“ทียู” อู้ฟู่ โชว์กำไรไตรมาส 3 ทะลุ 2 พันล้าน เพิ่มเกือบ 50%

ทียู
แฟ้มภาพ

ทียูไตรมาส 3 ยังแข็งแกร่ง ยอดขาย 34,784 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.3% กำไรสุทธิทะลุ 2,056 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49.7% จากผู้บริโภคยุคโควิด อยู่บ้าน ปรุงอาหารเอง

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือทียู เปิดเผยว่า ยอดขายประจำไตรมาสที่ 3 ปี 2563 อยู่ที่ 34,784 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.3% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยกำไรสุทธิพุ่งสูงทะลุระดับ 2 พันล้านอยู่ที่ 2,056 ล้านบาท สูงขึ้นกว่าปีก่อนหน้าถึง 49.7%

โดยยอดขายที่เพิ่มขึ้นนี้แบ่งเป็น ธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปบรรจุกระป๋องมียอดขาย 16,259 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.4% ธุรกิจอาหารแช่แข็งและธุรกิจที่เกี่ยวข้องมียอดขายเพิ่มขึ้น 4.7% อยู่ที่ 13,370 ล้านบาท และธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงและผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่ามียอดขายเพิ่มขึ้น 12% อยู่ที่ 5,155 ล้านบาท

“ผู้บริโภคทั่วโลกยังคงเชื่อมั่นในคุณภาพของผลิตภัณฑ์จากทียูส่งผลให้ผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 3 ของบริษัทยังคงดีต่อเนื่อง จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมารับประทานอาหารเพื่อสุขภาพและทำอาหารทานที่บ้าน มีการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์และอาหารที่เก็บได้ยาวนาน รวมถึงอาหารสัตว์เลี้ยง เนื่องจากผู้คนใช้เวลาอยู่บ้านกับครอบครัวมากขึ้น”

ทั้งนี้ ในช่วงระยะหลายปีที่ผ่านมา บริษัทได้ลงทุนทั้งในธุรกิจหลักและธุรกิจที่มีอัตราการทำกำไรสูง อาทิ ธุรกิจส่วนประกอบอาหาร หรือ ingredients และเทคโนโลยีนวัตกรรมอาหาร สำหรับสถานการณ์โควิด-19 นั้น ยังเป็นสิ่งที่ทุกธุรกิจต้องเผชิญ โดยไทยยูเนี่ยนเองได้มีมาตรการต่างๆ และทำงานอย่างหนักเพื่อที่จะผลิตสินค้าได้อย่างต่อเนื่องเพื่อสนองความต้องการของลูกค้าของเราทั่วโลก

นายธีรพงศ์ กล่าวว่า นโยบายไทยยูเนี่ยนลงทุนในนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดในไตรมาสที่ 3 ของปี ได้จับมือกับฟู้ดเทคสตาร์ทอัพ 4 บริษัท โดย 3 บริษัทนั้นมาจากโครงการ สเปซ-เอฟ ที่ไทยยูเนี่ยนได้ร่วมก่อตั้งขึ้นในปี 2562

“วิสัยทัศน์ของไทยยูเนี่ยนคือร่วมสร้างระบบนิเวศน์สตาร์ทอัพเทคโนโลยีและนวัตกรรมอาหาร ไทยยูเนี่ยนเองได้มีการเริ่มทำตลาดผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่ผลิตจากโปรตีนจากพืชในประเทศไทย เนื่องจากผู้บริโภคมีความต้องการโปรตีนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืนมากขึ้น”

ทั้งนี้ บริษัทสตาร์ทอัพที่ไทยยูเนี่ยนได้ร่วมลงทุนได้แก่ มันนา ฟู้ดส์ ที่พัฒนาโปรตีนทางเลือก ส่วน อัลเคมี ฟู้ดเทค นั้นมุ่งเน้นในด้านอาหารสำหรับผู้ป่วย และ ไฮโดรนีโอ เป็นบริษัทที่นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำ ส่วนบริษัท วิสไวร์ส นิวโปรตีน เป็นผู้นำในการลงทุนในโปรตีนทางเลือก

“ถึงแม้ว่าตลาดโปรตีนทางเลือกในประเทศไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่สำหรับตลาดสินค้าประเภทดังกล่าวในระดับโลกนั้นถือว่ามีแนวโน้มการเติบโตที่สูงทีเดียว โดยปัจจุบันตลาดโปรตีนทางเลือกของโลกนั้นมีขนาดถึง 12,800 ล้านเหรียญสหรัฐ และยังมีแนวโน้มว่าจะเติบโตในช่วงระหว่าง ปี 2562-2568 ถึง 6.8% เฉลี่ยต่อปี “

ด้วยวิสัยทัศน์และนวัตกรรมของไทยยูเนี่ยนที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัทได้รับการยอมรับในระดับสากล ไม่ว่าจะเป็นการที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารได้รับการจัดอันดับโดยนิตยสาร Intrafish ในฐานะผู้ทรงอิทธิพลอันดับ 1 ในอุตสาหกรรมอาหารทะเลโลก

โดยได้รับรางว้ล SDG Impact Award จากเวที Responsible Business Award 2020 ด้วยโครงการต่างๆ ที่ริเริ่มเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ขององค์การสหประชาชาติ (UN SDGs) และล่าสุดไทยยูเนี่ยนยังได้รับการคัดเลือกให้ติดอันดับดัชนี FTSE4Good Emerging Index เป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน

“เรายังคงดำเนินธุรกิจโดยรักษาระดับกระแสเงินสด พิจารณาโอกาสต่างๆ ที่เข้ามา และบริหารจัดการสายการผลิตของเราโดยเน้นย้ำเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยเป็นสำคัญ เพื่อที่จะสามารถผลิตสินค้าคุณภาพให้กับผู้บริโภคทั่วโลกได้อย่างต่อเนื่อง” นายธีรพงศ์ กล่าว