บอร์ดบีโอไอ ออกมาตรการ EV ล็อต 2 ปั้มยอดส่งเสริมทะลุ 3แสนล้าน

บอร์ดบีโอไอ ไฟเขียวมาตรการชุดใหญ่ กระตุ้นการลงทุนส่งท้ายปี 2563 ฟื้นลงทุนกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าครอบคลุมทุกประเภทไม่มีกำหนดวันหมดเขต หนุนผู้ประกอบการปรับปรุงประสิทธิภาพ พร้อมผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพ ศูนย์กลางการค้า การลงทุน และเป็นฐานการผลิต เผย 9 เดือนยอดขอรับการส่งเสริม 262,470 ล้านบาท ลดลง 15%

นางสาวดวงใจ อัศวจิตนจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุน เพิ่มประเภทกิจการ ขยายเวลาและปรับปรุงมาตรการเดิม

ได้แก่ 1.เปิดให้การส่งเสริมกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) รอบ 2 โดย คลุมยานพาหนะไฟฟ้าทุกประเภท ทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถสามล้อ รถโดยสาร รถบรรทุก รวมถึงเรือที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ซึ่งมีเงื่อนไขว่าการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) กรณีลงทุนไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท ได้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี หากมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาก็สามารถได้รับสิทธิเพิ่ม

กรณีการลงทุนน้อยกว่า 5,000 ล้านบาท รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี และจะได้รับสิทธิเพิ่มขึ้นหากดำเนินการได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น เริ่มผลิตรถยนต์ภายในปี 2565 +1 ปี มีการผลิตชิ้นส่วนสำคัญเพิ่มเติมจากข้อกำหนดพื้นฐาน +1 ปี มีปริมาณการผลิตจริงมากกว่า 10,000 คันต่อปี +1 ปี และมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา +1 ปี

ถ้ามีโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบ PHEV ด้วย รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี และต้องการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าอย่างน้อย 3 ชิ้น

กิจการผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี และจะได้รับสิทธิเพิ่มขึ้นหากดำเนินได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น เริ่มผลิตภายในปี 2565 มีการผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้าที่เริ่มจากขั้นตอน Module มีการผลิตชิ้นส่วนสำคัญอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น Traction Motor และมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา

2.เปิดส่งเสริมกิจการศูนย์จัดหาจัดซื้อวัตถุดิบ ชิ้นส่วน และส่วนประกอบระหว่างประเทศ (International Procurement Office: IPO) อีกครั้งหลังยกเลิกไปก่อนนี้ ให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร และยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็นสำหรับการผลิตเพื่อส่งออก

3.เพิ่มประเภทกิจการใหม่ คือ 1.กิจการโรงพยาบาลผู้สูงอายุ รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี 2.กิจการศูนย์ดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี 3.กิจการวิจัยทางคลินิก ครอบคลุม 2 กิจการย่อย คือ กิจการสนับสนุนและบริหารจัดการการวิจัยทางคลินิก (Contract Research Organization: CRO) และศูนย์การวิจัยทางคลินิก (Clinical Research Center: CRC) รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ไม่จำกัดวงเงิน

4.ขยายมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ จนถึงวันทำการสุดท้ายของปี 2565 จากเดิมหมดอายุสิ้นปี 2564 และจะครอบคลุมถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากภาคเกษตร ในการดำเนินการให้ได้รับรองมาตรฐานต่างๆ เช่น มาตรฐานระบบการจัดการความปลอดภัยด้านอาหาร (ISO 22000) มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมระบบการจัดการป่าไม้แบบยั่งยืน (ISO 14061) เป็นต้น

ทั้งนี้ ยังคงให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นสัดส่วน 50% ของวงเงินในการปรับปรุง เป็นเวลา 3 ปี สามารถขอรับการส่งเสริมซ้ำจาก 4 ด้านได้ ได้แก่ 1.การปรับปรุวงประสอทธิภาพด้านการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทดแทน หรือการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 2.การปรับเปลี่ยนเครื่องจักร 3.การวิจัยและพัฒนา หรือออกแบบทางวิศวกรรม 4.การยกระดับไปสู่มาตรฐานเพื่อความยั่งยืนในระดับสากล

สำหรับยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนปี 2563 คาดว่าจะถึง 300,000 ล้านบาท จากมาตรการต่างๆ ที่ออกมากระตุ้น ซึ่งขณะนี้ 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย. 2563) มียอดขอรับการส่งเสริมแล้ว 262,470 ล้านบาท ลดลง 15% จำนวนโครงการ 1,088 โครงการ เพิ่มขึ้น 1% เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย 128,980 ล้านบาทหรือ 58% ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด เป็นพื้นที่ EEC มูลค่า 109,430 ล้านบาท จำนวน 313 โครงการ การลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) 118,504 ล้านบาท ลดลง 29% มีจำนวน 657 โครงการ