จุรินทร์ ขีดเส้น ก.พ.64 ดัน RCEP เข้าสภา สร้างแต้มต่อส่งออก 14 ประเทศ-ภาษีเป็นศูนย์

“จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์” รมว.พาณิชย์ ฟิตจัด เตรียมชง RCEP เข้าสภาให้ทันสมัยประชุมนี้ เปิดขั้นตอนลงสัตยาบันต้องได้เสียงรับรอง อาเซียน 6 ประเทศ คู่เจรจา 3 ประเทศ สร้างแต้มต่อส่งออก 14 ประเทศ ทลายกำแพงภาษีเป็นศูนย์

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 เวลา 09.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า หลังจากรัฐบาลไทยลงนามเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนเมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2563 ที่ผ่านมาแล้ว ขั้นตอนต่อไปไม่ได้แปลว่าจะมีผลบังคับใช้ทันที เพราะต้องมีการให้สัตยาบันระหว่างสมาชิก 15 ประเทศก่อน

สำหรับกระบวนการขั้นตอนการให้สัตยาบันของแต่ละประเทศขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศจะกำหนดไว้ สำหรับประเทศไทยนั้นจะต้องไปขอความเห็นชอบจากรัฐสภาเสียก่อน เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบจึงจะดำเนินการแจ้งให้เลขาธิการอาร์เซ็ปรับทราบว่าเราให้สัตยาบันแล้ว ซึ่งจะต้องพิจารณาในที่ประชุมรัฐสภา

“ถัดจากนี้ผมจะเร่งนำเสนอสู่ที่ประชุมรัฐสภาโดยเร็วและประสงค์ที่จะให้ทันสมัยประชุมนี้ ซึ่งมีระยะเวลา 4 เดือน (พ.ย. 2563 – ก.พ. 2564) ถ้าเสร็จทันจะรีบแจ้งให้สำนักเลขาธิการอาร์เซ็ปรับทราบ”

นายจุรินทร์กล่าวว่า ทั้งนี้ การจะมีผลบังคับใช้ได้นั้น ในกลุ่มสมาชิกอาเซียนต้องมีประเทศให้สัตยาบัน 5 ประเทศขึ้นไป หรือ 6 ประเทศ และต้องบวกกับกลุ่มประเทศคู่เจรจาอีก 5 ประเทศ อย่างน้อย 3 ประเทศ จึงจะมีผลบังคับใช้ได้

“เหตุผลหนึ่งที่ผมเร่งรัดเพราะว่า อาร์เซ็ปจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับการค้าการลงทุนของไทย เพราะช่วยให้เรามีตลาดการค้า ตลาดการลงทุนที่ใหญ่ขึ้นและมีเงื่อนไขผ่อนปรนขึ้น การส่งออกสินค้าไทยไปยัง 14 ประเทศที่เหลือ ก็จะทำให้ภาษีเป็นศูนย์ และทำให้เราแข่งขันได้ภายในระยะเวลาตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ เป็นการสร้างแต้มต่อให้กับเรา สำคัญ คือ เอกชนต้องเร่งเตรียมตัวและศึกษากฎระเบียบทั้งหมด”


ส่วนกระแสข่าวว่าจะมีการนำวาระ CPTPP เข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม ครม.วันนี้นั้น “ไม่ได้มีวาระนะครับ”