เอกชนใช้สิทธิ FTA และ GSP 8 เดือนแรกลดลง 15.72%

คต. เผยภาพรวมการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ FTA และ GSP 8 เดือนแรกของปี 63
ใช้สิทธิฯ ส่งออกอาหาร ของใช้อุปโภค/บริโภค เติบโตต่อเนื่อง

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ระหว่างเดือนมกราคม-สิงหาคม 2563 พบว่า มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ รวมเท่ากับ 40,511.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 77.61 แบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) 37,565.99 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) 2,945.70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยภาพรวม การใช้สิทธิประโยชน์ฯ 8 เดือนแรกของปี 2563 ลดลงร้อยละ 15.72

การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงทางการค้าเสรีในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2563 มีมูลค่า 37,565.99 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ร้อยละ 16.84 มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 77.37 โดยตลาดที่ไทยส่งออกโดยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ ภายใต้ FTA สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) จีน (มูลค่า 12,785.19 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) 2) อาเซียน (มูลค่า 12,209.53 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) 3) ญี่ปุ่น (มูลค่า 4,369.54 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) 4) ออสเตรเลีย (มูลค่า 4,089.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และ 5) อินเดีย (มูลค่า 2,075.68 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)

สำหรับกรอบความตกลงการค้าเสรีที่มีอัตราการใช้สิทธิ-ประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ไทย-ชิลี (ร้อยละ 100) 2) อาเซียน-จีน (ร้อยละ 91.26) 3) ไทย-เปรู (ร้อยละ 89.87) 4) ไทย-ญี่ปุ่น (ร้อยละ 83.37) และ 5) อาเซียน-เกาหลี (ร้อยละ 72.60) สินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง อาทิ ทุเรียนสด ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ รถบรรทุกขนส่งขนาดไม่เกิน 5 ตัน เครื่องปรับอากาศ ฝรั่ง มะม่วง มังคุด ยานยนต์สำหรับขนส่งบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไป มันสำปะหลัง เป็นต้น

การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP ทั้ง 4 ระบบ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ ในช่วง มกราคม-สิงหาคม 2563 มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 2,945.70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 1.90 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 80.78 ตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ มากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 2,608.60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ* เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.17 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 82.41

สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ อันดับสองคือ สวิตเซอร์แลนด์ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 221.44 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 23.90 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 63.33 สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ น้ำสับปะรด ปลาทูน่ากระป๋อง กระเป๋าเดินทางขนาดใหญ่ อันดับสามคือ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 92.91 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.19 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 82.32

สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ สับปะรดกระป๋อง พืช/ผลไม้ปรุงแต่ง ข้าวที่สีบ้างแล้ว/สีทั้งหมด และนอร์เวย์ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 22.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 41.48 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 100 สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ อาหารปรุงแต่ง ข้าวโพดหวาน ข้าว สำหรับสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ GSP สูง อาทิ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ เลนส์แว่นตา กรดซิทริก เป็นต้น

สำหรับ 8 เดือนแรกของปี 2563 สินค้าอาหาร/เกษตรแปรรูป อาทิ ปลาทูน่า ปลาสคิปแจ็ก และปลาโบนิโตชนิดซาร์ดา (กระป๋อง) น้ำผลไม้ เครื่องดื่มที่ไม่เติมแก๊ส อาหารปรุงแต่ง ผลไม้สด ยังคงเป็นดาวเด่นในการใช้สิทธิฯ ส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าที่ไทยมีความตกลงฯ โดยเฉพาะประเทศที่ยังมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 อาทิ อินเดีย สหรัฐอเมริกา หรือในอาเซียน ในขณะเดียวกัน สินค้าอุปโภคบริโภคที่เกี่ยวเนื่องกับการอยู่บ้านหรือทำงานที่บ้าน (Work from home)


ในช่วงสถานการณ์โควิด 19 มีการใช้สิทธิฯ ส่งออกไปได้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ ตู้เย็น (ไทย-อินเดีย, อาเซียน, อาเซียน-เกาหลี) เครื่องล้างจานชนิดใช้ตามบ้านเรือน (อาเซียน-เกาหลี) เครื่องซักผ้า (อาเซียน-เกาหลี) เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและเครื่องครัว (อาเซียน-อินเดีย, อาเซียน-จีน, อาเซียน-เกาหลี) เฟอร์นิเจอร์ทำด้วยไม้ (อาเซียน-อินเดีย) เฟอร์นิเจอร์ทำด้วยโลหะ (ไทย-ออสเตรเลีย) เครื่องสุขภัณฑ์ติดตั้งถาวรที่คล้ายกัน ที่เป็นเซรามิก (อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) แชมพู (อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) เครื่องปรับอากาศติดผนัง (อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) อาหารสุนัขหรือแมว (ไทย-ออสเตรเลีย, อาเซียน-อินเดีย, อาเซียน-จีน, อาเซียน-เกาหลี) เป็นต้น