แห่งแรก “โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ” ในนิคมฯมาบตาพุด เอกชนซื้อไฟได้ปี 64

“สุริยะ” จับมือ กฟภ.-กนอ. ศึกษาโครงการตั้งโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด 20 เมกะวัตต์ ทุ่มกว่า 1,000 ล้านบาท พร้อมขายไฟได้ปี 64 รับแทรนด์รกษ์โลกสอดรับนโยบาย “โจ ไบเดน” ก่อนขยายไปอีก 3 แห่ง นิคมอุตสาหกรรมสงขลา นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ (ลำพูน) และนิคมอุตสาหกรรมแก่งคอย ครบ 60 เมกะวัตต์ กว่า 2,400 ล้านบาท

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยหลังเป็นประธานสักขีพยานพิธีลงนามบันทึกร่วมมือโครงการจัดการพลังงานในนิคมอุตสาหกรรมด้วยระบบทิจิทัลและการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) ว่า กฟภ. เตรียมเริ่มโครงการศึกษาเพื่อลงทุนติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในอ่างเก็บน้ำ หรือโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ (Floating Solar Farm) มูลค่า 1,000 ล้านบาท ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดขนาด 20 เมกะวัตต์ เพื่อทำการขายไฟให้กับโรงงานอุตสาหกรรมภายในนิคมฯ ภายใต้นโยบาย Smart Energy ซึ่งจะทำการขายไฟได้ในปี 2564

ทั้งนี้ นโยบาย Smart Energy สอดรับกับนโยบายของ นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นอีกส่วนสำคัญในการสนับสนุน ให้เกิดการส่งเสริมพลังงานทดแทนในประเทศไทย รวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ที่จะมุ่งไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่จะเน้นในเรื่องของ BCG (Bio,Circular,Green) ที่จะต้องมุ่งอุตสาหกรรมสีเขียว

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า จากนั้นจะขยายไปยังนิคมอุตสาหกรรมอื่นอีก 3 แห่งตามแผน คือ นิคมอุตสาหกรรมสงขลา อ.ฉลุง จ.สงขลา, นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน และนิคมอุตสาหกรรมแก่งคอย จ.สระบุรี รวมเป็น 4 พื้นที่ ขนาด 60 เมกะวัตต์ คิดเป็นเงินลงทุนเบื้องต้นประมาณ 1,800 -2,400 ล้านบาท (30-40 ล้านบาท/1เมกะวัตต์) โดยเป้าหมายของ กนอ. มุ่งที่จะพัฒนาไปสู่นิคมอุตสาหกรรม 4.0 ด้วยการใช้เทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงานมาเป็นระบบสมาร์ทกริด ในการจัดการส่งจ่าย เชื่อมโยง และลดสูญเสียพลังงานและเน้นดูแลสิ่งแวดล้อมที่สอดรับกับเทรนด์ของโลก

นายสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กล่าวว่า กฟภ.จะเป็นผู้ลงทุนหลักและอาจจะมีการเชิญชวนเอกชนที่สนใจเข้ามาร่วมพัฒนา เบื้องต้นจะนำร่องที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด 20 เมกะวัตต์สามารถจ่ายไฟเข้าระบบได้ภายในปี 2564 จากนั้นจึงจะทยอยติดตั้งในอีก 3 นิคมอุตสาหกรรมที่เหลือ โดยจะเน้นการจำหน่ายไฟฟ้าให้กับลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม และยังเป็นการส่งเสริมพลังงานสะอาด โดย กนอ. สามารถนำไปโรดโชว์ดึงการลงทุนได้เพราะต่อไปอุตสาหกรรมจะต้องมุ่งดูแลสิ่งแวดล้อมตามเทรนด์โลกมากขึ้น