เปิดลิสต์ 4 กลุ่มสินค้าส่งออกดาวรุ่ง โตสวนกระแสโลก

พาณิชย์เจาะลึก 4 กลุ่มสินค้าส่งออกดาวรุ่ง โตสวนกระแสโลก แนะเอกชนไทยปรับตัวรับกระแส New Normal หนุนลงทุนอุตสาหกรรมศักยภาพสูงหลังโควิด

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า สนค. ได้ศึกษาวิเคราะห์สินค้าส่งออกไทยที่มีสัดส่วนการส่งออกใน 9 เดือนแรกปีนี้ สูงกว่าค่าเฉลี่ยสามปีที่ผ่านมา (2560 – 2562) สะท้อนว่าเป็นกลุ่มสินค้าส่งออกที่มีความสามารถในการแข่งขัน เติบโตสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค และเป็นสินค้าที่ตอบรับกระแสนิวนอร์มอล แบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม

“การส่งออกปีนี้เผชิญปัจจัยเสี่ยงหลายประการ อาทิ ภัยแล้ง สงครามการค้า ค่าเงินบาท ไวรัสโควิด-19 ทำให้ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกหยุดชะงัก เศรษฐกิจโลกชะลอกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน อีกทั้งพฤติกรรมคนที่เปลี่ยนไป ทำให้สินค้าส่งออกที่เคยสร้างรายได้ให้ประเทศและสินค้าดาวรุ่งเดิมหลายรายการได้รับผลกระทบ”

“ที่ผ่านมาโครงสร้างสินค้าส่งออกของไทยกระจุกตัวในเทคโนโลยีดั้งเดิม ไม่สอดคล้องกับทิศทางในอนาคต เป็นเรื่องท้าทายที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือขับเคลื่อนพัฒนาให้ประเทศยกระดับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างความสะดวกในการทำธุรกิจ และส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพหลังโควิด”

อย่างไรก็ตาม ไทยยังใช้ประโยชน์จากจุดแข็งสำคัญที่มีอยู่ พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสจากการมีสินค้าส่งออกที่หลากหลาย ผู้ประกอบการไทยปรับตัวได้รวดเร็ว จากการมีพื้นฐานวัตถุดิบและห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่ง รวมทั้งสามารถปรับกำลังการผลิต และผลิตสินค้ากลุ่มใหม่ที่สอดคล้องกับวิถีนิวนอร์มอลได้

สำหรับสินค้า 4 กลุ่ม ประกอบด้วย สินค้ากลุ่มที่ 1 อาหาร และอาหารแปรรูป สินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ อาหารสด อาหารกระป๋อง เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ และน้ำผลไม้ อาหารสด ได้แก่ ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง ขยายตัวร้อยละ 21.68 (ขยายตัวในจีน ฮ่องกง สิงคโปร์) และหมูสดแช่เย็น แช่แข็ง ขยายตัวร้อยละ 642.90 (ขยายตัวในฮ่องกง และเมียนมา)

อาหารกระป๋อง ได้แก่ ทูน่ากระป๋อง ขยายตัวร้อยละ 9.11 (ขยายตัวในสหรัฐฯ เปรู อียิปต์ แคนาดา ซาอุดีอาระเบีย) กุ้งกระป๋อง ขยายตัวร้อยละ 10.20 (ขยายตัวในสหรัฐฯ เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย เม็กซิโก สหราชอาณาจักร) ปลาหมึกกระป๋อง ขยายตัวร้อยละ 88.24 (ขยายตัวในญี่ปุ่น สหรัฐฯ กัมพูชา ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ไต้หวัน)

ข้าวโพดหวานกระป๋อง ขยายตัวร้อยละ 13.25 (ขยายตัวในทุกตลาดส่งออกสำคัญ อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ สหรัฐฯ) หน่อไม้กระป๋อง ขยายตัวร้อยละ 37.76 (ขยายตัวในทุกตลาดส่งออกสำคัญ อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แคนาดา ออสเตรเลีย)

น้ำผลไม้ผสม ขยายตัวร้อยละ 25.13 (ขยายตัวในไต้หวัน กัมพูชา สหรัฐฯ จีน) และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ขยายตัวร้อยละ 4.02 (ขยายตัวในจีน สิงคโปร์ สปป.ลาว เมียนมา กัมพูชา)

กลุ่มที่ 2 สินค้าป้องกันการติดเชื้อและการแพร่ระบาด ได้แก่ ถุงมือยาง ขยายตัวร้อยละ 61.34 โดยขยายตัวสูงต่อเนื่องเกือบทุกตลาด โดยเฉพาะสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และจีน และสบู่ ขยายตัวร้อยละ 27.74 (ขยายตัวในออสเตรเลีย กลุ่มประเทศ CLMV และสหราชอาณาจักร)

กลุ่มที่ 3 สินค้าเครื่องใช้ภายในบ้านและสำหรับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในครัว ได้แก่ ตู้เย็น (ขยายตัวร้อยละ 2.6 ในสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย) เตาอบไมโครเวฟ (ขยายตัวร้อยละ 32.06 ในสหรัฐฯ ญี่ปุ่น แคนาดา)

เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ได้แก่ ลำโพง (ขยายตัวร้อยละ 81.53 ขยายตัวในสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์) พัดลม (ขยายตัวร้อยละ 1.26 ขยายตัวในสหรัฐฯ จีน แคนาดา) คอมพิวเตอร์ (ขยายตัวร้อยละ 3.33 ขยายตัวในสหรัฐฯ จีน) และเฟอร์นิเจอร์ (ขยายตัวร้อยละ 11.83 ขยายตัวในสหรัฐฯ เวียดนาม เกาหลีใต้)

ส่วนกลุ่มที่ 4 ยานพาหนะ คือ รถจักรยานยนต์ (ขยายตัวร้อยละ 17.85 ขยายตัวในจีน ญี่ปุ่น เบลเยียม)

ทั้งนี้มั่นใจว่า ภาพรวมการส่งออกไทยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางดีขึ้น การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มควบคุมสถานการณ์ดี หลายประเทศผ่อนคลายมาตรการปิดสถานที่ อัตราการเติบโตของมูลค่าการส่งออกและนำเข้าของไทยหดตัวน้อยลง สะท้อนว่าธุรกิจมีการปรับตัว ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อภาวะเศรษฐกิจไทยเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาค

“คาดว่าการส่งออกทั้งปี 2563 จะหดตัวไม่เกินร้อยละ -7.0 และจะค่อยๆ ฟื้นตัวในปี 2564 “