พายุถล่มต่อเนื่องผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 1,485 ราย เสียหายกว่า 10.2 ล้านบาท

พายุถล่มต่อเนื่อง “กรมประมง” ชี้ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 1,485 ราย เสียหายกว่า 10.2 ล้านบาท เร่งส่งเรือตรวจกรมประมงเข้าช่วยเหลืออพยพ-แจกถุงยังชีพ

จากสถานการณ์ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในประเทศไทยทั้งจากอิทธิพลของพายุ “โนอึล” ช่วงวันที่ 18-20 กันยายน 2563 และดีเปรสชั่นหย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมประเทศไทยในขณะนี้ ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในหลายจังหวัด ซึ่งได้สร้างความเดือดร้อนและความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชน โดยเฉพาะภาคการเกษตร

นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือ (วอร์รูม) เพื่อติดตามสถานการณ์ และดำเนินการช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมสั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัด เร่งดำเนินการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรโดยเร่งด่วน

มีศักดิ์ ภักดีคง
มีศักดิ์ ภักดีคง

“ได้สั่งการให้สำนักงานประมงจังหวัด สำนักงานประมงอำเภอ ศูนย์/หน่วยป้องกันและปราบปรามฯ กองตรวจการประมง ในพื้นที่ประสบอุทกภัย นำรถและเรือตรวจประมง ออกให้การช่วยเหลือประชาชน ออกจากพื้นที่น้ำท่วมหนัก และนำเครื่องอุปโภคบริโภคไปแจกจ่าย เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น พร้อมทั้งบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ และรายงานให้กรมทราบอย่างต่อเนื่อง”

เบื้องต้นความเสียหายด้านประมงในขณะนี้ จากการสำรวจพบพื้นที่ความเสียหาย 13 จังหวัด ได้แก่ ตาก  เพชรบูรณ์ ลพบุรี นครราชสีมา บุรีรัมย์ ตราด นครนายก กระบี่ ระนอง กาญจนบุรี ราชบุรี สระบุรี และตรัง รวมกว่า 1,446.87 ไร่ 2,626.02 ตารางเมตร เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั้งในบ่อดิน บ่อซีเมนต์ และกระชัง ได้รับความเดือดร้อนกว่า 1,485 ราย คิดมูลค่าความเสียหายกว่า 10,227,832 บาท

“เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมหากได้รับความเสียหายจากอุทกภัย สามารถขอรับความช่วยเหลือผ่านกรมประมงในจังหวัดโดยใช้เงินทดรองราชการ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณา”

ทั้งนี้ การพิจารณาเป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน 2562 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน 2556 แต่ถ้าหากเงินงบประมาณไม่เพียงพอก็สามารถใช้เงินทดรองราชการในอำนาจของปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อไป

อย่างไรก็ดี ช่วงนี้ยังมีพายุฝนตกอย่างต่อเนื่อง ขอให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำติดตามข่าวพยากรณ์อากาศจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และขอให้เตรียมการป้องกันและแก้ไขไว้ล่วงหน้า ทั้งการควบคุมการใช้น้ำและรักษาปริมาณน้ำในที่เลี้ยงสัตว์น้ำให้มีปริมาณพอเหมาะ ป้องกันการเกิดโรคสัตว์น้ำ ต้องเฝ้าระวังการเลี้ยงสัตว์น้ำให้มีความแข็งแรง ทำความสะอาดกระชัง