เศรษฐกิจติดลบพังถึงฐานราก “การเมือง” ทุบกำลังซื้อไร้เชื่อมั่น

ม็อบราษฎร63-ม็อบนักศึกษา

ธุรกิจจับตาประชุมสภาสมัยวิสามัญผ่าทางตันการเมืองไทย สภาหอการค้าฯถกด่วนประเมินสถานการณ์ ม็อบดาวกระจายกระทบเชื่อมั่น ทำนักลงทุนผวา ทีดีอาร์ไอชี้เศรษฐกิจเดี้ยงถึงฐานราก บิ๊กสหพัฒน์หนุนเปิดเวทีเจรจาหาทางออก ลุ้นจบเร็วไม่ยืดเยื้อ เผยเศรษฐกิจไทยเจอ 3 เด้ง พิษโควิด-19 เศรษฐกิจโลก วิกฤตการเมืองซ้ำ ฉุดกำลังซื้อโค้งสุดท้ายดิ่ง ธุรกิจชะลอใช้เงินโปรโมตสินค้า ประเมิน GDP ปีนี้ส่อหดวูบ 10%

แม้สถานการณ์ทางการเมืองมีแนวโน้มคลี่คลาย หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 20 ต.ค. 2563 มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ ตั้งแต่วันที่ 26-27 ต.ค. 2563 อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 122 เพื่อเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 ตามข้อเรียกร้องขององค์กรสมาคมภาคเอกชน คณาจารย์และผู้ทรงคุณวุฒิ

แต่หลายฝ่ายยังจับตาช่วงรอยต่อก่อนที่ประเด็นขัดแย้งทางการเมืองจะถูกหยิบยกขึ้นหารือในสภาเพื่อหาทางออก โดยเฉพาะสถานการณ์ทางการเมืองและการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมคณะราษฎร 2563 ซึ่งล่าสุด วันที่ 20 ต.ค.ยังมีการรวมตัวกระจายในหลายจุด เพราะหวั่นจะเกิดการกระทบกระทั่ง หรือมีเหตุไม่คาดฝันจากการแทรกแซงของมือที่สาม กระทบเศรษฐกิจ การลงทุน รวมทั้งความเชื่อมั่น

สภาหอฯถกประเมินสถานการณ์

นายกลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ช่วงนี้มีนักลงทุนสอบถามเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองจำนวนมาก บางกลุ่มเริ่มคิดใหม่ เพราะห่วงเรื่องการใช้มาตรการเคอร์ฟิว และเรื่องความปลอดภัยในพื้นที่ ซึ่งที่หอการค้ากังวลตอนนี้คือไทยมีเวียดนามเป็นคู่แข่งเป็นทางเลือกการลงทุนกับเรา “เห็นด้วยที่จะมีการเปิดสภา เพื่อให้มีการเจรจาแต่ทางหอการค้าจะมีการหารือเย็นวันนี้ (20 ต.ค.) เพื่อประเมินสถานการณ์อีกครั้ง ว่าผลจะเป็นอย่างไร”

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ยอมรับว่าม็อบดาวกระจายกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน แต่ถ้าม็อบไม่ยกระดับจะมีผลต่อการลงทุนในประเทศไม่มาก แต่ถ้ายืดเยื้อและยกระดับรุนแรง นักลงทุนจะชะลอการลงทุน

จี้รัฐละมุนละม่อม-เชื่อมั่นหาย

นายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการบริษัทและประธานกรรมการบริหาร บมจ.สหพัฒนพิบูล เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การชุมนุม จะทำให้ความเชื่อมั่นของประเทศไทยลดลง แต่หวังว่า การชุมนุมจะลดลงและยุติไป ยิ่งเร็วยิ่งดี ยิ่งถ้ารัฐบาลแก้ปัญหาถูกวิธี ความเชื่อมั่นจะกลับคืนมา แต่ชุมนุมยืดเยื้อ ก็ไม่ค่อยดี ความเชื่อมั่นในประเทศดีอยู่แล้ว แต่เหตุการณ์ระยะสั้นที่เกิดขึ้น ไม่คาดฝันว่าจะมากขนาดนี้ จึงทำให้ความเชื่อมั่นหายไป

