“บ้านปู” กอดเงินสดลดต้นทุน โควิดฉุดเศรษฐกิจโลก เว้นวรรคลงทุนใหญ่2ปี

“บ้านปู” หวั่นโควิดฉุดเศรษฐกิจโลก 2 ปี ชะลอลงทุนใหญ่ มุ่งลดต้นทุน-รักษากระแสเงินสด พร้อมเร่งดิจิทัลทรานส์ฟอร์ม เพิ่มสัดส่วน “พลังงานสีเขียว” ให้ถึง 50% ในอีก 5 ปีข้างหน้า

นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในระหว่างปี 2564-2565 (2021-2022) เศรษฐกิจโลกยังต้องเผชิญกับกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อเนื่อง ดังนั้นในช่วง 2 ปีนี้จึงไม่ใช่ช่วงเวลาของการลงทุนขนาดใหญ่ เว้นแต่จะเป็นการลงทุนที่สร้างการเชื่อมโยงธุรกิจกับฐานการผลิตหลัก (synergy) เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น จากนั้นในปี 2566 (2023) หากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกฟื้นกลับมาแล้วก็จะมีการพิจารณาอีกครั้ง

รักษากระแสเงินสด-ลดต้นทุน

นโยบายสำคัญของบ้านปูในปีหน้าจะมุ่งรักษากระแสเงินสด การลดต้นทุนในฐานการผลิตต่าง ๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้สามารถลดไปได้ถึง 20% พร้อมทั้งการมุ่งขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลซึ่งเป็นวาระสำคัญของบริษัท และการเพิ่มสัดส่วนรายได้จากพลังงานสีเขียวในอีก 5 ปี ขณะนี้มีสัดส่วนประมาณ 25% มีแผนจะเพิ่มเป็น 50% ในอีก 5 ปีข้างหน้า

บ้านปูคาดว่าแนวโน้มไตรมาส 4 กำไร EBITDA จะดีขึ้นต่อเนื่อง จากช่วง 3 ไตรมาสแรกที่ผ่านมา เรายังสามารถทำ EBITDA ได้ดีท่ามกลางวิกฤตโควิด ในขณะที่หลาย ๆ บริษัทยังไม่ค่อยดีนัก แต่เราต้องยึดหลักการรักษากระแสเงินสด เพราะเป็นสิ่งที่สถาบันการเงินใช้พิจารณาความแข็งแกร่งของบริษัท ตอนนี้กระแสเงินสดของบ้านปูเหลือประมาณ 600 ล้านเหรียญสหรัฐ เพราะเราจ่ายปิดดีลแหล่งก๊าซธรรมชาติบาร์เนตต์ที่สหรัฐไปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ประมาณ 400 ล้านเหรียญ”

เหตุที่ต้องเร่งปิดดีลแหล่งก๊าซธรรมชาติบาร์เนตต์ให้เร็วกว่าที่เคยวางแผนไว้ว่าจะปิดในเดือนธันวาคม เป็นเพราะแหล่งนี้ในปัจจุบันมีขนาดเป็นท็อป 20 ในแหล่งก๊าซสหรัฐ สามารถทำให้เกิดเงินหมุนเวียนได้เฉลี่ย 8 ล้านเหรียญ/เดือน ทั้งที่เป็นช่วงที่ราคาแก๊สต่ำลงมาก ๆ มาถึงขณะนี้ราคาแก๊สในตลาดลอนดอนเพิ่งปรับเพิ่มขึ้นเป็น 67 เหรียญ/ตัน จากเดิมอยู่ที่ 59-60 เหรียญ/ตันเท่านั้น ซึ่งน่าจะส่งผลดีขึ้นไปอีกในไตรมาส 4 บวกผลดีจากการลงทุนด้าน renewable ที่จะเห็นในไตรมาส 1 ปีหน้า โรงไฟฟ้าหงสาก็เริ่มนิ่งแล้ว ส่วนโรงไฟฟ้า SLG ที่จีนจะเข้ามาช่วงครึ่งปีแรกของปีหน้า

เพิ่มสัดส่วนพอร์ต “พลังงานสีเขียว”

ส่วนแนวทางการเพิ่มสัดส่วนพอร์ตรายได้จากพลังงานสีเขียว บริษัทได้เริ่มกระจายการลงทุนในธุรกิจนี้มากขึ้น สะท้อนจากได้ทุ่มงบฯ 90% ของการลงทุนไปสู่พลังงานสีเขียว นับตั้งแต่ช่วงปี 2015-2020 ทั้งในส่วนของพลังงานหมุนเวียนโดยบ้านปูเพาเวอร์ ซึ่งมีแผนปรับกำลังการผลิตจาก 2,800 เมกะวัตต์ (MW) เป็น 5,300 MW ในปี 2568

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของธุรกิจในช่วงไตรมาส 4/2563 ยังคงเป็นเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน โดยในไตรมาส 3/2563 อยู่ที่ 31.3-31.8 บาท/เหรียญ แต่ขณะนี้แข็งค่าขึ้นเป็น 30 บาท/เหรียญ ถือเป็นสิ่งที่สำคัญ ถ้าค่าบาทแข็งมากก็จะไม่ดีกับประเทศซึ่งทำธุรกิจนำเข้า-ส่งออก รวมถึงบ้านปูเองด้วย