จีไอที ปิ้งไอเดียนำเครื่องกำจัดฝุ่น PM 2.5 ใส่เครื่องประดับหวังดักจับฝุ่นในอากาศ

สถาบันอัญมณีฯ เปิดตัวเครื่องประดับเพื่อสุขภาพ 6 คอลเล็กชั่น หลังจับมือ ม.เทคโนโลยีสุรนารีและนักออกแบบร่วมกันพัฒนา เผยนำเครื่องกำจัดฝุ่น PM 2.5 มาใส่ ทำงานคล้ายเครื่องฟอกอากาศดักจับฝุ่น มีความปลอดภัย ใช้งานได้จริง

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย รองผู้อำนวย รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ จีไอที เปิดเผยว่า ได้ทำการเปิดตัวเครื่องประดับเพื่อสุขภาพ ภายใต้โครงการเพิ่มมูลค่าเครื่องประดับด้วยนวัตกรรม (Beyond Jewelry) ที่มีการนำงานนวัตกรรม และงานวิจัยมาใช้ต่อยอดในการผลิต

โดยสามารถผลิตเครื่องประดับต้นแบบออกมาได้จำนวน 6 ผลงาน ได้แก่ YOLD COLLECTION, Water Harmony I, Mokume Gane Pendant Air Purifier “Pure Drop”, Water Harmony II, WINGS OF LIFE และ AIR PURIFIER JEWELRY โดยมั่นใจว่าจะตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการใช้เครื่องประดับมากกว่าความสวยงาม

ADVERTISMENT

สำหรับเครื่องประดับเพื่อสุขภาพต้นแบบที่เกิดขึ้น เป็นผลงานของจากความร่วมมือระหว่างจีไอทีกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และนักออกแบบ ที่ได้นำงานนวัตกรรมป้องกันฝุ่น PM 2.5 มาใช้เป็นองค์กรประกอบในการทำเครื่องประดับ

เพราะเล็งเห็นว่าประชาชนในหลายประเทศทั่วโลก มีปัญหาด้านสุขภาพ และไทยเองก็เผชิญกับปัญหามลภาวะจากฝุ่น PM 2.5 ที่ส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาเครื่องประดับที่ใช้ในการป้องกันฝุ่นขึ้นมา

ADVERTISMENT

“เครื่องประดับป้องกันฝุ่นนี้ ได้นำเทคโนโลยีที่ใช้ในเครื่องกำจัดฝุ่น PM 2.5 มาใช้เป็นองค์ประกอบของเครื่องประดับ มีหลักการทำงานคล้ายเครื่องฟอกอากาศ เพื่อดักจับอนุภาคของฝุ่น PM 2.5 ทำให้อนุภาคฝุ่นเป็นกลางหล่นลงสู่พื้น คงเหลือแต่อากาศที่สะอาดปราศจากฝุ่นควันกลับสู่ธรรมชาติ มีความปลอดภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม และสามารถใช้งานได้จริง ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้” นายสุเมธกล่าว

ก่อนหน้านี้ จีไอทีได้ร่วมมือกับนักออกแบบพัฒนาเครื่องประดับเครื่องสุขภาพมาแล้ว คือ เครื่องประดับเพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บ ได้แก่ แหวนกันนิ้วล็อค และเครื่องประดับช่วยในการเคลื่อนไหว ได้แก่ เครื่องพยุงกล้ามเนื้อเพื่อช่วยในการเดิน เป็นต้น

ADVERTISMENT

รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวว่า การร่วมมือกับจีไอที ถือเป็นการต่อยอดงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่มหาวิทยาลัยได้มีการคิดค้น และสามารถนำไปใช้งานได้จริง โดยในการทำเครื่องประดับเพื่อสุขภาพ ได้มีการปรับแปลงวงจรของเครื่องฟอกอากาศ ให้มีขนาดเล็กและเหมาะสมกับการทำเป็นเครื่องประดับ

นายสุรศักดิ์ มณีเสถียรรัตนา หนึ่งในนักออกแบบ และนักวิจัยอิสระ ที่ได้ร่วมออกแบบผลิตภัณฑ์ต้นแบบ กล่าวว่า การออกแบบเครื่องประดับ ได้ถอดแบบจากการทำงานของเครื่องฟอกอากาศ ที่ใช้หลักการของประจุบวก และ ประจุลบ (ION) ของน้ำ ซึ่งอยู่รอบตัวเรา มาเป็นแรงบันดาลในการออกแบบ สร้อยคอ ต่างหู และสร้อยข้อมือ โดยใช้เทคนิคการออกแบบให้มีความน่าสนใจ

โดยคอลเล็กชั่น Water Harmony I ใช้เทคนิคความสมมาตรทั้งซ้าย และขวา ซึ่งส่งให้เครื่องกรองอากาศมีความโดดเด่น และเปล่งประกายดังอัญมณี ส่วน Water Harmony II ใช้แนวคิดของการออกแบบที่ไม่มีความสมมาตร มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน และใช้เทคนิคที่ชื่อ Slice & Lock เพื่อให้ผู้ใส่สนุกกับการสวมใส่เครื่องประดับมากขึ้น