CEO ปรับแผนรับวิกฤต 3 ปี ยื้อลงทุน-ชี้เศรษฐกิจไม่เหมือนเดิม

ซีอีโอธุรกิจปรับแผนตั้งรับวิกฤตลากยาว 3 ปี “ผยง ศรีวณิช” แบงก์กรุงไทย ชี้ต้องเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่รับมือโลกหลังโควิดที่ไม่เหมือนเดิม คีย์เวิร์ดสำคัญ “ระมัดระวัง-ยืดหยุ่น” ชี้โจทย์ธุรกิจไม่มุ่งการเติบโตแต่เน้นดูแลลูกหนี้ เคแบงก์ชู 2 แนวทางสู้วิกฤต “เติมสภาพคล่องลูกค้า-ปรับองค์กร” “โอสถสภา” ปรับโหมดการทำงาน-ระวังการลงทุน “ธีรพงศ์ จันศิริ” แห่งทียูยึดคัมภีร์ “กอดเงินสด-ลดหนี้-ลดต้นทุน” มาสด้าห่วงสถาบันการเงินเข้มสินเชื่อหลังหนี้เสียเพิ่มยิ่งซ้ำเติมกำลังซื้อ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เข้ามากระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศครั้งนี้เป็นวิกฤตที่รุนแรงและลากยาว ซึ่ง ธปท.ประเมินว่ากว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นกลับมาเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 จะต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปี ดังนั้นแนวนโยบายการแก้ปัญหาก็ต้องปรับเปลี่ยนและต้องตรงจุดมากขึ้น ขณะเดียวกันในส่วนของภาคธุรกิจเอกชนต่าง ๆ ก็ต้องมีการปรับแผนเพื่อรับมือกับวิกฤตที่ลากยาว รวมทั้งระบบเศรษฐกิจที่แม้จะฟื้นกลับมาแต่ก็ไม่เหมือนเดิม

เคแบงก์รับมือยาว 3 ปี

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธนาคารได้ประเมินภาพเศรษฐกิจไทยภายใต้สถานการณ์โควิด-19 จะใช้เวลาในการฟื้นตัวกลับมาเหมือนช่วงก่อนโควิด-19 อาจจะใช้เวลาและลากยาว 2-3 ปี ซึ่งแม้ว่าจะมีข่าวดีในเรื่องของวัคซีนคุ้มกันโรคโควิด-19 เข้ามา แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้สมมติฐานที่ทุกคนได้รับวัคซีนหมดแล้ว

โดยระหว่างนี้ธนาคารมี 2 โจทย์ใหญ่ที่จะต้องดำเนินการ คือ 1.การต่อสู้เพื่อให้รอดจากวิกฤตไปให้ได้ สิ่งที่ธนาคารทำคือการใส่เม็ดเงินให้กับภาคธุรกิจผ่านการให้สินเชื่อหมุนเวียนให้กับธุรกิจและผู้ประกอบการต่าง ๆ เพื่อจะได้ให้อยู่รอดและสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้เมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ อย่างไรก็ดีการช่วยเหลือก็ต้องเลือกช่วยเหลือคนที่คิดว่าจะสามารถไปรอดได้ด้วย เพราะต้องยอมรับว่าธนาคารมีฐานเงินทุนที่ค่อนข้างจำกัด

เปลี่ยนโยบายสาขา-พนักงาน

โจทย์ที่ 2 คือการปรับกลยุทธ์ผ่านการคิดใหม่ (rethink) รวมถึงการปรับทักษะพนักงาน เนื่องจากขณะนี้ลูกค้าใช้บริการสาขาธนาคารน้อยลง ซึ่งตัวเลขธุรกรรมผ่านสาขาหายไปกว่า 40% ในช่วงที่มีโควิด-19 แม้จะทยอยกลับมาแต่ก็ไม่เหมือนเดิม แบงก์ต้องปรับเปลี่ยนนโยบายด้านสาขาและพัฒนาทักษะพนักงานให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง รวมถึงมีทีมงาน re-imagine เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ

“เรามองว่าสถานการณ์จะลากยาว 2-3 ปี แต่ก็เชื่อมั่นว่าทุกอย่างจะต้องกลับมาได้ แม้ว่าจะไม่เหมือนเดิม ซึ่งในช่วงนี้เราก็ต้องพยายามประคองลูกค้าให้รอดไปได้ และเราเองจะต้องปรับเปลี่ยนนโยบายให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง” นางสาวขัตติยากล่าว

เศรษฐกิจกลับมาไม่เหมือนเดิม

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ถึงแม้จะมีข่าวความคืบหน้าเรื่องวัคซีนต้านโควิดออกมา แต่แบงก์ยังต้องวางแผนเผื่อไว้สำหรับสถานการณ์ที่จะลากยาว เพราะแม้จะมีวัคซีนการกลับมาก็จะไม่เหมือนเดิม

