BOI ยกเครื่องจัดกองใหม่ จับคู่ลงทุนวูบ หาพันธมิตรร่วมทุนแทน

นักลงทุน

เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 สัญญาณเริ่มดีขึ้น จากที่ผ่านปัจจัยเสี่ยงทั้งสงครามการค้า การแพร่ระบาดของโควิด-19 และความไม่สงบทางด้านการเมือง แต่ก็ยังพูดได้ไม่เต็มปากว่าภาพรวมการลงทุนนับจากนี้จะเป็นอย่างไร

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “นางสาวซ่อนกลิ่น พลอยมี” ที่ปรึกษาด้านการลงทุน สำนักงานคณะกรรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ถึงสัญญาณนักลงทุนญี่ปุ่นและยุโรปส่งถึงไทย นับจากที่บีโอไอปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2563 ที่ผ่านมา โดยเพิ่มกองติดตามและประเมินผลการลงทุน และกองพัฒนาผู้ประกอบการไทยขึ้น

ซ่อนกลิ่น พลอยมี ที่ปรึกษาด้านการลงทุน สำนักงานคณะกรรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
ซ่อนกลิ่น พลอยมี ที่ปรึกษาด้านการลงทุน สำนักงานคณะกรรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

โควิดฉุดจับคู่ลงทุนวูบ 50%

ในฐานะที่เป็นผู้ดูแลกองพัฒนาผู้ประกอบการไทยที่ทำหน้าที่สนับสนุนผู้ประกอบการไทย เชื่อมโยงอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ ผ่านทางกิจกรรมที่บีโอไอจัดขึ้นปีละหลาย ๆ ครั้ง อย่างที่รู้จักก็คืองานของหน่วย build เดิม จะเน้นการจับคู่ธุรกิจ (business matching)

โดยปีงบประมาณ 2563 (ต.ค. 2562-ก.ย. 2563) มีมูลค่าการเชื่อมโยง matching อุตสาหกรรมทั้งหมด รวมผู้ประกอบการรายใหญ่และรายเล็ก 27,440 ล้านบาท หากนับเฉพาะรายใหญ่มีมูลค่าการเชื่อมโยง 16,056.93 ล้านบาท หากเทียบกับ
ช่วงเดียวกันของปีก่อน (ต.ค. 2561-ก.ย. 2562) มีมูลค่าการเชื่อมโยงอยู่ที่กว่า 50,000 ล้านบาท

“ยอมรับว่าปี 2563 มูลค่าการ matching ลดลงถึง 50% ด้วยสถานการณ์ผลกระทบจากโควิด-19 กิจกรรมต่าง ๆ ก็ต้องลดลง และเริ่มกลับมาเมื่อไม่นาน ด้วยการจัดกิจกรรมผ่านออนไลน์ ถึงจะมีอุปสรรคในเรื่องของช่วงเวลา ในประเทศที่อยู่โซนยุโรป อเมริกา”

สัญญาณทุนญี่ปุ่น-ยุโรปเล็งไทย

แต่เมื่อไม่นานมานี้ ทางนักลงทุนญี่ปุ่นได้หารือกับทางเรา เพื่อขอปรับรูปแบบการทำธุรกิจกับนักลงทุนไทยใหม่ที่เป็นไปในลักษณะเชิงบวกมากขึ้น คือ 1.ขอร่วมจัดกิจกรรม อย่าง Thai Subcon จากเดิมที่ญี่ปุ่นจะนำผู้ประกอบการมาเพียงร่วมงาน เพื่อมาเจรจาจับคู่ธุรกิจเท่านั้น แต่จากนี้จะขอเป็นผู้ร่วมในการจัดงาน

