GC ผนึกบิ๊กธุรกิจเดินหน้า Circular Economy จัดการขยะพลาสติกสู่ Product ใหม่

GC ผนึกกำลังพันธมิตร อาทิ ไทยเบฟ ไทยยูเนี่ยน จัดงานประชุมระดับโลก GC Circular Living Symposium 2020: Tomorrow Together ชู Circular in Action จากแนวคิดสู่การปฏิบัติจริง แปลงขยะพลาสติกให้เป็นสินค้าใหม่ ลุ้นการเจรจาหาพันธมิตรร่วมทุนในโครงการปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ ที่สหรัฐฯ เงินลงทุนกว่า 200,000 ล้านบาท
 
นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา GC ดำเนินธุรกิจโดยยึดหลักความยั่งยืน ด้วยการสร้างสมดุล ระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม พร้อมนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาประยุกต์ใช้ในองค์กร ภายใต้แนวคิด GC Circular Living พร้อมจัดทำโครงการต่างๆ ที่เน้นให้เกิดการปฏิบัติได้จริง สร้างความร่วมมือและขยายผลด้วยวิธี

คงกระพัน อินทรแจ้ง
คงกระพัน อินทรแจ้ง

1.Smart Operating การนำเทคโนโลยีแบบใหม่มาพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิต เป้าหมายลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) จากกระบวนการผลิตลง 20% ภายในปี 2030 เป็นต้น

2.Responsible Caring การคิดค้น พัฒนา และออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการนำขยะพลาสติกมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่

3.Loop Connecting การสร้างและขยายความร่วมมือร่วมกับทุกภาคส่วน รวมถึงผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อขยายผลสำเร็จและเชื่อมต่อธุรกิจให้ครบวงจร

 

อย่างไรก็ตาม แนวทางการดำเนินธุรกิจ GC ยังคงมุ่งด้าน Circular และยังคงเดินหน้าโครงการปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ ที่รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา มูลค่ากว่า 200,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาหาพันธมิตรเพื่อร่วมทุน คาดว่าจะมีความชัดเจนกลางปี 2564

เช่นเดียวกับโครงการลงทุนไบโอพลาสติกชนิด PLA แห่งที่ 2 ซึ่งเป็นการร่วมทุนกันกับ บริษัท เนอเจอร์เวิร์ค ของสหรัฐฯ โครงการยังคงอยู่เพียงแต่รอ ความชัดเจนจากเนเจอร์เวิร์คฯ ในการตัดสินใจตั้งในพื้นที่โครงการนครสวรรค์ ไบโอคอมเพล็กซ์ เฟส 2

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า รัฐให้ความสำคัญกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ขับเคลื่อนการรับรู้การมีส่วนร่วมผ่านทุกช่องทาง โดยนำเทคโนโลยี นวัตกรรมมาใช้แปรรูปขยะพลาสติกกลับมาใช้ใหม่มาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ

ส่วนแนวทางการลด และเลิกการใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้ง ทั้งถุงพลาสติกหูหิ้ว กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติก และหลอดพลาสติก ในปี 2565 ยังคงเป้าหมายเดิม

นายธีโอ แจน ไซม่อนส์ พาร์ทเนอร์จากแมคคินซี่ คอมพานี ประเทศเยอรมนี กล่าวว่า ทั่วโลกมีนโยบายลดจำนวนการใช้พลาสติก มีโมเดลต้นแบบออกมามาก เช่นเดียวกับที่ GC ดำเนินงานไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ชัดเจนและทำมากขึ้น โดยการนำพลาสติกกลับใช้ใหม่ตามทฤษฎีแวลูเชน และอาศัยนวัตกรรม ตั้งแต่ออกแบบการใช้ การค้นหาวิธีเพื่อรีไซเคิล นำกลับมาใช้ใหม่

ทั้งนี้ การจัดงานใน GC Circular Living Symposium 2020 ปีที่ 2 นี้ จะมุ่งเน้นจากแนวคิดสู่การปฏิบัติจริง (Circular in Action) นำแนวทาง GC Circular Living มาปรับใช้ตั้งแต่ในชีวิตประจำวัน จนถึงการดำเนินธุรกิจ ภายในงานนี้ผู้เข้าร่วมงานจะได้เรียนรู้จากผู้นำองค์กรและผู้ขับเคลื่อน Circular Economy หลากหลายวงการทั่วโลกกว่า 40 คน

ทั้งในด้านวิสัยทัศน์และกลยุทธ์การบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน การบริหารจัดการขยะอัจฉริยะ นวัตกรรมการรีไซเคิลและอัพไซเคิล การผสานทักษะของชุมชนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะ เรียนรู้แนวคิดการออกแบบผลิตภัณฑ์สุดสร้างสรรค์ การใช้นวัตกรรมและความร่วมมือเพื่อต่อสู้กับ COVID-19 รวมถึงการเปลี่ยนไอเดียเป็นธุรกิจ ในรูปแบบ SMEs/Startups