2 บริษัทกะทิไทย ย้ำไม่เคยนำลิงเข้ามาอยู่ในขบวนการผลิตกะทิเพื่อส่งออก ล่าสุดได้มีการว่าจ้างบริษัทตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเพื่อรวบรวมข้อมูลชี้แจงทำความเข้าใจทุกฝ่าย
วันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 รายงานข่าวจากเว็บไซต์ยูเอสเอทูเดย์ ระบุว่า คอสต์โก ห้างค้าปลีกรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ประกาศหยุดการสั่งซื้อกะทิชาวเกาะของไทย หลังจากกลุ่มพีต้า กลุ่มพิทักษ์สิทธิสัตว์ ระบุว่า บริษัทผู้ผลิต “เทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด” ผู้ผลิตกะทิชาวเกาะ ใช้แรงงานลิงในการเก็บมะพร้าว
โดยเจ้าหน้าที่ของพีต้า เปิดเผยกับยูเอสเอทูเดย์ เป็นกรณีพิเศษ ระบุว่า คอสโก้ เป็นห้างค้าปลีกรายล่าสุดที่ประกาศยุติการขายกะทิชาว หลังจากก่อนหน้านี้ มีหลายห้างที่ประกาศไม่ขายกะทิชาวเกาะ ทั้งวอลกรีส์ , ฟู้ดไลออน , ไจแอ้นท์ ฟู้ด และ สต็อปแอนด์ช้อป
อิงกริด นิวเคิร์ก ประธานพีต้า กล่าวในแถลงการณ์ระบุว่า ไม่มีผู้ซื้อรายใดที่ต้องการเห็นลิงถูกล่ามโซ่และถูกทำเหมือกับเป็นเครื่องมือเก็บมะพร้าว และว่า คอสต์โกทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้วที่ปฏิเสธการหาประโยชน์จากสัตว์
อย่างไรก็ตาม ทางตัวแทนของคอสต์โก ปฏิเสธที่จะออกมาแสดงความเห็นต่อเรื่องดังกล่าว ขณะที่หลักฐานของทางพีต้า ที่มอบให้แก่ทางยูเอสเอทูเดย์คือจดหมาย ของนายเคน คิมเบิล รองประธานของคอสต์โก ที่ระบุว่า “เราไดหยุดการซื้อสินค้าแบรนด์ชาวเกาะ” โดยลงวันที่ 29 กันยายน และว่า “เราจะจับตาดูนโยบายการเก็บเกี่ยวผลผลิต เมื่อใดที่เป็นที่พอใจแล้ว ก็จะกลับมาซื้อสินค้าต่อ”
นายวิทยากร มณีเนตร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมฯได้ประสานสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ สหรัฐ เพื่อทำความเข้าใจ และชี้แจงถึงกรณีดังกล่าวแล้ว เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้นำเข้าและผู้บริโภคว่าสินค้ากะทิไทยไม่ได้มีการนำลิงมาเก็บมะพร้าวจนถึงขบวนการผลิตสินค้ากะทิแต่อย่างใด
ทั้งนี้ หากผู้นำเข้าหรือผู้บริโภคยังกังวลในเรื่องดังกล่าว สามารถประสานมาทางสำนักงานที่ต่างประเทศได้ โดยกรมฯพร้อมที่จะประชาสัมพันธ์และชี้แจงถึงขบวนการเก็บมะพร้าวและการผลิตกะทิว่าทุกขั้นตอนไม่ได้มีการทารุณสัตว์แต่อย่างใด
นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ประกอบการกะทิไทยทั้ง 2 บริษัท คือ บริษัท ไทย อกริ ฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน ) ผู้ผลิตและจำหน่ายหัวกะทิแท้ 100% ตราอร่อยดี และบริษัท เทพผดุงพร มะพร้าว จำกัด ตราชาวเกาะ ได้ว่าจ้างบริษัทนานาชาติที่ทำการสำรวจและตรวจสอบย้อนกลับในการผลิตสินค้า
โดยเฉพาะสินค้ากะทิไทย ว่ามีการดำเนินการผลิตอย่างถูกต้อง พร้อมทั้งสำรวจทุกกระบวนการและรายงานข้อมูลทั้งหมด ไปยังผู้ประกอบการ ห้างสรรพสินค้า หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเข้าใจในกรณีดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ว่าทุกขั้นตอนไม่มีการทารุณสัตว์จากที่ทุกฝ่ายเป็นกังวลอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ ข้อมูลดังกล่าวยังได้ประสานส่งชี้แจงไปยัง พีต้า องค์กรพิทักษ์สัตว์ ด้วย