เงื่อนไขควบรวมเทสโก้ไม่ชัด รอ 60 วัน “อุทธรณ์” คำสั่ง กขค.

โลตัส

ดีลควบรวม 3 แสนล้านรออีก 60 วัน “ซี.พี.” มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่ง กขค.ต่อศาลปกครอง ปมเงื่อนไขควบรวมธุรกิจ 7 ข้อยังไม่เคลียร์ ส่วนเสียงค้าน 3 เสียงไม่กระทบคำสั่ง เชื่อดีลนี้ช่วยนักลงทุนมั่นใจทำธุรกิจในไทย

หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 มีมติ 4 ต่อ 3 เสียงในการพิจารณาอนุญาตให้รวมธุรกิจระหว่างบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด มูลค่าดีล 3 แสนล้านบาท ตาม พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้าปี 2560

โดยระบุว่า การรวมธุรกิจดังกล่าวส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ขออนุญาตรวมธุรกิจซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาดในตลาดร้านค้าปลีกสมัยใหม่สินค้าอุปโภคบริโภคประเภทร้านค้าปลีกขนาดเล็กจะมีอำนาจตลาดเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่เป็นการผูกขาด

และมีความจำเป็นตามควรทางธุรกิจ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการส่งเสริมการประกอบธุรกิจเพิ่มมากขึ้น ทั้งยังได้กำหนดเงื่อนไข 7 ข้อ และด้วยความเห็นที่แตกต่างของคณะกรรมการในการพิจารณาทำให้สังคมจับตามองถึงผลที่จะเกิดขึ้นภายหลังจากการควบรวม

แหล่งข่าวในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกกล่าวว่า ขณะนี้บริษัทผู้ยื่นคำร้องยังมีเวลาอีก 60 วันนับจากวันแจ้งผลพิจารณาว่าจะอุทธรณ์คำสั่ง กขค.หรือไม่ ซึ่งแม้ว่าจะมีการอนุมัติให้ควบรวมได้แล้วก็จริง แต่ทางผู้ร้องยังต้องทำความเข้าใจกับ กขค.เพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องแนวปฏิบัติ 7 ข้อว่าเข้าใจถูกต้องตรงกันหรือไม่ เพราะยังไม่ได้เห็นรายละเอียดที่ชัดเจน มีบางข้อความที่อาจนำไปสู่การตีความที่แตกต่างกันได้ เช่น คำว่าเครดิตเทอมที่เข้าใจกัน หมายถึงระยะเวลาในการชำระเงินค่าสินค้าว่าให้ชำระภายในกี่วัน

แต่ในมุมของธุรกิจค้าปลีกอาจเกี่ยวโยงถึงค่าใช้จ่ายที่เรียกว่า ฟรอนต์มาร์จิ้น/แบ็กมาร์จิ้นหรือไม่ ซึ่งหากหมายความถึง 2 คำนี้จะเกี่ยวข้องกับซัพพลายเออร์ คือ การขายสินค้าใหม่เข้าสู่ช่องทางค้าปลีก จะต้องมีค่าฟรอนต์มาร์จิ้น หากยิ่งเป็นห้างที่มีความนิยมสูง จะมีค่าใช้จ่ายสูงด้วย การจ่ายเงินก็มีเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

“การกำหนดเงื่อนไขการควบรวมเป็นเรื่องปกติในทางปฏิบัติ หรือ normal practice ที่ต้องดำเนินการอยู่แล้ว ทำมาตั้งแต่การควบรวมธุรกิจค้าปลีกก่อนหน้านี้ที่ยังไม่มีกฎหมายฉบับนี้ก็มีการเรียกไปดูสัญญา ที่ต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจน เพราะหากปฏิบัติผิดข้อบังคับภายในระยะเวลาที่กำหนดก็อาจจะส่งผลต่อการทำธุรกรรมควบรวมได้ ซึ่งก็ต้องไปหารือกรรมการว่าข้อบังคับที่ห้ามคืออะไร สเต็ปถัดไปหลังจากเคลียร์เรื่องเงื่อนไข 7 ข้อแล้ว ก็ต้องมาดูว่าจะมีการเปิดให้เจรจาในประเด็นใดหรือไม่หากปฏิบัติไม่ได้ จากนั้นเมื่อได้ข้อสรุปทั้งหมดจึงจะนำไปสู่กระบวนการชำระเงินตามที่ได้ตกลงกันไว้”

