ยอดจดทะเบียนตั้ง “ร้านอาหาร” ฟื้น รับอานิสงส์ “เราเที่ยวด้วยกัน-คนละครึ่ง”

คนละครึ่ง11.11
Photo : Pixabay

อานิสงส์มาตรการเราเที่ยวด้วยกัน-คนละครึ่ง ดันยอดตั้งร้านอาหารฟื้น สวนทางภาพรวมยอดบริษัทตั้งใหม่เดือนต.ค. หดตัว 6% มีจำนวน 5,396 ราย ไฟเขียวธุรกิจต่างด้าว 55 ราย ยอดลงทุน 8.5 พันล้าน

วันที่ 23 พ.ย.2563 นางโสรดา เลิศอาภาจิตร์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทใหม่ทั่วประเทศในเดือนตุลาคม 2563 จำนวน 5,396 ราย โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 43,746 ล้านบาท

โดยประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 504 ราย คิดเป็น 9% รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 262 ราย คิดเป็น 5% และอันดับ 3 คือ ธุรกิจบริการด้านอาหารในภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 164 ราย คิดเป็น 3% ตามลำดับ

โสรดา เลิศอาภาจิตร์
โสรดา เลิศอาภาจิตร์

“ผลจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของรัฐบาล ผ่านโครงการเราเที่ยวด้วยกัน และคนละครึ่ง ธุรกิจบริการด้านอาหารกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง หลังจากชะลอตัวในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 แคาดว่าแนวโน้มน่าจะดีขึ้นต่อเนื่อง”

ส่วนธุรกิจเลิกประกอบกิจการเดือนตุลาคม 2563 มีจำนวน 2,057 ราย โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 7,788 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการเลิกกิจการในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

สำหรับประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 159 ราย คิดเป็น 8% รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 110 ราย คิดเป็น 5% และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 64 ราย คิดเป็น 3% ตามลำดับ

ทั้งนี้ หากแบ่งจัดตั้งใหม่แบ่งตามช่วงทุน โดยช่วงทุนที่มีจำนวนรายธุรกิจจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศมากที่สุด ได้แก่ ช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท มีจำนวน 4,013 ราย คิดเป็น 74.37% รองลงมาช่วงทุนมากกว่า 1-5 ล้านบาท จำนวน 1,301 ราย คิดเป็น 24.11% ลำดับถัดไป คือ ช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท มีจำนวน 71 ราย คิดเป็น 1.32% และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 11 ราย คิดเป็น 0.20% ตามลำดับ

ส่วนธุรกิจเลิกประกอบกิจการ หากตามช่วงทุน พบว่า จำนวนรายธุรกิจเลิกประกอบกิจการทั่วประเทศ มากที่สุด ได้แก่ ช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท จำนวน 1,382 ราย คิดเป็น 67.15% รองลงมาช่วงทุนมากกว่า 1- 5 ล้านบาท จำนวน 563 ราย คิดเป็น 27.36% ลำดับถัดไป คือ ช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท จำนวน 102 ราย คิดเป็น 4.96% และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท มีจำนวน 11 ราย คิดเป็น 0.53% ตามลำดับ

นางโสรดา กล่าวว่า ธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ ณ เดือนตุลาคม 2563 จำนวน 770,087 ราย มูลค่าทุน 18.63 ล้านล้านบาท จำแนกเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จำนวน 187,327 ราย คิดเป็น 24.32% บริษัทจำกัด จำนวน 581,481 ราย คิดเป็น 75.51% และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,279 ราย คิดเป็น 0.17% ตามลำดับ

ส่วนธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ หากแบ่งตามช่วงทุน ธุรกิจส่วนใหญ่มีช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท จำนวน 454,465 ราย คิดเป็น 59.02% รวมมูลค่าทุน 0.40 ล้านล้านบาท คิดเป็น 2.15% รองลงมา คือ ช่วงทุนมากกว่า 1-5 ล้านบาท จำนวน 227,573 ราย คิดเป็น 29.55% รวมมูลค่าทุน 0.75 ล้านล้านบาท คิดเป็น 4.03%

ช่วงถัดไปคือ ช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท จำนวน 72,076 ราย คิดเป็น 9.36% รวมมูลค่าทุน 1.97 ล้านล้านบาท คิดเป็น 10.57% และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 15,973 ราย คิดเป็น 2.07% รวมมูลค่าทุน 15.51 ล้านล้านบาท คิดเป็น 83.25% ตามลำดับ

ขณะที่การลงทุนประกอบธุรกิจในไทยภายใต้กฎหมายต่างด้าว เดือนตุลาคม2563 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจทั้งสิ้น มีจำนวน 55 ราย แบ่งเป็นใบอนุญาตประกอบธุรกิจ จำนวน 16 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจ จำนวน 39 ราย โดยมีเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 8,503 ล้านบาท

นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด ได้แก่ ญี่ปุ่น จำนวน 16 ราย เงินลงทุน 3,048 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ ได้แก่ สิงคโปร์ จำนวน 8 ราย เงินลงทุน 750 ล้านบาท และสหรัฐอเมริกา จำนวน 8 ราย เงินลงทุน 52 ล้านบาท