พาณิชย์บุรีรัมย์ ร่วมหน่วยงานรัฐเตรียมแผนรับมือผลผลิตข้าวหวั่นราคาตก

ภาพ : Pixabay

“พาณิชย์บุรีรัมย์” ประชุมร่วมผู้ว่าราชการจังหวัด เกษตรจังหวัด ทำแผนรับมือราคาข้าว หลังผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาด เตรียมผลักดันเกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลินำข้าวเก็บในยุ้งฉาง

นายปรารภ ลิไธสง พาณิชย์จังหวัดบุรีรัมย์ เปิดเผยว่า สำนักงานพาณิชย์จังหวัดบุรีรัมย์ ได้เข้าร่วมประชุมกับนายธัชกร หัตถาธยากูล ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เกษตรจังหวัดบุรีรัมย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามสถานการณ์ราคาข้าวปีการผลิต 2563/64 และร่วมกันหาแนวทางและมาตรการเตรียมการป้องกันปัญหาราคาข้าวที่มีแนวโน้มตกต่ำ หลังจากที่ผลผลิตข้าวนาปีได้เริ่มทยอยออกสู่ตลาด

โดยผลผลิตข้าวนาปีของจังหวัดบุรีรัมย์คาดว่าจะมีปริมาณ 1,089,629 ตัน ร้อยละ 90 เป็นข้าวหอมมะลิ และร้อยละ 10 เป็นข้าวเจ้าและข้าวเหนียว ปลูกไว้เพื่อการบริโภค

ทั้งนี้ ปัจจุบันเกษตรกรได้เริ่มเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว โดยข้าวเปลือก กข.15 ได้เริ่มเก็บเกี่ยวมาตั้งแต่วันที่ 19 ต.ค. 2563 และจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน พ.ย. 2563 ส่วนข้าวหอมมะลิ 105 จะเริ่มเก็บเกี่ยวตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย. 2563 เป็นต้นไป คาดว่าจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จในสัปดาห์แรกของเดือน ธ.ค. 2563

“ขณะนี้โรงสีในจังหวัดบุรีรัมย์ เพิ่งเปิดรับซื้อข้าวเปลือก โดยจังหวัดบุรีรัมย์ มีโรงสีทั้งสิ้น 22 ราย กำลังการผลิต 3,493 ตันต่อวัน กำลังการอบลดความชื้น ประมาณ 5,000 ตันต่อวัน ท่าข้าว 83 ราย หากเกษตรกรนำผลผลิตออกมาจำหน่ายมากจนเกินไป อาจทำให้เกินกำลังการรับซื้อและทำให้ราคาลดลงได้อีก ซึ่งสำนักงานฯ จะเร่งประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรชะลอการขายข้าวตามโครงการที่คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ได้อนุมัติมาแล้ว”

นายปรารภ กล่าวว่า เกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิ สามารถที่จะเก็บข้าวเปลือกภายใต้โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2563/64 เป้าหมาย 1.5 ล้านตัน โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะจ่ายเงินสินเชื่อให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการตันละ 11,000 บาท และยังได้ค่าฝากเก็บตันละ 1,500 บาท สำหรับเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางของตนเอง แต่ถ้าเป็นสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเข้าฝากเก็บ จะได้ตันละ 1,000 บาท เกษตรกรได้ 500 บาท

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเสริมที่จะนำมาใช้ในการผลักดันราคาข้าวเปลือกให้ปรับตัวสูงขึ้นอีก ได้แก่ โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร สหกรณ์เสียดอกเบี้ยร้อยละ 1 เป้าหมาย 1.5 ล้านตัน และโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการร้อยละ 3 เป้าหมาย 4 ล้านตัน