ซึ่งจะเริ่มจากนักลงทุนในแถบคันไซและชิโกกุ ที่จะนำทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมการแพทย์ ชิ้นส่วนระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ อากาศยานมาร่วมกิจกรรม 2.ขอให้บีโอไอจัดหาผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพเพื่อเป็นพาร์ตเนอร์ รูปแบบในการลงทุนร่วมกันจากเดิมที่จะเป็นเพียงการจับคู่ธุรกิจเพื่อหาผู้ผลิตชิ้นส่วนซัพพอร์ตซึ่งกันและกัน หรือเป็นการหาผู้รับจ้างผลิต (OEM) เท่านั้น

“การที่ญี่ปุ่นเริ่มใช้รูปแบบการหาผู้ร่วมทุนนั้น มันสะท้อนว่าเขาเองก็ต้องการการอยู่รอด ต้องการเข้ามาลงทุน
ที่ไทยมากขึ้น ต้องการตลาด โดยหาพาร์ตเนอร์ท้องถิ่นที่เก่ง สามารถซัพพอร์ตงานให้เขาได้”

ขณะที่ยุโรปเดิมไม่เคยสนใจเราเป็นที่น่าดีใจว่าล่าสุดมีนักลงทุนจากยุโรปเริ่มสนใจไทยมากขึ้น มีการติดต่อเข้ามา ส่วนหนึ่งมันคือผลจากการจัดกิจกรรมออนไลน์ที่เราได้จัดขึ้น และมีการติดต่อตรงผ่านสำนักบีโอไอใน สาขาต่างประเทศ

เมื่อสิ่งนี้สะท้อนมาให้เราเห็นจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ไทยต้องสร้างศักยภาพในบ้านให้แข็งแรงด้วย เช่น การเริ่มเข้าไปช่วยผู้ประกอบการไทยอัพเดตข้อมูลในเว็บไซต์ เพราะที่ผ่านมาบางบริษัทไม่มีข้อมูล ทำให้นักลงทุนเลือกที่จะตัดสินใจไม่มีการซื้อขายด้วยเป็นการพลาดโอกาสที่น่าเสียดาย

สเต็ปต่อไป

หลังจากนี้จึงเริ่มจัดทำฐานข้อมูลนักลงทุนไทย ที่มีคอนแท็กต์และ active กับบีโอไออยู่ประมาณ 2,000 ราย ด้วยการจัดกลุ่มแยกประเภทให้ชัดเจน เช่น กลุ่มที่แค่มีความสนใจลงทุนต่างประเทศ กลุ่มที่ต้องออกไปลงทุนต่างประเทศ กลุ่มที่ต้องการร่วมทุน เป็นต้น คาดว่าในอีก 1-2 สัปดาห์จะแล้วเสร็จ ซึ่งนั่นจะทำให้เราสามารถวิเคราะห์ระดับศักยภาพของผู้ประกอบการไทยได้ง่ายขึ้นทันกับช่วงที่ญี่ปุ่นจะจัดกิจกรรม matching กับเราพอดี

แผนงานปี 2564

การปรับองค์กรทำให้ความเข้มแข็งมากขึ้น เรามีเป้าหมายเดียวกัน คือ การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไทย ทั้งในเชิงปริมาณและขีดความสามารถ เป้าหมายของแผนงานปี 2564 จะเริ่มตั้งแต่การกำหนดกิจกรรมใหญ่ที่จะจัดร่วมกับทางญี่ปุ่น 2 ครั้ง โดยครั้งแรกจะมีขึ้นช่วงเดือน ม.ค. และยังมีกิจกรรมสัมมนาโดยเน้นออนไลน์เป็นหลัก รวมถึงการยื่นของบประมาณและกำลังคนเพิ่ม เพื่อที่จะมาซัพพอร์ตงานใหม่ที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้จะมุ่งดูแลผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs ให้มีศักยภาพ สามารถเชื่อมโยงจับคู่ธุรกิจกับรายใหญ่ได้ และเชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษาหน่วยงานวิจัย เพื่อการสร้างนวัตกรรม และการพัฒนาบุคลากร ซึ่งเป็นเป้าหมายการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมไทย เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการจัดหาชิ้นส่วนในภูมิภาค (regional sourcing excellence)