กนอ.ป้อง6นิคมเสี่ยงน้ำท่วม ตั้ง”ศูนย์ฉุกเฉิน”รับมือ24ชม.

แฟ้มภาพ

กนอ.ผนึกเอกชนรับมือน้ำท่วม ตั้งศูนย์เฝ้าระวัง 24 ชม. พร้อมระบบเตือนภัย-แผนฉุกเฉิน โฟกัส 6 นิคมอุตฯที่เคยน้ำท่วมใหญ่ปี”54 มั่นใจเอาอยู่ โรงสีชี้ที่นาภาคเหนือ อีสาน ลุ่มเจ้าพระยาไม่กระทบ พ่อค้าจ้องกดราคาช่วงผลผลิตทะลักเดือน พ.ย.-ธ.ค.

ปริมาณน้ำในเขื่อนทั้งขนาดใหญ่-กลางทั่วประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นมาก บวกกับฝนตกหนักในภาคเหนือ อีสาน เกิดน้ำท่วมหลายจังหวัด กรมชลประทานจึงต้องเร่งระบายน้ำออกจากเขื่อน

โดยน้ำเหนือไหลบ่าลงมาภาคกลางจำนวนมากกระทบพื้นที่ภาคกลางตอนบนจนถึงตอนล่าง ตั้งแต่ จ.นครสวรรค์ลงมาถึงพระนครศรีอยุธยา นนทบุรี ปทุมธานี และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ทำให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างเตรียมรับมือลดความเสี่ยงน้ำท่วมพื้นที่เกษตร แหล่งเศรษฐกิจการค้า นิคมอุตสาหกรรม ฯลฯ

กนอ.ผนึก 6 นิคมเฝ้าระวัง

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากที่หลายฝ่ายวิตกกังวลว่าจะเกิดน้ำท่วมในนิคมอุตสาหกรรมและที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมโดยเฉพาะลุ่มเจ้าพระยา ล่าสุด กนอ.ได้ประชุมหารือกับผู้ประกอบการนิคมฯเตรียมการรับมือ และโฟกัสเป้าหมาย 6 นิคมอุตสาหกรรมที่เคยถูกน้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2554 คือเขตประกอบการอุตสาหกรรมโรจนะ, บางปะอิน, ไฮเทค, สวนอุตสาหกรรมนวนคร, สวนอุตสาหกรรมบางกะดี และสหรัตนนคร

อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำขณะนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ระดับการเตือนภัยสีเขียว แต่ได้กำชับให้ศูนย์ปฏิบัติการ กนอ.เฝ้าระวังอุทกภัย และให้ติดตามสถานการณ์ข้อมูลข่าวสารการพยากรณ์อากาศแบบเกาะติดและสั่งการให้เตรียมพร้อมเครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ ในพื้นที่เฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน โดยเฉพาะนิคมอุตฯ ที่อยู่ในพื้นที่สุ่มเสี่ยง อย่างนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร จ.พระนครศรีอยุธยา รวมถึงนิคมอุตสาหกรรมบางปู จ.สมุทรปราการ

เตรียมแผนฉุกเฉินพร้อมรับมือ

“ทั้ง 6 นิคมเราใช้เกณฑ์จากน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 มาเป็นตัวกำหนด โดยเขื่อนคอนกรีตที่สร้างขึ้นทั้งหมดจะสูงกว่าระดับท่วมปี 2554 กว่า 1 เมตร ส่วนนิคมสหรัตนนครที่ยังคงเป็นคันดินนั้น ตอนนี้ได้เข้าไปซ่อมบำรุงรื้อพื้นเก่าและเสริมโครงเหล็กดินอัดให้แข็งแรงไว้แล้ว และนำอุปกรณ์เสริมอย่างบิ๊กแบ็กเขื่อนเคลื่อนที่ฉุกเฉินมาเสริมไว้ 6 นิคมอุตฯจึงยังไม่มีความเสี่ยงและไม่มีอะไรน่ากังวล”

ทั้งนี้ ทาง กนอ. กรมชลประทาน อุตสาหกรรมจังหวัด และเอกชนทุกรายได้ทำแผนบริหารจัดการ รวมถึงแผนเฝ้าระวังระดับจังหวัดและระดับภาคไว้แล้ว เพื่อวางแผนเรื่องระบบขนส่งไม่ให้กระทบลูกค้า โดยต้องแจ้งซัพพลายเออร์ คู่ค้าหากเกิดกรณีฉุกเฉิน เช่น แผนขนส่งทางรถไฟ เรือ เป็นต้น

นาข้าวไม่กระทบ

สำหรับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมและสถานการณ์น้ำภาคการเกษตร นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้เป็นช่วงที่พื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือเก็บเกี่ยวผลผลิตนาปรัง ปี 2560 หมดแล้ว จึงไม่กระทบมากนัก และที่รับทราบจากสมาชิกใน จ.นครสวรรค์ ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา นครนายก ยังไม่เกิดความเสียหายจากน้ำท่วม เพราะเป็นเพียงน้ำหลาก แต่บางพื้นที่ที่ลงนาปรังรอบใหม่ซึ่งอาจเสียหายแต่ไม่มากนัก

