โควิดฉุดธุรกิจล้มละลาย ลูกหนี้จ่อเข้าฟื้นฟูกิจการเพียบ จี้กรมบังคับคดีแก้กฎหมาย

TDRI ชี้ธุรกิจล้มละลาย-ต่อคิวทำแผนฟื้นฟูหลังโควิดอ่วม ‘ต้นทุนแพง’ เหตุทั้งประเทศมีผู้ทำแผนฟื้นฟูได้รับใบอนุญาตเพียง 11 ราย อาจต้องแบกรับลูกหนี้ 1 ล้านคน/ราย จี้กรมบังคับคดีปลดล็อก ‘ใบอนุญาต’ เปิดกว้างผู้ทำแผนฟื้นฟูหน้าใหม่เพิ่ม

ดร.กิรติพงศ์ แนวมาลี นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ผู้วิจัยเรื่องการทบทวนกฎหมายของประเทศไทย ภายใต้โครงการ Regulatory Guillotine เปิดเผยว่า จากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยทำให้หลายธุรกิจมีความเสี่ยงที่จะล้มละลายมากขึ้น

ดร.กิรติพงศ์ แนวมาลี
ดร.กิรติพงศ์ แนวมาลี

ที่ผ่านมาไทยมีกฎหมายล้มละลายที่เปิดช่องให้ธุรกิจสามารถเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูได้ เพื่อให้ธุรกิจนั้นสามารถเดินต่อไป แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ มีจำนวนธุรกิจไม่น้อยไม่เข้าระบบฟื้นฟู เพราะไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนการจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับผู้ทำแผนฟื้นฟูได้

“ในประเทศไทยกำหนดว่าผู้ทำแผนฟื้นฟูและผู้บริหารแผนฟื้นฟูจะต้องขึ้นทะเบียนกับกรมบังคับคดี และเงื่อนไขในการขึ้นทะเบียนก็ซับซ้อนต้องใช้ขั้นตอนและมีเอกสารมากมาย ต้องวางค่าประกันด้วย 5 แสนบาท เงื่อนไขดังกล่าวทำให้ผู้ทำแผนหน้าใหม่ที่เป็นบุคคลธรรมดา ไม่สามารถมาดำเนินอาชีพนี้ได้ เพราะว่าไม่มีเงินทุนพอ ส่งผลให้มีผู้ที่ได้ขึ้นทะเบียนและได้รับใบอนุญาตทำแผนฟื้นฟูในไทยมีเพียง 11 ราย”

ฉะนั้น ข้อเสนอคือ ทำอย่างไรจะเปิดโอกาสให้ผู้ทำแแผนหน้าใหม่ รายย่อย บุคคลธรรมดาสามารถเข้ามาได้มากขึ้น หากปลดล็อกตรงนี้ได ก็จะมีผู้ทำแผนหน้าใหม่เข้ามามากขึ้น เกิดการแข่งขันด้านคุณภาพและราคา พอราคาถูกลง ลูกหนี้จะมีเงินจ่ายคืนเจ้าหนี้มากขึ้น เจ้าหนี้จะสามารถนำเงินไปใช้หมุนเวียนได้มากขึ้น ส่งผลดีกับธุรกิจ ซึ่งประเด็นนี้ได้เสนอทางกรมบังคับคดีก็เห็นด้วยจะตัดเรื่องนี้ออกจาก “ประกาศ” ที่ต้องขออนุญาต เป็นผู้ทำแผนฟื้นฟู

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิช ประธานทีดีอาร์ไอ ตั้งข้อสังเกตว่า สมมุติ ถ้าประเทศไทยเกิดการล้มละลายขนานใหญ่ และมีลูกหนี้เฉพาะในส่วนของสถาบันการเงิน 12 ล้านราย ก็เท่ากับ 1 ราย ต้องไปรับฟื้นฟู 1 ล้านราย ซึ่งเป็นไปไมไ่ด้เลย

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิช
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิช

“ลำพังปัญหากฎหมายล้มละลายก็เป็นไปได้ยากถูกออกแบบมาให้ธุรกิจขนาดใหญ่ สามารถฟื้นกลับมาได้เร็วขึ้น เกิดขึ้นในปี 2540 ซึ่งวิกฤตธุรกิจไทยรอบนี้เกิดกับเอสเอ็มอี จะมีเคสเกิดขึ้นมาก ถ้าไปทางล้มละลายก็จะเจอปัญหาศาลล้มละลาย กว่าจะเข้าไปจัดการมาได้ หรือถ้าจะไปทำแผนฟื้นฟูก็จะมีเพียง 11 รายที่รับทำแผน ฟังดูแล้วเป็นปัญหาใหญ่”