สัญญาณบวกส่งออกฟื้นตัว สิ้นปีลบแค่ 7% ‘อาหาร-ถุงมือยาง’ ขายดี

Photo by STR / AFP

“พาณิชย์” เผยส่งออกไทย 3 ไตรมาส ทรุด 7.33% ล่าสุดยอดส่งออกเดือน ก.ย. 2563 เห็นสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 คาดไตรมาส 4 หดตัว 6% ทั้งปีติดลบ 7% จับตาผลกระทบโควิด-19 เลือกตั้งสหรัฐ สงครามการค้าจีน

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกไทยในเดือนกันยายน 2563 มีมูลค่า 19,621.32 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 3.86% เป็นการติดลบน้อยลง ซึ่งถือเป็นการฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน เป็นสัญญาณที่ดีจากการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น ผลจากการส่งออกสินค้าหลายตัวเพิ่มขึ้น ไม่ใช่จากการส่งออกทองคำเป็นตัวดันส่งออก ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 17,391.20 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 9.08% ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้า 2,230.1 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับการส่งออกในช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ปี 2563 มูลค่า 172,996.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.33% การนำเข้ามีมูลค่า 152,372.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 14.64% ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้า มูลค่า 20,623.7 ล้านเหรียญสหรัฐ

“แนวโน้มการส่งออกของไทยถือว่าฟื้นตัวอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ถือว่าติดลบน้อยลง โดยการส่งออกไตรมาสที่ 4 คาดว่าจะส่งออกได้มูลค่า 56,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 6% ทำให้ยอดรวมทั้งปี 2563 จะส่งออกได้มูลค่า 228,904 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบประมาณ 7% ไม่ติดลบถึง 2 หลักอย่างที่เคยมีการคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้”

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของสินค้าส่งออกหลายกลุ่ม โดยเฉพาะสินค้า 3 กลุ่มที่เติบโตดี คือ อาหาร เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง เครื่องดื่ม สิ่งปรุงรสอาหาร และอาหารสัตว์เลี้ยง สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้า โซลาร์เซลล์ และสินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อ

เช่น ถุงมือยาง ส่วนสินค้าหลายรายการยังส่งออกได้ลดลง เช่น น้ำตาลทราย ข้าว ยางพารา ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป อัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน และทองคำ

อย่างไรก็ตามต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงจากการระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะในเมียนมาจะกระทบต่อการค้าชายแดนระยะสั้น ส่วนการระบาดระลอก 2 อาจจะยังไม่มีผลกระทบในทันทีต่อการส่งอกเพราะส่วนใหญ่ส่งมอบสินค้าไปแล้ว แต่จะไปมีผลในช่วงไตรมาสแรกปี 2564

ขณะที่ปัจจัยจากนโยบายการค้าของสหรัฐ หลังการเลือกตั้งต้องติดตามว่าสหรัฐจะใช้วิธีใดกับจีน เพราะไม่ว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ หรือนายโจ ไบเดน จะได้รับเลือก แต่ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐ-จีนจะยังคงมีอยู่ ส่วนตัวเห็นว่าทรัมป์มีโจทย์ง่าย ทะเลาะโดยตรง แต่ไบเดนต้องตีโจทย์ว่าจะทำอย่างไร เน้นการสร้างพันธมิตรกดดัน นอกจากนี้ยังต้องติดตามการผลการผลิตวัคซีน

โควิด-19 ของทั้งฝั่งสหรัฐ-สหภาพยุโรป และเอเชีย หากประเทศใดสามารถพัฒนาได้สำเร็จ ประเทศนั้นจะฟื้นตัวแบบหัวกระสุนชินคันเซน เศรษฐกิจจะเทไปทางนั้น

“สำหรับปัญหาการเมืองของไทยไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก แต่อาจมีผลกระทบต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุน นักลงทุนจะใช้เป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณา ถ้านักลงทุนไม่มา การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ไทยยังต้องพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศก็จะชะงักและมีผลกระทบต่อการส่งออกในระยะยาว”