ดึงโมเดลตลาดปลาญี่ปุ่น อัพเกรด “สะพานปลา”

การพลิกกลับมาทำกำไรปี 2563 ขององค์การสะพานปลา (อสป.) ถือเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับรัฐวิสาหกิจ 1 ใน 3 ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ประสบปัญหาขาดทุนสะสม กระทั่งเสี่ยงจะถูกยุบ ได้เร่งรีเซตองค์การสะพานปลา 18 แห่ง ปรับบทบาทองค์กร-แผนงานให้ทันสมัยมากขึ้น

มณเฑียร อินทร์น้อย

นายมณเฑียร อินทร์น้อย ผู้อำนวยการองค์การสะพานปลา (อสป.) ยอมรับว่า หลังจากเข้ารับตำแหน่งช่วงกลางปี 2562 อสป.ถูกตัดงบประมาณจากภาครัฐ เนื่องจากปี 2561-2562 เบิกจ่ายงบประมาณได้เพียง 26% ของงบฯทั้งหมด กระทั่งปีนี้ 2563 เริ่มกลับมามีรายได้กว่า 200 ล้านบาท

และสามารถทำกำไรสุทธิได้ 25 ล้านบาท หลังหักค่าใช้จ่าย ถือเป็นกำไรสูงสุดในรอบ 20 ปี โดยเป็นผลมาจากรายได้ค่าเช่าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 30% ของทั้งหมด นอกเหนือจากรายได้ค่าธรรมเนียม 45% และรายได้อื่น ๆ 25% ซึ่งจากนี้ อสป.พร้อมจะนำรายได้นี้ส่งเข้าคลังรัฐ 40%

โควิด-ไอยูยู ตัวเร่งยกเครื่อง

“ปีนี้ยอมรับว่าปัจจัยเศรษฐกิจชะลอจากการระบาดของโควิด-19 เป็นปัจจัยเร่งให้ต้องปรับโครงสร้างการทำงาน ประกอบกับปัญหาการแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานไร้การควบคุม (IUU) ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาที่เปรียบเหมือนมาตรฐานให้ อสป.ในการลงทุนระบบ ให้เป็นไปตามมาตรฐาน EU และยังเป็นจุดริเริ่มให้เร่งรัดแผนพัฒนาเพิ่มเติมอีกหลายแห่ง”

กระจายสินค้านอกฝั่งชายทะเล

นายมณเฑียรได้นำไอเดียตลาดปลาโทโยซุ (Toyosu Market) ซึ่งเป็นตลาดค้าส่งอาหารกรุงโตเกียวมาปรับใช้ในการพัฒนา อสป.เป็นตลาดปลาทันสมัย รองรับธุรกิจทั้งค้าขายสินค้าประมง และรองรับนักท่องเที่ยว

โดยชูนโยบายย้ายทะเลขึ้นเหนือ ทำให้ จ.เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และชลบุรี และอนาคตจะเชื่อมโยงถึงภาคอีสาน ที่ควรจะต้องมี “ตลาดปลาลุ่มน้ำโขง” ซึ่งตลาดปลาทั้ง 5 แห่ง ตั้งงบประมาณลงทุน 15,000 ล้านบาท หรือ 3,000 ล้านบาทต่อแห่ง

โดยคาดว่ารายได้จากการเริ่มโครงการลงทุนส่วนใหญ่จะมาจากโมเดลตลาดปลาอ่างศิลา อ.เมือง จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นตลาดที่มีสินค้าสัตว์น้ำที่มีมาตรฐานถูกสุขอนามัย สามารถเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าเกษตร และสินค้าประมง ยกระดับรายได้อาชีพชาวประมงพื้นบ้าน ประมงพาณิชย์และผู้ค้าสัตว์น้ำในชุมชน ส่งเสริมเศรษฐกิจเป็นแหล่งท่องเที่ยว 328 ร้านค้า ที่จะเปิดดำเนินการในเดือน ม.ค. 2564 โดยนำรายได้จากค่าเช่าพื้นที่ล่วงหน้า เก็บเงินเหมือนเงินดาวน์ เงินเกี๊ยวมาใช้ก่อน เพื่อลงทุนตามแผนกระจายสินค้านอกชายฝั่ง

นอกจากนี้ ปี 2564 จะผลักดัน “มหาชัย” หรือสะพานปลาสมุทรสาคร บนพื้นที่ 7 ไร่ เป็น “hub seafood” รองรับนักท่องเที่ยว จุดเช็กอิน จุดศึกษาดูงาน สัมมนา ให้องค์กรมีรายได้ พร้อมทั้งปลดล็อกปัญหาพื้นที่ของกรมธนารักษ์ กทม. ในแง่กฎหมายพื้นที่กับสำนักงานนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) “สะพานปลากรุงเทพ” ที่มีปัญหาตั้งแต่ปี 2544 ให้ได้ข้อยุติในปี 2563

เนื่องจากอนาคตจะเป็นโอกาสเพิ่มรายได้อีกมากเพราะเป็นแหล่งท่องเที่ยวริมน้ำเจ้าพระยา และแหล่งท่องเที่ยวเอเชียทีค ซึ่งแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวต่างชาติค่อนข้างมาก

แปรสถานะบริษัทเข้า ตลท.

อย่างไรก็ตาม การพัฒนา อสป.ในระยะยาวนั้นจะต้องผลักดันการแก้ไขพระราชบัญญัติองค์การสะพานปลา พ.ศ. 2525 (พ.ร.บ.สะพานปลา) ซึ่งใช้มานานกว่า 38 ปี ค่อนข้างล้าสมัยเพื่อปลดล็อกให้ อสป.สามารถตั้งบริษัทลูก เป็นเทรดเดอร์ซื้อขายสัตว์น้ำและจะกระจายหุ้นให้กับผู้ถือหุ้นรายย่อยนำแปรรูปเป็นเอกชนเป็นบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อบริหารสินทรัพย์ที่มีอยู่ให้เกิดมูลค่าสูงสุด