ประธานบริษัทสหพัฒน์ระบุด้วยว่า รัฐบาลควรต้องหาทางออกที่แนบเนียน ละมุนละม่อมกับฝ่ายผู้ชุมนุม ไม่อยากให้ใช้ความรุนแรง ถือว่าเป็นคนไทยด้วยกัน เพราะฉะนั้นต้องให้โอกาสประชาชนได้แสดงออก เจรจาหาข้อยุติต่าง ๆ ให้ได้

ตอนนี้ตลาดหุ้นไทยก็ร่วงเพราะเป็นเรื่องอ่อนไหว ถ้ายุติได้ก็จะกลับมาดีใหม่ ส่วนตัวหวังว่าทุกอย่างจะดีขึ้น ถ้าทุกคนมีทางออกร่วมกัน

ม็อบยื้อกระทบการลงทุน

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกิตติมศักดิ์หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า ทั้งสองฝ่ายต้องพูดคุยทำความเข้าใจกัน การเปิดสภาใช้กลไกในระบอบประชาธิปไตยแก้ปัญหาเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีจุดหนึ่ง แต่อยากให้ทั้งสองฝ่ายคำนึงว่าการแก้ไขปัญหาต้องเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน ต้องสามัคคี เพราะไทยต้องแข่งขันกับประเทศอื่น หากไม่สามารถคลี่คลายเรื่องนี้ระยะยาวจะกระทบการลงทุนลดลง

อีคอมเมิร์ซหวั่น 11.11 ไม่ปัง

นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บจ.ไพรซ์ซ่า ในฐานะนายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าวว่า การสื่อสารเป็นหัวใจหลักของการชุมนุม เนื่องจากเทคโนโลยีมีให้เลือกใช้หลายแพลตฟอร์ม ทั้งโซเชียลเน็ตเวิร์ก และแชตแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ

อย่างไรก็ตามการชุมนุมกระทบโดยตรงต่อพื้นที่ในบริเวณนั้น ต้องปิดบริการ สูญเสียโอกาสการขาย สำนักงานต่าง ๆ ต้องปิดก่อนเวลา เพื่อความปลอดภัยอาจทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลงอีกด้านเริ่มเห็นแบรนด์สินค้าต่าง ๆ ชะลอการใช้งบโฆษณาในทุกสื่อ ไม่เว้นแม้แต่สื่อออนไลน์ที่มีการเติบโตต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี เพราะผู้บริโภคไม่อยู่ในอารมณ์จับจ่าย

“หากสถานการณ์ยืดเยื้อต่อจะกระทบต่อธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ซึ่งกำลังจะมีมหกรรมช็อปปิ้งออนไลน์ครั้งใหญ่อย่างเทศกาล 11.11 เริ่มขึ้น ทุกแพลตฟอร์มจะเริ่มทำตลาดตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.ลากยาวไปจนถึง 11 พ.ย. ซึ่งสุ่มเสี่ยงมากที่ผู้บริโภคจะชะลอการซื้อสินค้าในช่องทางออนไลน์ออกไปด้วย ส่งผลกระทบให้ธุรกิจสูญเสียโอกาสทางการขายได้”

แนะ 2 ฝ่ายเจรจาหาทางออก

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ตลาดดอทคอม กล่าวว่า การรวมตัวแต่ละครั้งเป็นรูปแบบที่ไม่มีผู้นำที่ชัดเจนจึงเกิดการใช้โซเชียลมีเดียรวบรวมคน สะท้อนว่าแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ กลายเป็นเครื่องมือการสื่อสารที่ทรงพลัง

“หากรัฐบาลใช้กฎหมายเข้ามาควบคุม ทั้งการบล็อกแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ หรือใช้ พ.ร.ก ฉุกเฉินฯ จะทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น สิ่งที่รัฐบาลและฝ่ายผู้ชุมนุมต้องทำคือ เจรจาว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ และเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ กำหนดไทม์ไลน์แก้ปัญหาที่ชัดเจน ให้ประเทศเดินหน้าต่อได้”

ต่างชาติหวั่น Political Risk

นายอธิป พีชานนท์ ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ต้องแยกเรื่องการเมืองกับเศรษฐกิจ เมื่อเกิดการชุมนุมหลีกเลี่ยงผลกระทบไม่ได้ แม้เศรษฐกิจแย่อยู่แล้ว ถ้าปล่อยให้สถานการณ์บานปลาย ทวีความรุนแรงขึ้น หรือไม่รุนแรงแต่ขยายวงไปทั้งประเทศคนภายนอกมองประเทศไทยก็คือเรามี political risk