“ต้องดูว่าโครงสร้างระบบเศรษฐกิจของไทยพร้อมรับมือสถานการณ์ที่ไม่เหมือนเดิมขนาดไหน ไม่ว่าจะเรื่องการกระจุกตัวของแต่ละภาคเศรษฐกิจ การเปลี่ยนจาก globalization มาเป็น regional หรือ local ขณะที่เศรษฐกิจยึดโยงกับการท่องเที่ยวและส่งออกเป็นหลัก ซึ่งการส่งออกก็จะถูกดิสรัปต์ด้วย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ที่จะมีรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามา” นายผยงกล่าว

KTB หยุดมองเรื่อง “เติบโต”

นายผยงกล่าวว่า ขณะที่ในระยะข้างหน้า แบงก์ยังต้องดูแลลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง ต้องช่วยกันทำให้ระบบเศรษฐกิจไปได้ เพราะไม่อย่างนั้นหากเศรษฐกิจมีปัญหาก็จะกระทบกับธนาคารด้วย แต่ละธนาคารจะมีมาตรการออกมารองรับ เพราะไม่เช่นนั้นจะกระทบหนักเป็น “หน้าผาเอ็นพีแอล”

“ปัญหาตอนนี้อยู่ที่ปัญหาคุณภาพลูกหนี้ ซึ่งทำให้นำมาสู่ภาระการเพิ่มทุนของธนาคาร อันที่สองก็คือต้องดูแลลูกค้า ซึ่งไม่ใช่การประคอง 3 เดือน 6 เดือน แต่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดในระยะยาวเพื่อเพิ่มความแข็งแรง รวมถึงการทำแวร์เฮาซิ่งเก็บหนี้ ซึ่งมีหลายวิธีจะเก็บไว้ในงบดุลของแบงก์ หรือจะโอนออกไป หรือการปรับโครงสร้างหนี้ แต่หลักการคือการดูทรัพย์สินที่มีความเปราะบาง เป็นการชะลอไม่ให้คุณภาพหนี้ทรุดลง ซึ่งการตั้งแวร์เฮาซิ่งขณนี้ ทางสมาคมธนาคารก็อยู่ระหว่างการพูดคุยกับแบงก์ชาติถึงเรื่องการผ่อนเกณฑ์กฎระเบียบต่าง ๆ”

นอกจากนี้ในส่วนของภายในแต่ละธนาคารก็ต้องมาดูการจัดการต้นทุนองค์กร ซึ่งเรื่องสาขาก็เป็นหนึ่งในต้นทุนหลักของธนาคาร อย่างไรก็ตามการจัดการต้นทุนลดลงไม่ได้มาก ขณะที่รายได้ลดลง

ขณะที่เศรษฐกิจก็หดตัว เจอแรงกดดันหลายอย่าง ดังนั้นคีย์เวิร์ดต้องมีความระมัดระวังและยืดหยุ่นสูง ในช่วง 2 ปีข้างหน้า ไม่ได้เน้นการเติบโต แต่เน้นเรื่องคุณภาพและเสถียรภาพ

ทียูเดินหน้า “ลดหนี้-ลดต้นทุน”

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าโควิดจะอยู่กับเราอีกไม่ต่ำกว่าครึ่งแรกปี 2564 และถึงแม้ว่าจะมีวัคซีนเกิดขึ้นก็ต้องใช้เวลาในการกระจาย

ดังนั้นทียูจึงใช้สมมุติฐานว่าโควิดจะอยู่กับเราปีหน้าทั้งปี และเศรษฐกิจก็จะอ่อนแอต่อเนื่อง และการจะให้เศรษฐกิจฟื้นคืนกลับมาคาดว่าต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี หรือปี 2566 ซึ่งการทำงานของทียูก็ปรับรูปแบบการติดต่อสื่อสารภายในองค์กร และกับคู่ค้าผ่านทางระบบออนไลน์ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดี คาดว่าบางส่วนงานก็จะดำเนินการลักษณะนี้ถาวรไปเลย

“แม้ว่ารายได้ปีนี้จะเป็นปีที่ดีที่สุดในรอบ 5 ปี และคาดว่าจะดีต่อเนื่อง ปีหน้ามีโอกาสขยายตัว 5% อย่างไรก็ตามบริษัทต้องเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ โดยปีหน้าจะยังใช้มาตรการเหมือนปีนี้ ทั้งการควบคุมค่าใช้จ่าย การลงทุน เน้นเรื่องกระแสเงินสด ลดหนี้ ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เราไม่ห่วงเรื่องการขาย ทำอย่างไรจะรักษาอัตราการทำกำไรให้อยู่ระดับที่เติบโตขึ้น โดยวางงบประมาณการลงทุน (CAPEX) ประมาณ 4,500 ล้านบาท ยังไม่มีนโยบายจะเข้าซื้อกิจการขนาดใหญ่ แต่เน้นลงทุนด้านนวัตกรรมอาหารอนาคต”

