้วยว่าเป็นอย่างไร ซึ่งขึ้นอยู่กับความแปรผันราคาน้ำมันในตลาดโลก อุปสงค์อุปทานนอกเหนือจากไทยเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ จึงต้องบริหารจัดการต้องจับตาดูใกล้ชิด ส่วนที่เราคอนโทรลได้ก็คือ การลดต้นทุนด้านต่าง ๆ นำระบบไอทีมาใช้จัดทำระบบบิ๊กดาต้าเพื่อใช้ทำมาร์เก็ตติ้งโปรแกรม การสื่อสารกับลูกค้าผ่านไลน์”

สำหรับแนวโน้มความต้องการใช้น้ำมันหากถามว่า “ดีมานด์ถึงจุดต่ำหรือยัง”ถ้าเทียบกับเดือนเมษายนที่ความต้องการใช้น้ำมันลงไป คือจุดต่ำสุด ถ้าไม่มีการระบาดของไวรัสโควิดระลอก 2 ซึ่งหากเป็นภาวะปกติความต้องการใช้น้ำมันจะขยายตัวในระดับเดียวกับ GDP ประเทศ แต่ในปีนี้หลายหน่วยงานคาดการณ์เศรษฐกิจไทยจะหดตัวลง 7-8% ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันของไทย “หดตัวลงในอัตราที่สอดคล้องกัน” ซึ่งรวมถึงปริมาณการขายน้ำมันตลาดค้าปลีกของเอสโซ่ด้วย

“แม้ว่าความต้องการใช้น้ำมันจะกลับมาราว 90% ของช่วงก่อนโควิดแล้ว และเราสามารถเพิ่มยอดขาย 4% จากกลุ่มลูกค้าสำคัญ เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม และกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดที่รวมทั้งค้าปลีกและขายกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมและพาณิชย์ของเอสโซ่ จะเป็นอันดับ 2 ของประเทศ แต่แยกเฉพาะค้าปลีกจะมีส่วนแบ่งตลาด 11.5 % เป็นอันดับ 4 ของประเทศ”

เบรกกลั่นน้ำมัน JET

ด้านสถานการณ์ของโรงกลั่นน้ำมันเอสโซ่ นายอดิศักดิ์กล่าวว่า ผลจากการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้ความต้องการใช้ “น้ำมันอากาศยาน (JET)” หายไปเลย 80-90% ดังนั้น แนวทางบริหารจัดการของบริษัทก็คือ ต้องปรับกระบวนการในการกลั่นไม่ให้มีน้ำมันเจ็ตเลย แต่จะปรับไปเป็น “น้ำมันดีเซล” แทน เพราะกลั่นแล้วมีตลาดรองรับ และเอสโซ่กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการนำน้ำมันเจ็ตไปแครกเป็น”แก๊สโซลีน (น้ำมันเบนซิน)” ซึ่งจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง โดยการปรับสูตรยืดหยุ่น (flexibility) ซึ่งแต่ละบริษัทที่มีหน่วย fluidised catalyst cracking unit (FCCU) สามารถทำได้อยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับการพิจารณาว่า “มาร์จิ้นดีเซลเทียบกับแก๊สโซลีนอะไรดีกว่าก็กลั่นเป็นน้ำมันชนิดนั้น ส่วนต้นทุนแคร็กน้ำมันจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ ถือว่าไม่ใช่ประเด็น แต่ขึ้นอยู่กับทำออกมาแล้วขายได้หรือไม่”

สเต็ปต่อไป “ยูโร 5”


ที่ผ่านมา บริษัทเอสโซ่ดำเนินการตามแผนการชัตดาวน์เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพรองรับการผลิตอนาคตอีก 8 ปีข้างหน้า และขณะนี้โรงกลั่นได้กลับมาเดินเครื่องปกติแล้ว โดยมีอัตราการกลั่นเฉลี่ยที่ 117 พันบาร์เรล/วัน หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 114 พันบาร์เรล/วันจากกำลังการผลิตสูงสุด 185 พันบาร์เรล/วัน อัตราการกลั่นในเดือนมิถุนายน 2563 ได้น้ำมันเจ็ต 11,000-12,000 บาร์เรล/วัน, น้ำมันดีเซล 45,000-50,000 บาร์เรล/วันและน้ำมันเบนซิน 22,000-25,000 บาร์เรล/วัน ส่วนแผนการลงทุนโรงกลั่นน้ำมันยูโร 5 “ยังคงอยู่ในแผน หากรัฐบาลคงกำหนดว่าจะเริ่ม 1 ม.ค. 2567 ทางเอสโซ่ก็พร้อมจะเดินหน้าในลำดับต่อไป”