สภาพัฒน์ชี้สัญญาณฟื้นไม่ชัด ว่างงานเพิ่ม-ปริญญาตรี ตกงานมากสุด

แม้รัฐจะคลายล็อกดาวน์มาตรการปิดเมือง ทว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจก็ยังไม่ได้เปิดเต็มที่ 100% เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยพึ่งพาภาคต่างประเทศสูง ทั้งส่งออก ท่องเที่ยว ซึ่งสะท้อนผ่านการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ (จีดีพี) ที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงล่าสุดว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นจากไตรมาส 2 ที่เป็น “จุดต่ำสุด” เนื่องจากมีการปิดเมือง หลายธุรกิจจึงหยุดชะงัก

เศรษฐกิจพ้นจุดต่ำสุด

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช. กล่าวว่า เศรษฐกิจไตรมาส 3 หดตัว -6.4% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ขยายตัวขึ้น 6.5% เมื่อเทียบไตรมาส 2 ที่หดตัว -12.1% ภาพรวม 9 เดือนของปีนี้จีดีพีไทยหดตัวแล้ว -6.7% ซึ่ง สศช.ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้หดตัวลงเหลือ -6% จากเดิม -7.5% ตัวชี้วัดที่เร่งตัวขึ้น ได้แก่ การอุปโภคภาครัฐขยายตัวที่ 3.4% จากไตรมาส 2 อยู่ที่ 1.3% การลงทุนภาครัฐขยายตัวที่ 18.5% จาก 12.5% การก่อสร้างขยายตัวที่ 10.5% จาก 7.4%

“ตัวชี้วัดเศรษฐกิจอื่น ๆ แม้ยังติดลบแต่ก็ติดลบน้อยลงจากไตรมาส 2 ค่อนข้างมาก ทั้งภาคส่งออกขยับมาที่ -8.2% จาก-17.8% การบริโภคภาคเอกชนอยู่ที่ -0.6% จาก -6.8% ส่วนการลงทุนภาคเอกชนอยู่ที่ -10.7% จาก -15% ผลจากการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจขยับตัวดีขึ้น ซึ่งขณะนี้แทบจะเปิดได้ 100% ยกเว้นการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศ”

ด้านที่พักโรงแรม-ร้านอาหาร พบว่าไตรมาสนี้หดตัว -39.6% จากไตรมาส 2 อยู่ที่ -50.2% ถือว่าดีขึ้น จากมาตรการกระตุ้น

“คาดว่าปี 2564 เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้ 3.5-4.5% โดยแรงขับเคลื่อนภาครัฐเป็นปัจจัยหนุน ปีหน้ายังต้องพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก ฉะนั้น การเบิกจ่ายภาครัฐจะสำคัญมาก โดยตั้งเป้าเบิกจ่ายงบประมาณปี 2564 ให้ได้กว่า 94.4% งบฯลงทุนรัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายกว่า 70% งบฯเหลื่อมปีเบิกจ่ายกว่า 85% เบิกจ่ายเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทกว่า 70%”

เสนอ 8 แนวทางฟื้นเศรษฐกิจไทย

นายดนุชากล่าวว่า การบริหารเศรษฐกิจช่วงที่เหลือของปี 2563 ถึงปี 2564 ต้องมุ่ง 8 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.ป้องกันการกลับมาระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง 2.ดูแลภาคเศรษฐกิจที่มีข้อจำกัดในการฟื้นตัวทั้งภาคท่องเที่ยว โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี, ช่วยเหลือแรงงานที่เปราะบางและยกระดับทักษะแรงงาน, รณรงค์ท่องเที่ยวในประเทศ, เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างจำกัดผ่านมาตรการ special tourist visa (STV) และเร่งเรื่องวัคซีนโควิด-19

“ปีนี้ประมาณการรายรับจากนักท่องเที่ยวจะอยู่ที่ 4.6 แสนล้านบาท และปีหน้าจะเพิ่มเป็น 4.9 แสนล้านบาท แต่ทั้งนี้อยู่บนความไม่แน่นอนของการระบาดโควิดจนกว่าจะมีวัคซีน ซึ่งคาดว่าจะใช้ได้ราวไตรมาส 3 ปีหน้า”

3.ขับเคลื่อนการใช้จ่ายภาครัฐ 4.ขับเคลื่อนการส่งออกและสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการผลิตและลงทุนเอกชน ทั้งร่วมมือประเทศคู่ค้า ลดต้นทุนการผลิตในประเทศ ป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนและการแข็งค่าของเงินบาท

จี้เอกชนได้ BOI เร่งลงทุน

5.ส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน เร่งให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนตั้งแต่ปี 2561-2563 ให้มีการลงทุนจริง ทั้งแก้ไขอุปสรรคให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทยสะดวกขึ้น 6.ดูแลราคาสินค้าเกษตรในช่วงผลผลิตออกสู่ตลาด และเตรียมรองรับปัญหาภัยแล้ง 7.รักษาบรรยากาศทางการเมืองในประเทศ และ 8.เตรียมรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจไทย

“ปีหน้าเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ยังมีข้อจำกัด ฉะนั้น ส่วนการลงทุนภาครัฐและเอกชนยังจำเป็น โดยเฉพาะการดึง FDI (การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ) เข้ามา”

ปริญญาตรีตกงานสูงสุดรอบ 9 ปี

สำหรับสถานการณ์จ้างงานในไตรมาส 3 ปีนี้ อัตราว่างงานยังสูงอยู่ ทั้งชั่วโมงการทำงานก็ลดลงต่อเนื่องซึ่งกระทบต่อรายได้ของครัวเรือน ส่วนแรงงานจบใหม่ อายุน้อยและการศึกษาสูงยังมีปัญหาว่างงานจำนวนมาก ซึ่งไตรมาส 3 ตัวเลขผู้ว่างงานมีทั้งสิ้น 7.4 แสนราย คิดเป็น 1.90% ใกล้เคียง 1.95% ไตรมาส 2 ช่วงโควิด-19 ระบาด

ทั้งนี้ ต้องจับตาแรงงานอายุน้อยและการศึกษาสูง จะมีปัญหาว่างงานมากกว่าคนกลุ่มอื่น โดยผู้จบปริญญาตรีจะว่างงานถึง 3.15% สูงสุดตั้งแต่ปี 2554 รองมาเป็นระดับ ปวช. ปวส. ว่างงาน 2.79%, 2.73% และพบว่าแรงงานที่มีอายุ 15-19 ปี และ 20-24 ปี ว่างงานสูงขึ้นที่ 9.4% และ 7.9% ตามลำดับ

ขณะที่แรงงานในระบบประกันสังคม มีผู้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน 4.88 แสนคน คิดเป็น 4.4% เพิ่มขึ้นจาก 3.5% ทั้งนี้ การว่างงานของแรงงานในระบบยังเพิ่มต่อเนื่อง

สำหรับแรงงานที่ยังมีงานทำ แต่ไม่ได้ทำงานเต็มที่ พบว่าชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยลดลงจาก 43.5 เป็น 41.6 ชั่วโมง/สัปดาห์ และจำนวนผู้ทำงานล่วงเวลาลดลง 19.7% ซึ่งส่งผลต่อปริมาณผลผลิตและรายได้ของแรงงานที่ลดลงตามชั่วโมง

“หนี้ครัวเรือน” ยังขาขึ้น

สถานการณ์ “หนี้สินครัวเรือน” ต่อจีดีพีของไทย ณ ไตรมาส 2 ปี 2563 ปรับขึ้นมาที่ 83.8% มูลค่า 13.59 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8% แต่เพิ่มในอัตราชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่เพิ่มขึ้น 4.4% สาเหตุมาจากการหดตัวทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง รวมถึงมูลค่าหนี้ครัวเรือนยังคงเพิ่มขึ้น สะท้อนถึงความเปราะบางทางการเงินของภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น

แนวโน้มหนี้ครัวเรือนไตรมาส 3 จะปรับขึ้นตามสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นจากการผ่อนปรนมาตรการควบคุมของโควิด-19 เช่นเดียวกับสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี รวมถึงยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (เอ็นพีแอล) ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวและสัญญาณการฟื้นตัวที่ยังไม่ชัดเจน

1.1 ล้านครัวเรือนเสี่ยง “ยากจน”

นางสาวจินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการ สศช.กล่าวว่า โควิด-19 กระทบต่อความยากจนของคนไทย โดยศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ( โควิด-19) หรือ ศบศ. ได้สำรวจ (ช่วง 23 เม.ย.-17 พ.ค. 63) พบว่าประชาชนมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 33% ขณะที่รายได้ลดลง 54% โดยมีหนี้สินในระบบเพิ่มขึ้น 14% หนี้สินนอกระบบเพิ่มขึ้น 9%

ส่งผลให้ครัวเรือนกลุ่มเปราะบางที่มี 1.14 ล้านครัวเรือน เสี่ยงที่จะเป็นครัวเรือนยากจน ซึ่งต้องมีมาตรการรองรับคือ 1.กลุ่มครัวเรือนที่พึ่งพิงรายได้จากเงินช่วยเหลือจากบุคคลอื่นภายนอกครัวเรือนมี 6.37 แสนครัวเรือน อาทิ ครัวเรือนสูงอายุ, ครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่กับเด็ก 2.กลุ่มที่มีรายได้จากการทำงานลดลง 4.67 แสนครัวเรือน ได้แก่ ครัวเรือนที่ทำงานในสาขาที่เสี่ยงถูกเลิกจ้าง เช่น ภาคท่องเที่ยว, อาชีพอิสระ และ 3.กลุ่มเกษตรกรไม่มีที่ดินทำกิน หรือมีที่ดินน้อยมากคือประมาณ 0.49 แสนครัวเรือน


แม้เศรษฐกิจไทยจะพ้นจุดต่ำสุด ทว่า ยังเต็มไปด้วยความเปราะบาง สัญญาณการฟื้นตัวยังไม่ชัดเจน ภาครัฐคงต้องจัดมาตรการช่วยเหลืออย่างตรงจุดมากขึ้น เพื่อให้ปัญหาการว่างงานไม่ลุกลามบานปลายต่อสังคมโดยรวม