ยุทธศาสตร์ของไทย ยุทธศาสตร์ของใคร

ท่าเรือ ส่งออก
คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ
กษมา ประชาชาติ

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาหนึ่งในกระแสเศรษฐกิจที่ฮือฮากับไทยมากที่สุด คือ การที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐสมัยที่ 2 ประกาศตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) สินค้าไทย 231 รายการ มูลค่าส่งออกถึง 25,000 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าภาษี 600 ล้านบาท โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2563 นี้เป็นต้นไป จากเหตุที่ไทยไม่เปิดตลาดนำเข้าเนื้อหมูสหรัฐ เพราะใช้สารเร่งเนื้อแดง ซึ่งเป็นประเด็นที่กระทบต่อฐานเสียงของทรัมป์

การประกาศตัด GSP ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 หลังจากไทยถูกตัดสิทธิ GSP เมื่อเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมา 573 รายการ มีมูลค่า 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 40,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อนับรวมกันแล้วจะมีจำนวนมากกว่า 800 รายการ

ประเด็นที่กำลังจะตามมาก็คือสิ้นปีนี้สหรัฐจะพิจารณาทบทวนโครงการการให้สิทธิ GSP กับสินค้าไทยทั้งโครงการ ซึ่งเป็นระเบียบที่ต้องทำทุก ๆ 3 ปี นั่นหมายถึงว่าไทยมีความเสี่ยงที่จะต้องถูกตัดสิทธิทั้งโครงการ ต้องกลับไปสู่การแข่งขันแบบที่ไม่มีแต้มต่อทางภาษีมาช่วย

กรมการค้าต่างประเทศในฐานะทัพหน้าเดินหน้าอย่างเต็มที่ แต่ลึก ๆ แล้วการตัดสิทธิจีเอสพีไม่น่าจะใช่เพียงแค่เรื่องการค้า แต่น่าจะเป็นเรื่องการเมืองระหว่างประเทศด้วยเสียมากกว่า หากใครที่อยู่แก๊งทรัมป์ก็จะไม่ถูกทำโทษ อะไรประมาณนั้น แต่ถ้าใครอยู่นอกแก๊งจะถูกทำโทษจากขั้นเบาไปหาขั้นหนัก ตัดภาษีบ้าง ไปจนถึงคว่ำบาตรขั้นรุนแรง (ในความรู้สึก)

อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกไทยต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนและยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่า การให้สิทธิ GSP เป็นการให้ “ฝ่ายเดียว” ให้โดยเสน่หา เมื่อไม่เสน่หาก็ไม่ให้ นั่นหมายความว่าจะถูกตัดสิทธิเมื่อไรก็ได้ จะมาหวังใช้ GSP ตลอดไปไม่ได้

ดังนั้น เอกชนต้องปรับตัว สร้างจุดแข็งให้สินค้าพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ต่อยอดนวัตกรรม หาตลาดใหม่รองรับ บลา ๆ ตามนั้นเลย

แต่อีกเรื่องที่คนมักลืมนึกถึงกันว่า นอกจากการผลักให้เอกชนต่อสู้บนสนามรบแล้ว ภาครัฐได้วางยุทธศาสตร์การค้าระยะยาวอย่างไร?

ยกตัวอย่างชัด ๆ ที่มีให้เห็นเลยคือ “กัมพูชา” ซึ่งเดิมจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้าจากสหภาพยุโรป คล้าย ๆ กับไทย ที่เรียกว่า everything but arms : EBA แต่อียูเพิ่งตัดสิทธินี้ไปเมื่อปีก่อน โดยให้เหตุผลว่าวิตกกังวลถึงเรื่องปัญหาสิทธิมนุษยชนในกัมพูชา ส่งผลให้สินค้าสำคัญของทางกัมพูชา ทั้งสิ่งทอและรองเท้าที่จะส่งออกไปอียูต้องกลับไปเสียภาษีในอัตราปกติ

ซึ่งก็กระทบไทยกลาย ๆ เพราะมีผู้ส่งออกไทยไปลงทุนสร้างโรงงานในกัมพูชา และได้สิทธิประโยชน์นั้นด้วย แต่ปรากฏว่าถามไปที่เอกชนไทยกลับไม่เดือดเนื้อร้อนใจ คุยแผนการตลาดกับลูกค้าต่อเนื่องหลายปีเลย โดยเขาอธิบายว่า ทันทีที่ถูกตัดสิทธิดังกล่าว บิ๊กรัฐบาลกัมพูชาเร่งผลักดันการหาตลาดทดแทนสหภาพยุโรปโดยทันที ซึ่งหนึ่งในตลาดที่กัมพูชามุ่งไปก็คือ “จีน”

กัมพูชาก็ได้สร้างปรากฏการณ์เจรจาความตกลงเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กัมพูชา-จีน แบบทวิภาคีฉบับแรกของประเทศเสร็จในเวลาเพียง 1 ปี โดยเพิ่งจะลงนามไปเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา มีพิธีลงนามใหญ่โตที่กรุงพนมเปญ โดยมีท่านหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐของจีน และนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ร่วมเป็นสักขีพยานด้วย พอลงนามเสร็จท่านหวัง อี้ ก็เดินทางมาเยือนไทยต่อ

ประเด็นนี้สะท้อนภาพความชัดเจน ของ “นโยบายรัฐบาลกัมพูชา” ยุคใหม่ มุ่งปฏิรูปนโยบายทางเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดการจ้างงาน

สำหรับเนื้อหาของความตกลงนี้ครอบคลุมทั้งการค้าสินค้า การบริการท่องเที่ยว และการเกษตร ซึ่งไทยต้องย้อนกลับมามองว่าความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชา-จีนที่แน่นแฟ้นขึ้นเรื่อย ๆ เทียบกับไทยที่มองว่าจีนเป็นพันธมิตร แต่ขายอะไรทำสัญญาอะไรก็ยังไม่จบเลย เช่น จีทูจีข้าวยาวนานกี่ปีมาแล้ว

ไม่เพียงเท่านั้น ตอนนี้ปัญหาการเมืองในประเทศของไทยก็เป็นที่รู้กัน (ไม่ต้องพูดถึง) ส่วนการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจละเป็นอย่างไร? นอกจากคำว่า ไทยแลนด์ 4.0 EEC ในสมัยอดีตรองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เคยรังสรรค์ไว้แล้วมีใครให้มากกว่านี้ไหม

อย่าไปถามถึง “ยุทธศาสตร์แผนระยะยาวหรืออะไรเลย” ทุกอย่างถูกโยงไปกับความนิยมทางการเมือง อะไรที่ทำแล้วเสียความนิยมก็ยากที่จะได้เห็น จึงไม่แปลกที่จะเห็นแต่งานตัดริบบิ้นรายวัน