พายุ “โซเดล-โมลาเบ” ถล่มไทย จับตาอีสานใต้ “น้ำ” ล้น-ท่วมหนัก

น้ำท่วมโคราช

สถานการณ์น้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยค่อนข้างที่จะคับขัน หลังจากที่ต้องเผชิญกับ “พายุโซเดล” ที่เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศเวียดนามตอนกลางและอ่อนกำลังลงกลายเป็นพายุดีเปรสชั่น มีทิศทางการเคลื่อนตัวไปในทิศตะวันตกค่อนไปทางใต้ โดยจะเคลื่อนตัวผ่าน สปป.ลาว เข้าสู่ประเทศไทยบริเวณด้านตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในขณะที่ “พายุโมลาเบ” ได้เคลื่อนตัวเข้าสู่บริเวณทะเลจีนใต้และทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไต้ฝุ่นระดับ 1 มีทิศทางการเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกค่อนไปทางเหนือ โดยจะทวีกำลังแรงขึ้นและเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งที่ประเทศเวียดนามตอนกลางในช่วงระหว่างวันที่ 28-29 ตุลาคมนี้ หลังจากนั้นจะอ่อนกําลังลงตามลําดับ

ประกอบกับมีลมตะวันตกเฉียงใต้จะมีกําลังแรงขึ้น ส่งผลทําให้ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ มีฝนตกหนักกับมีลมแรง ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและลมแรง ซึ่งอาจทําให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้

เขื่อนลำตะคอง

จากอิทธิพลของพายุทั้ง 2 ลูกจะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากหลายปีที่ผ่านมาที่ต้องเผชิญกับภาวะ “ภัยแล้ง” ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ลดลงต่ำ บางอ่างเก็บน้ำถึงกับต้องอยู่ในภาวะวิกฤตติดต่อกันมาหลายปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ซึ่งมีปริมาณน้ำติดลบมาโดยตลอด แต่ปัจจุบันมีปริมาตรน้ำ 1,312 ล้าน ลบ.ม.หรือร้อยละ 54 ปริมาตรใช้การได้ 731 ล้าน ลบ.ม.หรือร้อยละ 40

น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง

สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ของประเทศ ณ วันที่ 27 ตุลาคม 2563 มีปริมาตรน้ำ 46,726 ล้าน ลบ.ม.หรือคิดเป็นร้อยละ 61 เป็นปริมาตรน้ำใช้การได้ 22,795 ล้าน ลบ.ม.หรือร้อยละ 44

เฉพาะสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์-แควน้อยบำรุงแดน-ขุนด่านปราการชล ซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและกรุงเทพมหานคร มีปริมาตรน้ำรวมกันทั้งหมด 12,384 ล้าน ลบ.ม.หรือคิดเป็นร้อยละ 50% เป็นปริมาตรน้ำใช้การได้ 5,688 ล้าน ลบ.ม.หรือคิดเป็นร้อยละ 31

ส่วนปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศพบว่า มีถึง 7 เขื่อนหลักที่มีปริมาตรน้ำ “เกินกว่า” ร้อยละ 80 ขึ้นไป

ได้แก่ จุฬาภรณ์ มีปริมาตรน้ำ 153 ล้าน ลบ.ม.หรือร้อยละ 94, ลำตะคอง 348 ล้าน ลบ.ม.หรือร้อยละ 111, ลำพระเพลิง 154 ล้าน ลบ.ม.หรือร้อยละ 99, มูลบน 130 ล้าน ลบ.ม.หรือร้อยละ 85, สิรินธร 1,681 ล้าน ลบ.ม.หรือร้อยละ 85, ขุนด่านปราการชล 224 ล้าน ลบ.ม.หรือร้อยละ 100 และหนองปลาไหล จ.ระยอง 176 ล้าน ลบ.ม.หรือร้อยละ 108

ปริมาณที่เพิ่มขึ้นจากพายุหลายลูกที่พัดผ่านประเทศไทยในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ทำให้สภาพน้ำโดยรวมของประเทศดีขึ้นก่อนที่จะเข้าสู่ฤดูแล้งในปี 2564 แต่ในอีกด้านหนึ่ง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสานตอนใต้แถบจังหวัดอุบลราชธานี-ศรีสะเกษ-สุรินทร์-นครราชสีมา ปัจจุบันเกิดสภาพ “น้ำล้นตลิ่ง” ในลำน้ำสายหลักและสายรอง ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากสถานการณ์น้ำในช่วงปี 2561-62

ส่งผลให้ต้องมีการเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กในพื้นที่ที่ปัจจุบันหลายต่อหลายอ่างอยู่ในสภาพน้ำล้นเกินกว่าปริมาณ “ความจุ” ของอ่างไปแล้ว ทำให้ต้องเร่งระบายน้ำออกจากอ่างเพื่อป้องกันความเสียหายและก่อให้เกิด “น้ำท่วม” ในพื้นที่

นอกเหนือจากน้ำที่ล้นจากลำน้ำสำคัญ ๆ สายหลักในพื้นที่อีสานตอนใต้ ไม่ว่าจะเป็นลุ่มน้ำลำพระเพลิง, ลุ่มน้ำลำตะคอง และลุ่มน้ำมูล ยังต้องเตรียมตัวรับสถานการณ์พายุลูกใหม่อย่างต่อเนื่อง

ด้านกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ประเมินฝนจากแผนที่คาดการณ์ปริมาณฝน (one map) พบว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 28-30 ตุลาคมนี้ จะมีฝนเพิ่มขึ้นในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำในแหล่งน้ำและลำน้ำเพิ่มสูงขึ้น

จากการวิเคราะห์สถานการณ์จะต้อง “เฝ้าระวัง” อ่างเก็บน้ำที่เกินความจุเก็บกักในอ่างขนาดใหญ่ 6 แห่งที่เกินไปกว่าร้อยละ 80 แล้ว (จุฬาภรณ์-ลำตะคอง-ลำพระเพลิง-มูลบน-ขุนด่านปราการชล-หนองปลาไหล)

นอกจากนี้ยังต้องเฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่งต่อเนื่องในบริเวณ 1) แม่น้ำมูล บริเวณ ต.หนองยาง จ.นครราชสีมา ต.ทุ่งกุลา จ.สุรินทร์ และ ต.นิคม จ.บุรีรัมย์ 2) ลำปะเทีย บริเวณ ต.อีสานเขต จ.บุรีรัมย์ 3) ลำชี บริเวณ ต.ตระแสง จ.สุรินทร์ 4) ห้วยทับทัน บริเวณ ต.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ 5) แม่น้ำปราจีนบุรี บริเวณ ต.กบินทร์ ต.หน้าเมือง จ.ปราจีนบุรี

6) แม่น้ำบางปะกง บริเวณ ต.บางเตย จ.ปราจีนบุรี 7) คลองชี บริเวณ ต.เขาวิเศษ จ.ตรัง และ 8) แม่น้ำตาปี บริเวณ ต.ท่าสะท้อน จ.สุราษฎร์ธานี

สถานการณ์น้ำในประเทศไทย