“นักลงทุนต่างชาติมองเรื่อง legal risk, political risk, financial risk, exchange risk สิ่งที่เขาไม่แน่ใจคือตัว political risk จะเปลี่ยนเป็นอะไร จะถึงขั้นเปลี่ยนแปลงรัฐบาลไหม นโยบายที่รัฐบาลเคยประชาสัมพันธ์ไว้ ไม่ว่าอีอีซี การท่องเที่ยว การส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ ฯลฯ ถ้าเปลี่ยนรัฐบาลนโยบายจะแปรเปลี่ยนอะไรบ้าง อันนี้คือความไม่แน่นอน เหมือนตอนฮ่องกงมีปัญหา เรามองออกไปใครจะอยากเข้าไปฮ่องกงบ้าง”

ห่วงปี’64 คนชะลอตัดสินใจซื้อ

นายอธิป กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งครั้งใหม่ หรืออะไรก็ตามก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นธรรม ซึ่งที่ผ่านมาประเทศก็บอบช้ำมากจากโควิด ดังนั้นถ้าม็อบยืดเยื้ออีก 1 หรือ 2 หรือ 3 เดือนไปจนถึงปีหน้า ภาพรวมเศรษฐกิจจะยิ่งมีปัญหา ทั้งส่งออก ภาคการท่องเที่ยว พอมีม็อบมาซ้ำเติม ความเชื่อมั่น เท่ากับเราไปคอนเฟิร์มให้เวียดนามตีปีก อินโดนีเซียจะได้เปรียบ เพราะการเมืองเขานิ่งกว่า ทำให้นักลงทุนไปดีลด้วย

“ต่อให้ไม่มีม็อบในระยะสั้น เรากระทบอยู่แล้ว ภาพรวมเศรษฐกิจชะลอตัวจากโควิด ที่ผมเป็นห่วงปี 2564 เศรษฐกิจต้องหมุนเวียนโดยการลงทุนใหม่ การบริโภคใหม่ การบริโภคทรัพย์สินถาวรอย่างบ้าน รถยนต์ จะมีการชะลอการตัดสินใจซื้อ การลงทุนใหม่ทั้งต่างประเทศและนักลงทุนไทย สมมุติปีหน้าวัคซีนโควิดออกมา ไทยก็เหมือนมีบุญแต่กรรมมาบัง วัคซีนอาจมาช่วยทำให้โควิดหาย แต่เรายังมีของใหม่คือมีม็อบ”

ตจว.ชี้ยังไม่กระทบเศรษฐกิจ

ส่วนความเห็นของภาคธุรกิจต่างจังหวัด นายพิสูจน์ แซ่คู นายกสมาคมโรงแรมภาคตะวันออก มองว่า การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง คนไม่อยากไปท่องเที่ยว เพราะกังวลเรื่องความปลอดภัยการเดินทาง จึงอยากให้รัฐบาลรีบหาทางออก

นายมิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ผู้บริหารตั้งงี่สุน จ. อุดรธานี กล่าวว่า ในพื้นที่อุดรธานีมีการประท้วงแต่ ไม่เกิดความรุนแรง เป็นความคิดต่างระหว่างรุ่นเด็กกับรุ่นผู้ใหญ่ ครั้งนี้เป็นการประท้วงที่พัฒนาไปในทางที่ดีและซอฟต์ลงทั้งกลุ่มผู้ประท้วงและฝ่ายรัฐ ไม่อยากให้พัฒนาไปสู่ความรุนแรง ให้ทั้งสองฝ่ายหาทางออกร่วมกันให้ได้ และระวังมือที่สาม

ใต้-เหนือหวั่นยืดเยื้อ

นายกฤษณ์ เชาว์บวร ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์ชุมนุมหากยืดเยื้อจะมีผลต่อเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน นักลงทุนจะไม่เชื่อมั่น จึงอยากให้แก้ปัญหาการเมืองด้วยการเมือง แม้ 3 ข้อเสนอที่ม็อบเรียกร้องจะแก้ได้ไม่หมด แต่หากถอยคนละก้าวน่าจะพบจุดลงตัว

