
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาเปิดงาน The Nikkei Asia 300 Global Business Forum ว่า เอเชียกลายเป็นความหวังของโลกในยามที่เศรษฐกิจโลกอ่อนแอและเปราะบาง และจากนโยบายของสหรัฐอเมริกาเกิดภาวะกลับหัวกลับหาง ซึ่งสำนักข่าวบลูมเบิร์กคาดว่าจะมีเม็ดเงินกว่า 45,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น ตลาดบอนด์ในเอเชีย
“คำว่า ‘Asia Rising’ ได้เกิดขึ้นจริง ณ เวลานี้ แต่ไม่ใช่ทุกประเทศที่จะคว้าโอกาสเอาไว้ได้ โดยมี 4 ปัจจัยสำคัญที่จะตัดสินว่าประเทศไหนจะสามารถสร้างประโยชน์จากโอกาสที่เข้ามาถึงได้”
ดร.สมคิดกล่าวว่า ปัจจัยแรก คือ ความสามารถการแข่งขันของประเทศ เมื่อทั้งภูมิภาคเอเชียเติบโต ประเทศที่มีความสามารถแข่งขันสูงจะมีโอกาสเป็นฮับการค้าการลงทุนมากที่สุด ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ไทยได้ทุ่มเทเพื่อยกระดับประเทศ จากภูมิศาสตร์ปฏิเสธไม่ได้ว่าไทยถือว่าอยู่ในศูนย์กลางภูมิภาค แต่การแข่งขันจริงไม่ได้วัดกันทางภูมิศาสตร์ แต่วัดกันจากการกำหนดเงื่อนไขและบริบทอนาคตด้วย
ดังนั้นไทยต้องปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม หันมาใช้โอกาสจากเทคโนโลยี มากกว่าการแข่งขันด้านราคา เช่น การแปรรูปสินค้าเกษตร เพิ่มมูลค่าด้วยไบโอเทคโนโลยี เปลี่ยนอุตสาหกรรมแรงงานเป็นอุตสาหกรรมเพิ่มมูลค่าที่เน้นนวัตกรรม เปลี่ยนอุตสาหกรรมการประกอบให้เป็นคลัสเตอร์มากขึ้น เพื่อก้าวสู่การเป็นฮับภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นด้านรถยนต์ อาหาร ยา หรือการท่องเที่ยว ขณะเดียวกันไทยได้ผลักดันโครงการอีอีซี พร้อมกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ เพื่อให้ประเทศกลายเป็นฮับขนส่งและโลจิสติกส์ ที่ใหญ่ที่สุดใน CLMVT
ปัจจัยที่ 2 การวางตำแหน่งยุทธศาสตร์ภูมิรัฐศาสตร์ เพื่อสร้างความโดดเด่นในเวทีโลก สิงคโปร์เป็นตัวอย่างที่ทำให้ประเทศเล็ก ๆ มีความหมายในระดับโลก ขณะที่ไทยก็ถือเป็นประเทศเล็กแทบจะไม่มีความหมายในเวทีโลก แต่การผนวกกับประเทศรอบ ๆ โดยเฉพาะในกลุ่ม CLMVT จะทำให้กลุ่มประเทศกลายเป็นตลาดที่น่าสนใจ และมีความสำคัญด้านซัพพลายเชน และยิ่งเข้าร่วมกับอาเซียน ก็จะยิ่งเพิ่มความสำคัญทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ
ปัจจัยที่ 3 ความเข้มแข็งของภาคเอกชน ที่เป็นดั่งนักรบเศรษฐกิจ ประเทศมากมายที่เศรษฐกิจแข็งแกร่งเกิดจากภาคเอกชน เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฮ่องกง เป็นต้น รวมทั้งประเทศจีนที่ช่วง 10 ปีหลังได้หันมาผลักดัน “นิวสตาร์ตอัพ” นับล้าน เพื่อให้ประเทศกลายเป็นหัวหอกด้านนวัตกรรม สร้างมูลค่าการค้าสู่ตลาดโลก
นายสมคิดกล่าวว่า ในอนาคตความสำเร็จจะถูกวัดที่ความสามารถ ไม่ใช่ขนาดธุรกิจ ความสำเร็จจะเกิดจากเทคโนโลยีและโมเดลธุรกิจใหม่ที่ตอบรับผู้บริโภคได้ดีกว่า ดังนั้น เทคโนโลยี นวัตกรรม และโมเดลธุรกิจใหม่ คือ อาวุธของนักรบรุ่นใหม่ เป็นเครื่องมือที่ตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของผู้บริโภคยุคใหม่ “ขนาดไม่ใช่เรื่องน่าภูมิใจในอนาคต ทั้งอาจจะเป็นอุปสรรคด้วยซ้ำ รายงานของนิกเคอิ อาเซียน รีวิว ล่าสุดระบุว่า บริษัทใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีความเชื่องช้า ซึ่งทำให้นักลงทุนหนี ไปมองบริษัทที่มีการลงทุนเพื่ออนาคตมากกว่า”
รัฐบาลไทยจึงมีนโยบายการผลักดันให้บริษัทใหญ่ 500 ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เข้าหาเทคโนโลยีเพื่อยกระดับ และมีความสามารถในการแข่งขันระดับโลก เตรียมพร้อมสู่โลกดิจิทัล และพยายามเปลี่ยนธุรกิจเอสเอ็มทีที่อ่อนแอ ให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของโลกใหม่ นอกจากนี้ยังมีนโยบายในการสร้างสตาร์ตอัพพันธุ์ใหม่ ทั้งด้านเกษตร อุตสาหกรรม ครีเอทีฟ และเซอร์วิส
นายสมคิดกล่าวว่า ประเด็นที่ 4 คือความเป็นเอกภาพในสังคม เช่น ความสำเร็จทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่ผ่านมา เกิดจากความร่วมมือรัฐ เอกชน และระเบียบวินัยภาคประชาชน รัฐเดินทางไหน เอกชนเดินตาม ประชาชนเป็นหนึ่งเดียวกัน และรายงานวิจัยของยูเรเซีย กรุ๊ป ระบุว่า นักลงทุนหันหลังให้กับประเทศที่มีความขัดแย้งภายใน เพราะมองว่าใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการดับไฟในบ้าน
“โอกาสกำลังขยับจากโลกตะวันตกมายังตะวันออก ประเทศที่ไม่เปลี่ยนแปลง ยึดติดอดีต คงต้องขอแสดงความเสียใจล่วงหน้าที่จะต้องเกิดภาวะถดถอยอย่างยากจะหลีกเลี่ยง โอกาสเป็นของผู้กล้าและผู้พร้อมแล้วเท่านั้น” ดร.สมคิดกล่าว