หอมมะลิเพิ่มเป็น 8 ล้านตัน

แหล่งข่าวจากโรงสีภาคกลางกล่าวว่า มีการปลูกข้าวนาปรัง ปี 2560 ในภาคกลางและลุ่มเจ้าพระยา และเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จตั้งแต่เดือน ก.ค.-ส.ค.หมดแล้ว แต่จะมีบางจังหวัดที่ปลูกข้าวในช่วงคั่นระหว่างนาปรังและนาปี ซึ่งเรียกกว่า “ข้าวตอ” ไถกลบข้าวที่หล่นในนา ให้ข้าวนั้นงอกขึ้นมาใหม่ โดยไม่ได้ลงทุนเมล็ดพันธุ์ หว่านไถ หรือใช้ยา เหมือนทำนาปกติ อาจเสียหายบ้าง ส่วนปลูกข้าวนาปรังรอบใหม่จะเริ่มเดือน ม.ค. 2561 หลังภาคอีสานเกี่ยวนาปีเสร็จแล้ว

โดยรอบนาปีจะเริ่มเกี่ยวตั้งแต่ ปลายเดือน ต.ค. 2560-ม.ค. 2561 ส่วนใหญ่เป็นข้าวหอมมะลิ คาดว่าปีนี้จะเพิ่มขึ้น 5-10% จาก 7 ล้านตัน เป็น 8 ล้านตัน ราคาข้าวมีแนวโน้มลดลง

“ในส่วนราคาส่งยังไม่ลดลงเพราะเป็นช่วงปลายฤดู ยังไม่มีของออก แต่ราคาข้าวสารหอมมะลิที่ผู้ส่งออกสั่งซื้อล่วงหน้าเพื่อส่งมอบเดือน ธ.ค. 2560 เริ่มลดลงเหลือตันละ 20,000 บาท จากปัจจุบันที่ตันละ 27,000-28,500 บาท เพราะผู้ส่งออกคาดการณ์ว่าช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. ผลผลิตนาปีออกมามากที่สุด

ราคารับซื้อข้าวเปลือกของสมาคม

โรงสีข้าวไทย ณ 11-12 ต.ค. 2560 ข้าวเปลือกเจ้า 5% (ความชื้นสูง 28-30%) ตันละ 6,000-6,300 บาท ความชื้น 15% ตันละ 7,500-7,600 บาท ข้าวเหนียวสันป่าตองปี 2560/2561 ตันละ 7,300 บาท

ปีก่อนราคาตันละ 9,500-10,000 บาท ข้าวเหนียว กข.6 ปี 2559/2560 ตันละ 7,200-7,700 บาท ลดลงจากปีก่อนที่ตันละ 13,000-13,500 บาทข้าวเปลือกหอมมะลิเก่า ปี 2559/2560 (ความชื้น 15%) ตันละ 13,000-13,800 บาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ซื้อเฉลี่ยตันละ 10,900-11,200 บาท

น้ำล้นเขื่อนอุบลรัตน์

นายณัฐวุฒิ แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ขณะนี้เขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณน้ำสูงถึง 2,754 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 113 (ณ วันที่ 13 ต.ค. 2560) “สูงเกินเกณฑ์ควบคุมอุทกภัยและยังมีน้ำไหลเข้าต่อเนื่องวันละ 119 ล้าน ลบ.ม.” จำเป็นต้องเพิ่มการระบายน้ำจากเดิมวันละ 34 ล้าน ลบ.ม. 37-40-43 และ 45 ล้าน ลบ.ม. ตามมติคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ จ.ขอนแก่นให้ระบายน้ำได้ โดยจะเริ่มระบายน้ำตั้งแต่ 13-16 ต.ค. 2560 จนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่สภาวะปกติ

“การระบายน้ำครั้งนี้ก็เพื่อรักษาเสถียรภาพของตัวเขื่อน และป้องกันไม่ให้น้ำเอ่อล้นข้ามคันดินไปยังพื้นที่เหนือเขื่อน ต.โนนสัง อ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภู ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนมากกว่า 38,000 ครัวเรือน แต่หากปริมาณน้ำของเขื่อนเพิ่มสูงขึ้นจนถึงระดับ 183 เมตรจากระดับน้ำะเล คณะกรรมการก็จะประชุมประเมินสถานการณ์ เพื่อดำเนินการตามกฎความมั่นคงปลอดภัยของเขื่อนต่อไป โดยน้ำที่ระบายออกมาจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ท้ายเขื่อนทั้งลำน้ำพอง ลำพะเนียง และแม่น้ำชี” นายณัฐวุฒิกล่าว