SCG คว้าแชมป์แพ็กเกจจิ้งปี 2563 จาก “กสอ.” ขนส่งง่าย-รีไซเคิลได้ 100%

“กสอ.” เปิดตัว 79 สตาร์ แชมป์บรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน “นักออกแบบจาก SCG” คว้าที่ 1 ไปครอง คาดภาพรวมตลาด Packaging สร้างมูลค่าเศรษฐกิจกว่า 60 ล้านบาท เผย 4 เทรนด์แพ็กเกจจิ้งสร้างสรรค์-รักษ์โลก รับปี 2021

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยว่า เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรม ด้วยการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์และการพัฒนาต้นแบบบรรจุภัณฑ์ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในการประกวดบรรจุภัณฑ์ไทย ปี 2563 ครั้งที่ 48 ซึ่งจะเฟ้นหาบรรจุภัณฑ์ดีเด่นที่จะเป็นตัวแทนของประเทศไทยในการส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ

โดยปีนี้มีผู้ได้รับรางวัลบรรจุภัณฑ์ยอดเยี่ยมทั้งสิ้น 79 บรรจุภัณฑ์ รางวัลชนะเลิศ จากนักออกแบบของ บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) ออกแบบโดย นางสาวธารทิพย์ บ่อเพ็ชร์ เป็นแพ็กเกจบรรจุขนมไหว้พระจันทร์ ให้กับทาง S&P

โดยบรรจุภัณฑ์ที่ได้รางวัลในทุกประเภทจะเป็นตัวแทนประเทศไทย ในการประกวดบรรจุภัณฑ์ระดับเอเชียและระดับโลก ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่าและคุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ให้สูงขึ้น รวมถึงช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจเป็นจำนวนกว่า 60 ล้านบาท

ภาพรวมมูลค่าการส่งออกบรรจุภัณฑ์ไทยจากสำนักเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในไตรมาส 2/2563 มีมูลค่า 14,253 ล้านบาท มีการปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีที่ผ่านมา 2.64% ทั้งนี้ เนื่องจากปัญหาของระบบขนส่งและโลจิสติกส์ รวมถึงสถานการณ์การปิดประเทศในช่วงที่ผ่านมา แต่ยังมีโอกาสเติบโตหรือปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากยังมีความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ในอุตสาหกรรมอาหารเป็นจำนวนมาก

ดังนั้น หากภาคอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ปรับรูปแบบการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคก็จะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากยิ่งขึ้น

โดยแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภค หรือเทรนด์การออกแบบบรรจุภัณฑ์ในปี 2021 ที่คาดว่าจะได้รับความนิยม ประกอบด้วย บรรจุภัณฑ์กินได้ เนื่องจากผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อม หากบรรจุภัณฑ์สามารถรับประทานได้ ก็จะเป็นส่วนช่วยให้ปริมาณขยะในประเทศลดลง บรรจุภัณฑ์สร้างสรรค์ ผ่านพัฒนาให้บรรจุภัณฑ์สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน หรือเป็นตัวแทนที่สามารถสื่อสารแบรนด์ของผลิตภัณฑ์ได้อย่างชัดเจน

บรรจุภัณฑ์ไบโอ เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากเส้นใยธรรมชาติ และสามารถย่อยสลายได้เอง ซึ่งถือเป็นการลดการทำลายสิ่งแวดล้อม และปริมาณขยะจากการใช้พลาสติกอีกด้วย บรรจุภัณฑ์รีไซเคิล เป็นบรรจุภัณฑ์ที่เกิดจากการนำขยะมารีไซเคิล ทั้งขยะพลาสติก โลหะ ขยะอีคอมเมิร์ซ เป็นจำนวนมาก อาทิ กระดาษจากกล่องบรรจุสินค้าออนไลน์ และ กล่องไปรษณีย์ ที่มีแนวโน้มเพิ่มปริมาณขยะประเภทกระดาษมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ กสอ. พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ทั้งในด้านการออกแบบ ซึ่งมีศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (Thailand Industrial Design Center : Thai-IDC) ที่สนับสนุนองค์ความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และมีผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำหรับให้คำแนะนำเชิงลึกกับผู้ประกอบการโดยตรง รวมถึงศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 หรือ ศูนย์ ITC 4.0 ที่พร้อมส่งเสริมด้านเทคโนโลยีเครื่องจักรกลที่ทันสมัยเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภค หรือเทรนด์ปัจจุบันและในอนาคต นายณัฐพล กล่าว