โอสถสภาระวังเรื่องลงทุน

นางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าแบรนด์เอ็ม-150, เบบี้มายด์ เปปทีน กล่าวว่า แม้ว่าสถานกาาณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะยังมีอิมแพ็กต์ไปอีกนาน สิ่งที่ทุก ๆ ธุรกิจต้องทำคือตั้งรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับโอสถสภาต้องตั้งรับและเตรียมรับมือไว้ล่วงหน้าอย่างรอบคอบ และปรับวิธีการทำงานให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องปรับตัวเพื่อรับมืออยู่ตลอด

สำหรับแนวทางการดำเนินงานของโอสถสภาจากนี้ไปหลัก ๆ คือต้องมีความระมัดระวังเรื่องการลงทุนค่อนข้างมาก แต่ไม่ใช่จะไม่ลงทุนเลย จะต้องเน้นเรื่องสำคัญเท่านั้น และนอกจากองค์กรแล้ว พนักงานก็ต้องดูแลให้ดีที่สุด

ค่ายรถห่วงแบงก์เข้ม

นายชาญชัย ตระการอุดมสุข ประธานบริหาร บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้มาสด้าและค่ายรถยนต์ต่าง ๆ อยู่ระหว่างการจับตาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด หลังจากที่มีการประกาศพักชำระหนี้ให้รายย่อยและจะครบกำหนดในเดือนหน้า ว่าจะส่งผลกระทบมากน้อยเพียงใด

อีกสิ่งที่กังวลคือพอหนี้เสียมากขึ้น สถานการณ์การยึดรถจากสถาบันการเงิน การคุมเข้มสินเชื่อจะมากตามไปด้วย ดังนั้นการทำตลาดจากนี้เชื่อว่าค่ายรถยนต์ต่าง ๆ รวมทั้งมาสด้าจะต้องแข่งขันกันรุนแรงมากขึ้น และจะได้เห็นภาพของการนำกลยุทธ์การส่งเสริมการขายมาใช้มากขึ้นด้วย อย่างไรก็ดีหากรัฐบาลมีมาตรการผ่อนปรนสินเชื่อเพิ่มเติมน่าจะช่วยเติมความคึกคักให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ได้

CPF ธุรกิจอาหารรับอานิสงส์

ด้านนายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร (ซีอีโอ) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธุรกิจอาหารอาจจะไม่ได้รับผลกระทบจากโควิดเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ แต่มองว่าโควิดมีโอกาสที่จะยังอยู่กับเราไปอีก 2 ปี แม้ว่าบริษัทไฟเซอร์จะประกาศความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีน แต่คาดว่าจะสามารถผลิตได้ในกลางปีหน้าและยังต้องใช้ระยะเวลาในการกระจายวัคซีนให้ทั่วถึง ส่วนของบริษัทยังห่วงเรื่องการเดินทางไปทำธุรกิจระหว่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ก็มีหลายนัดที่ยังต้องชะลอไปก่อนและยังค้างอยู่ แม้ว่าจะมีการปรับไปทำงานออนไลน์บ้างแล้วก็ตาม

ส่วนแผนธุรกิจในปีหน้า หลังจากบริษัทเข้าร่วมซื้อกิจการเทสโก้แล้ว ซึ่งก็มีเงื่อนไขห้ามเข้าซื้อกิจการในช่วง 3 ปี และส่วนตัวมองว่าโอกาสที่จะซื้อและควบรวมกิจการ (M&A) ยังไม่น่าจะเกิดขึ้นในปีหน้า โดยปีหน้าหลัก ๆ จะเน้นสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจที่เข้าไปลงทุนใหม่ เช่น ธุรกิจสุกรในจีน เพื่อสร้างการเติบโตและรับรู้รายได้กลับเข้ามา ส่งผลให้ธุรกิจซีพีเอฟเติบโตต่อเนื่องจากปีนี้

“บางจาก” ขยับแผนลงทุน


นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทได้เตรียมพร้อมเพื่อรับมือวิกฤตโควิดที่จะต้องลากยาวต่อเนื่อง โดยคาดว่าอย่างเร็วที่สุดการพัฒนาวัคซีนโควิดจะเห็นภาพชัดเจนในปลายปีหน้า หากสถานการณ์ยืดเยื้อยังต้องติดตามประเมินเรื่องความต้องการใช้น้ำมัน แม้ว่าขณะนี้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันจะฟื้นกลับมาใกล้เป็นปกติแล้วก็ตาม สำหรับแผนการลงทุนต่าง ๆ จะต้องมีการวางไว้หลายแผนเพื่อปรับใช้ โดยจะยืดหยุ่นให้เหมาะสมกับสถานการณ์