เช่นเดียวกับที่นายภัลลภ แซ่จิว ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า แม้จำนวนผู้ประท้วงขยายวงกว้างแต่การชุมนุมเป็นไปอย่างสงบ ไม่มีการใช้ความรุนแรง เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ จึงไม่กระทบภาคเศรษฐกิจและธุรกิจ ช่วง 2 วันที่ผ่านมาซึ่งเริ่มเข้าสู่ไฮซีซั่นของเชียงใหม่ พบว่าผู้โดยสารขาเข้าผ่านสนามบินเชียงใหม่ 8,000 คน ผู้โดยสารขาออกเกือบ 9,000 คน ถือว่าคึกคัก ส่วนใหญ่เป็นคนไทย แสดงให้เห็นว่าการชุมนุมทางการเมืองครั้งนี้ไม่กระทบภาคการท่องเที่ยว แต่ทั้ง 2 ฝ่ายต้องหาจุดร่วมโดยเร็วที่สุด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศ

เจอ 3 เด้ง GDP หดวูบ 10%

สำหรับความเห็นของนักธุรกิจนักลงทุนต่างชาติ นายสแตนลีย์ คัง ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) กล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้มีนักธุรกิจต่างชาติโทรศัพท์สอบถามจำนวนมาก ว่าเป็นอย่างไร ปลอดภัยหรือไม่ ซึ่งได้ตอบว่า ยังมีม็อบอยู่ แต่ประเทศไทยปลอดภัย สามารถเดินทางภายในประเทศและประกอบธุรกิจได้ ในฐานะที่ทำธุรกิจในไทยมานับ 10 ปี ผ่านวิกฤตการเมืองทั้งเสื้อเหลือง-เสื้อแดง มองว่าครั้งนี้ไม่ได้รุนแรงเท่าที่ผ่านมา แต่เศรษฐกิจไทยรวนหนัก เพราะได้รับผลกระทบทั้งโควิดและเศรษฐกิจโลก และโซเชียลมีเดียมีมากขึ้น ทำให้ทั่วโลกเห็นภาพเนกาทีฟอิมแพ็กต์ จึงต้องหันมาคุยกันเพื่อประโยชน์ของประเทศ แก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องก่อนเป็นอันดับแรก

“การเปิดสภาผู้แทนเป็นสิ่งสำคัญ รัฐบาลต้องให้สภาหาโซลูชั่นที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาระยะสั้นและระยะยาวให้ได้ ต้องมีเวทีที่จะคุยกัน เสียงส่วนมากต้องฟังส่วนน้อย การเมืองไม่นิ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่กระทบการลงทุนอยู่แล้ว นักธุรกิจต่างชาติให้ความสำคัญ คือไทยจะแก้ไขปัญหาด้วยวิธีไหน ใช้เวลานานเท่าไร เพราะสถานการณ์ขณะนี้เป็นเวลาพิเศษที่ไทยโดนหนักเป็นพิเศษ 3 เรื่อง ทั้งโควิด เศรษฐกิจโลกชะลอตัว กระทบภาคท่องเที่ยว รายได้หลัก 4-5 ปี

แล้ว ตอนนี้นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องขาดรายได้ เด็กจบใหม่ไม่มีงานทำ ผมว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้เหนื่อยมาก จีดีพีน่าจะติดลบมากกว่า 10%”

TDRI หวั่น ศก.ซึมยาว 3 ปี

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าความขัดแย้งมีทุกที่ แต่ต้องรู้จักประนีประนอม กรณีนี้เป็นความเห็นต่างคนละเจเนอเรชั่น ผู้ใหญ่ต้องเข้าใจและให้อภัยเด็ก นี่คือลูกหลานที่จะเป็นอนาคตของเรา นึกถึงตอนที่เราเป็นวัยรุ่นก็อยากแก้ไขปัญหาเร็วเหมือนกัน ที่สำคัญรัฐบาลต้องบริหารจัดการความขัดแย้งให้ได้ อย่าลืมว่าถ้าคุณ action อะไรไป จะได้รับ re-action อย่างนั้นกลับมา โดยจะต้องปรับไมนด์เซตใหม่ จะมาแบ่งฝ่ายนี้ผิด-ฝ่ายนี้ถูกไม่ได้ หลักการบริหารความขัดแย้งที่สำคัญคือการเจรจา เพราะไม่ว่าจะจบเร็ว รุนแรง หรือยืดเยื้อ ก็ไม่ดีสำหรับประเทศไทย

“แนวทางการเปิดสภาเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่อาจไม่พอ ต้องมีแนวทางที่ 2 คู่ขนาน เปิดให้มีการเจรจาซึ่งอาจมีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่สองฝ่ายให้การยอมรับทำหน้าที่เป็นคนกลาง การถอยคนละก้าวนำไปสู่ทางออก ตอนนี้เศรษฐกิจไทยบาดเจ็บ ปากท้องบาดเจ็บ ต่างประเทศขยาด เอือมระอา ที่ทะเลาะกันประจำ ฝ่ายหนึ่งต้องแพ้ตลอด หรือต้องรู้จักรอมชอม ใช้สันติวิธี ผมชื่นชมนักศึกษาที่ประท้วงโดยสงบ เพรารู้ว่าถ้านองเลือดนำไปสู่การปฏิวัติไม่ดีแน่ เพียงแต่รอให้ทุกคนยื่นมือออกไปช่วย ขอให้ไว้ใจกัน อย่าตั้งข้อสงสัยว่ามีใครอยู่เบื้องหลัง ให้การสนับสนุนอีกฝ่าย”

“ด้านเศรษฐกิจติดลบอยู่แล้ว อาจมากกว่า 8% อย่างที่คาดการณ์ ที่น่าห่วงคือวิกฤตครั้งนี้พังจากฐานราก ต่างจากปี 2540 คนไม่มีงานทำ นักศึกษาจบใหม่ไม่มีงานทำ ต้องแก้ก่อน ไม่เช่นนั้นไม่รู้อีก 3 ปี จะเงยหัวขึ้นหรือไม่ เพราะถ้าการเมืองไม่จบ เศรษฐกิจเดินต่อไม่ได้”

ประเมินผลกระทบใกล้ชิด

ดร.เชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ปัจจัยการชุมนุมที่จะกระทบในแง่เศรษฐกิจขึ้นกับสถานการณ์ชุมนุม หากไม่มีเหตุรุนแรง ผลกระทบจะมีระดับหนึ่ง ถ้ารุนแรงจะกระทบอีกระดับหนึ่ง หรือหากการชุมนุมยืดเยื้อก็ขึ้นกับนักลงทุนว่า จะมองสถานการณ์แบบใด ทั้งหมดต้องติดตาม อย่างไรก็ดี ปัจจุบันปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทยมากที่สุดคือโควิด-19 ที่หลายประเทศระบาดรอบ 2 รุนแรง ปัจจัยรองลงมาเป็นเรื่องการเปิดประเทศด้านการท่องเที่ยว ว่าให้ผลอย่างไรบ้าง

“ถ้าเป็นแค่ชุมนุม แสดงความเห็น ประท้วงไม่รุนแรง กระทบก็น้อย แต่ถ้ามีเหตุรุนแรงจะกระทบหนัก คิดว่าทุกฝ่ายเข้าใจโจทย์นี้ เหมือนที่หลายฝ่ายเห็นว่าควรต้องมีเวที มีช่องทางพูดคุยเพื่อหาทางออก อย่างการเปิดสภาสมัยวิสามัญ จะช่วยลดความตึงเครียด ลดโอกาสเกิดปัญหาบานปลาย”

ขณะเดียวกันปัญหาการเมืองไม่น่ามีผลโดยตรงในการทำให้รัฐบาลตัดสินใจเปิดประเทศช้าลง น่าจะคนละเรื่องกัน เนื่องจากจุดท่องเที่ยวที่จะเปิดก็เป็นจุดที่นิยม อาทิ ภูเก็ต เป็นต้น ซึ่งนักท่องเที่ยวก็ต้องเข้ามาอยู่ในจุดนั้น ๆเป็นเวลา 14 วัน ไม่ได้มาอยู่ในกรุงเทพฯ จึงไม่น่ากระทบโดยตรง การเปิดประเทศเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ต้องค่อย ๆ ทยอยทดลองเปิด แล้วดูผลว่าเป็นอย่างไร ดร.เชาว์กล่าว