ป่าสักเต็ม-เขื่อนเจ้าพระยาเร่งระบายน้ำ รับมือพายุเข้ากลางเดือน ต.ค.

สำนักพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้วิเคราะห์สภาพอากาศในระหว่างวันที่ 15-17 ตุลาคม 2560 คาดว่าจะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านทะเลจีนใต้เข้ามาบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน

แต่เนื่องจากความกดอากาศสูง (มวลอากาศเย็น) จากประเทศจีนจะแผ่ลงมาบริเวณประเทศเวียดนามในช่วงเวลาดังกล่าว มีผลทำให้พายุอ่อนกำลังลงและไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรง สำหรับระยะนี้บริเวณประเทศไทยก็จะมี “ร่องมรสุม” พาดผ่านประกอบด้วย มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน-ภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักเกิดขึ้นในหลายพื้นที่

ด้านสถานการณ์น้ำในประเทศ ณ วันที่ 13 ตุลาคมนี้ ตัวเลขจากฝ่ายประมวลวิเคราะห์และสถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน รายงานสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำหลัก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อลุ่มน้ำเจ้าพระยาและกรุงเทพมหานครพบว่า เขื่อนภูมิพล มีปริมาตรน้ำใช้การได้ 5,287 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 55% ปริมาณน้ำไหลลงอ่าง 94.78 ล้าน ลบ.ม. ยังสามารถรับน้ำได้อีก 4,375 ล้าน ลบ.ม., เขื่อนสิริกิติ์ 5,066 ล้าน ลบ.ม. หรือ 76% น้ำไหลลงอ่าง 43.35 ล้าน ลบ.ม. ยังสามารถรับน้ำได้อีก 1,594 ล้าน ลบ.ม., เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 915 ล้าน ลบ.ม. หรือ 102% น้ำไหลลงอ่าง 22.21 ล้าน ลบ.ม. มีผลทำให้ต้องเร่งระบายน้ำออก 27.70 ล้าน ลบ.ม. และ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 908 ล้าน ลบ.ม. หรือ 95% แต่มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างถึงวันละ 41.28 ล้าน ลบ.ม. มีผลทำให้ต้องเร่งระบายน้ำออกวันละ 32.51 ล้าน ลบ.ม.

ขณะที่สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศที่รับน้ำเกินกว่า 80% ของความจุอ่าง และมีน้ำไหลเข้าอย่างต่อเนื่องจนต้องเร่งระบายน้ำออกมา จะมีเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน, เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนอุบลรัตน์ ปริมาตรน้ำใช้การได้ 2,145 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำไหลลงอ่าง 119.25 ล้าน ลบ.ม. จำเป็นต้องเร่งระบาย 36.91 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาพบว่า น้ำจากแม่น้ำปิง (820 ล้าน ลบ.ม./วินาทีที่ P.17) กับ แม่น้ำน่าน+ยม (1,506 ล้าน ลบ.ม./วินาทีที่ N.67) ยังมีปริมาณมาก เนื่องจากมีฝนตกอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ต้นน้ำทำให้ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ 2,719 ล้าน ลบ.ม./วินาที มีความจำเป็นต้องเร่งระบายน้ำสูงสุดอยู่ที่

2,600 ล้าน ลบ.ม./วินาที โดยในวันนี้ระบายอยู่ที่ 2,560 ล้าน ลบ.ม./วินาทีแล้ว ส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ คลองโผงเผง คลองบางบาล อ.เสนา แม่น้ำน้อย อ.ผักไห่ อยู่ระหว่าง 0.50-1 เมตร

ส่วนลุ่มน้ำป่าสักมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์อย่างต่อเนื่อง (41.28 ล้าน ลบ.ม.) มีผลทำให้ต้องเร่งระบายน้ำออกวันละ 30.29 ล้าน ลบ.ม./วินาที ซึ่งน้ำระบายจำนวนนี้เมื่อไปรวมกับปริมาณน้ำจากคลองชัยนาท-ป่าสักแล้ว จะมีน้ำไหลผ่านลงสู่ท้ายเขื่อนพระราม 6 ประมาณ 510 ล้าน ลบ.ม./วินาที ทำให้พื้นที่ริมแม่น้ำป่าสัก อ.ท่าเรือ ไปจนถึงจุดบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยา ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีระดับน้ำเพิ่มขึ้นในพื้นที่ลุ่มต่ำมีน้ำท่วมสูง

และเมื่อแม่น้ำเจ้าพระยา ไหลมารวมกับแม่น้ำป่าสัก ในวันนี้ (13 ต.ค. 60) มีปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีบางไทร (C.29A) อยู่ที่ปริมาณ 2,560 ล้าน ลบ.ม./วินาที ซึ่งถือว่ายังไม่อยู่ในระดับวิกฤต (เกินกว่า 3,500 ล้าน ลบ.ม./วินาทีในปี 2554) มีผลทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำและอยู่นอกพนังกั้นน้ำเกิดน้ำท่วมในระดับตั้งแต่ 0.50-1.50 เมตรได้

ทั้งนี้ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านสถานีบางไทร ในระดับ 2,560 ล้าน ลบ.ม./วินาทีนั้น เกิดจากการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน ที่ระบายน้ำเข้าไปในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาได้ 145 ล้าน ลบ.ม./วินาที กับ ฝั่งตะวันตก 376 ล้าน ลบ.ม./วินาที ทั้ง 2 ฝั่งรับน้ำไปแล้วรวมกันวันละ 522 ล้าน ลบ.ม.วินาที (เต็มศักยภาพอยู่ที่ 700 ล้าน ลบ.ม./วินาที) โดยน้ำที่รับไว้จะอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำรับน้ำเข้าไปเก็บไว้ใน 12 ทุ่ง และด้วยวิธีการนี้ กรมชลประทานสามารถ “ลดยอด” ปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างได้มากกว่า 980 ล้าน ลบ.ม. (เต็มศักยภาพจะอยู่ที่ประมาณ 1,500 ล้าน ลบ.ม.) เท่ากับยังเหลือพื้นที่ที่จะรับน้ำได้อีก 1,500 ล้าน ลบ.ม.ที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมได้ในระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์น้ำท่วมในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาจะวิกฤตหรือรุนแรงขึ้นมากไปกว่านี้จะขึ้นอยู่จำนวนพายุและปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงสู่พื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฝนตก “ท้ายเขื่อน” ภูมิพลและสิริกิติ์ (2 เขื่อนยังสามารถรับน้ำรวมกันได้อีก 5,969 ล้าน ลบ.ม.) ซึ่งไม่มีใครสามารถยืนยันได้ว่า ต่อจากนี้จะมีพายุพัดผ่านประเทศไทยอีกกี่ลูก โดยกรมอุตุนิยมวิทยา ได้พยากรณ์อากาศหลังวันที่ 17 ตุลาคมตามข้อมูลแบบจำลอง ณ วันที่ 12 ตุลาคม 2560 ไว้เพียงว่า “ยังมีโอกาสที่จะมีพายุก่อตัวขึ้นบริเวณทะเลจีนตอนใต้” เท่านั้น