“ส่วนประเด็นการที่มีความเห็นต่างกันในการลงคะแนนของกรรมการนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะผลของการพิจารณานี้ในมุมของผู้ประกอบการค้าปลีกภายนอกมองว่า ไม่ใช่เป็นเพียงแค่เรื่องการรวมธุรกิจหรือโครงสร้างตลาดเท่านั้น แต่ยังมีผลเชื่อมโยงถึงความมั่นใจในการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศที่กำลังพิจารณาลงทุนในประเทศไทย ดังนั้นย่อมเป็นไปได้ที่กรรมการที่มีความเชี่ยวชาญแต่ละด้านจะมีมุมมองที่ต่างกัน ซึ่งผู้ที่พิจารณาต้องพิจารณรอบคอบอยู่แล้วทุกด้าน ว่าถ้าอนุมัติหรือไม่อนุมัติจะมีผลอย่างไร ผู้ที่อนุมัติก็อาจมองบียอนด์ทรานแซ็กชั่นนี้ไปถึงเรื่องการลงทุนภาพรวมก็เป็นไปได้”

ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลักกฎหมายระบุว่า หลังจาก กขค.พิจารณาและออกคำสั่งทางปกครองแล้ว หากผู้ร้องยังมีข้อสงสัยในคำสั่งทางปกครอง ไม่สามารถที่จะมาเจรจาได้ ต้องยื่นคำร้องไปที่ศาลปกครองอย่างเดียวภายใน 60 วัน นับจากที่สำนักงานแข่งขันทางการค้าได้แจ้งหนังสืออย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2563 หรือประมาณ 6 มกราคม 2564 ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งก็มีจะมีความผิดตามกฎหมาย (มาตรา 51 โทษปรับไม่เกิน 0.5% ของมูลค่าดีลควบรวม)

สำหรับ 7 เงื่อนไขในการควบรวม ประกอบด้วย

1) ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตให้รวมธุรกิจและผู้ประกอบธุรกิจที่มีสถานะเสมือนเป็นหน่วยธุรกิจเดียวกัน กระทำการรวมธุรกิจกับผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นในตลาดร้านค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่สินค้าอุปโภคบริโภค 3 ปี ไม่รวมตลาดอีคอมเมิร์ซ (e-Commerce)

2) ให้ บมจ.ซีพี ออลล์ และ บจ.เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม เพิ่มสัดส่วนยอดขายสินค้า SMEs ประกอบด้วยกลุ่มสินค้าเกษตร ชุมชน วิสาหกิจชุมชน หรือโอท็อป 10% ต่อปี เป็นระยะเวลา 5 ปี

3) ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตให้รวมธุรกิจและผู้ประกอบธุรกิจที่มีสถานะเสมือนเป็นหน่วยธุรกิจเดียวกัน ใช้ข้อมูลร่วมกันหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการตลาด ฯลฯ โดยให้ถือว่าเป็นความลับทางการค้า

4) ให้ บจ.เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม คงเงื่อนไขสัญญาและข้อตกลงระหว่างผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายสินค้าหรือวัตถุดิบรายเดิมไว้ เป็นระยะเวลา 2 ปี เว้นแต่เปลี่ยนแปลงสัญญาเป็นคุณต่อผู้ผลิตหรือซัพพลายเออร์

5) ให้ บมจ.ซีพี ออลล์ บจ.เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม กำหนดเวลาให้สินเชื่อการค้า (credit term) 30-45 วันกับซัพพลายเออร์ เป็นระยะเวลา 3 ปี อาทิ สินค้าเกษตร 30 วัน สินค้าอื่น ๆ ไม่เกิน 45 วัน

6) ให้ 2 บริษัทรายงานผลประกอบการรายไตรมาสกับ กขค.เป็นเวลา 3 ปี

7) ให้กำหนดมาตรฐานในการปฏิบัติทางการค้าที่ดี (code of conduct) เผยแพร่ต่อสาธารณชน และถือปฏิบัติตามมาตรฐานดังกล่าว ตลอดจน
ประกาศของ กขค.