เขตนวัตกรรม EECd ยังไม่ไปไหน 3 ปี ไม่มีการลงทุน-WHA จี้รัฐสปีดรับ 5G

5G

นักลงทุนเคว้ง “EECd” อืด โครงสร้างพื้นฐานไม่พร้อม “WHA” ทวงถามกระทรวงดิจิทัลฯ หวั่นบิ๊กดิจิทัลถอยทัพ ชี้ไทยต้องมุ่งไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ชู 6 ข้อสู่ดิจิทัลไทยแลนด์ ลุ้นเปิดขายซองประมูลพัฒนาพื้นที่รอบ 2 ตั้งไทยเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลแห่งภูมิภาคอาเซียน หนุนเกิด startup

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าการขับเคลื่อนประเทศจากนี้ไป ไทยจะต้องใช้เรื่องของเศรษฐกิจดิจิทัลซึ่งจะมี 2 ส่วน คือ ส่วนที่นักลงทุนภาคเอกชนลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัลและส่วนของภาครัฐที่ต้องลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ในส่วนของเอกชนยอมรับว่าก่อนหน้านี้ หลังจากไทยมีนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และหนึ่งในนั้นคือ โครงการลงทุนเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) หรือ Digital Park Thailand ใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

แต่ผ่านมาระยะหนึ่งแล้ว ยอมรับว่าโครงการ EECd ยังไม่คืบหน้า ดังนั้นจึงทวงถามจากทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)กับทางบริษัท กสท โทรคมนาคมจำกัด (มหาชน) หรือ CAT Telecomในฐานะผู้ที่เป็นเจ้าของพื้นที่ เนื่องจากการชะงักของโครงการดังกล่าวส่งผลให้นักลงทุนรายใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซจากต่างประเทศชะลอการตัดสินใจลงทุนด้วยรัฐยังไม่พร้อมลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

“โครงการมันไม่เดินด้วยพื้นที่ของ CAT รัฐไม่ยอมลงทุนโครงสร้างพื้นฐานก่อน เพราะมองว่าลงทุนแล้วจะต้องมีกำไรตั้งแต่ก้าวแรก ดังนั้นในฐานะนักลงทุนจึงทวงถามว่า รัฐจะเอาอย่างไร เมื่อเทรนด์ดิจิทัลมันมา EECd ต้องเกิด รัฐต้องกล้าลงทุนก่อน เพราะไม่อย่างนั้นเอกชนยักษ์ใหญ่ด้านดิจิทัลต่าง ๆ ที่เขาเตรียมจะมานานแล้ว แต่ช้าที่รัฐ ซึ่งมันทำให้นักลงทุนอีคอมเมิร์ซที่ไปดีลไว้ไม่มาแล้ว”

อย่างไรก็ตาม รัฐต้องเป็นตัวลงทุนนำร่องไปก่อน จากนั้นเอกชนจะเป็นตัวเข้าไปขับเคลื่อนเอง และยืนยันว่าการจะเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล (digital economy) ได้ในไทย รัฐจะต้องมองตีโจทย์ให้แตกว่าจะเอาเศรษฐกิจดิจิทัล เข้ามาช่วยยังไง เช่น อุตสาหกรรมการแพทย์ จากการพูดคุยพบว่า การเอา AI มาตรวจวัดคนไข้จาก 50 คน/วัน เพิ่มเป็น500 คน/วัน และต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจดิจิทัล มันคือสิ่งที่จะทำให้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีไปได้ และเอกชนเขาพร้อมกันหมดที่จะจับมือกันไป ส่วนรัฐก็ต้องพร้อมประสานงานด้วยเช่นกัน

EECd

ในส่วนของ WHA เองแม้จะเกิดวิกฤตทั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้นักลงทุนไม่สามารถเข้ามาดูพื้นที่ได้ แต่ยังต้องพัฒนาพื้นที่ต่อไป และต้องพร้อมเพื่อรอวันที่นักลงทุนเข้ามาเซ็นสัญญา และเห็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่พร้อมให้เขาเข้ามาแล้ว ซึ่งมันจะตัดสินใจง่ายขึ้นนี่จึงคือช่วงจังหวะที่ดี ที่ WHA จะพัฒนาพื้นที่ทำรอเขาไว้

นอกจากนี้ WHA จะดึงเอายักษ์ใหญ่ ด้านเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนานิคมอุตสาหกรรม โดยเป้าหมายในอนาคตจะไม่เพียงการขายและเช่าพื้นที่ แต่จะไปถึงการซื้อขายไฟฟ้ากันในนิคมอุตสาหกรรมเอง และจะนำเอาเทคโนโลยีมา transformation ทั้งหมด

และในระหว่างที่รอการเปิดประเทศ WHA ยังต้องมีการเจรจากับลูกค้าใหม่และลูกค้าเก่าที่ลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมอยู่แล้ว จึงเตรียมดีลกับหัวเว่ยเปิด matching กับลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงเตรียมดีลกับทางไปรษณีย์ไทย ช้อปปี้ เพื่อจับมือสตาร์ตอัพของไทยทำแพลตฟอร์มขนส่งร่วมกัน

“การลงทุนด้านดิจิทัลให้จำไว้ว่าวัตถุประสงค์มันคือเข้ามาช่วยลดต้นทุน ถ้าทำแล้วต้นทุนเพิ่มคือผิดทาง ถามว่าการจะผลักให้เศรษฐกิจดิจิทัลขึ้นมาเป็น 11% ของ GDP นั้น เราเห็นด้วยและไทยจะไปสู่การเป็นดิจิทัลไทยแลนด์ต้องมี 6 ข้อสำคัญ คือ 1.การลงทุนเน็ตหมู่บ้าน อันนี้รัฐทำไปแล้ว 2.ต้องดึงยักษ์ใหญ่ต่างชาติเข้ามา จึงย้ำอยากเห็น EECd เกิดให้ได้ 3.การครีเอตแผนดิจิทัลร่วมกัน 4.รัฐต้องปรับตัวอย่าใช้แต่กระดาษต้องไปดิจิทัลหมดแล้ว ต้องเป็น one stop service5.คนด้านดิจิทัลเราต้องพอ และ 6.กฎระเบียบต้องมาให้พร้อม”

แหล่งข่าวในภาคอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า ตามแผนการพัฒนาพื้นที่ EECdก่อนหน้านี้ได้เปิดขายซองประมูล เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ แต่รอบแรกไม่มีคนซื้อซอง บวกกับเกิดโควิด-19 ในปีนี้ทำให้แผนพัฒนาทุกอย่างล่าช้าออกไปอีก ดังนั้น หากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ทางกระทรวงมีแผนที่จะเตรียมขายซองรอบ 2 อีกครั้ง

สำหรับเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลแห่งภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Digital Hub) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) จำเป็นต้องเร่งดำเนินการตามนโยบายการขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยการพัฒนา Thailand Digital Valley ที่จะร่วมดำเนินการกับธุรกิจดิจิทัลชั้นนำระดับโลก เพื่อให้บริการโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีดิจิทัลที่สำคัญเพื่อการพัฒนา วิเคราะห์ ทดลองทดสอบเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลขั้นสูง

เช่น IOT, data science, 5G applications, smart devices, high value-added software, robotics,cloud และ digital services เป็นต้น และยังเป็นการร่วมมือดำเนินงานกันระหว่างภาคเอกชน ภาคการศึกษา สถาบัน และภาครัฐ สร้าง digital ecosystem และ open platform สำหรับเหล่า startup ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงส่งเสริม สนับสนุนการออกแบบสินค้าและบริการดิจิทัลของธุรกิจชั้นนำ และ startup