ประชุมหอการค้า ครั้งที่ 38 เอกชนยังห่วงการเมืองกระทบเศรษฐกิจ-ลงทุน

ประชุมหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 38
ประชุมหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 38

การประชุมหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 38 เริ่มแล้ว พร้อมระดมทุกความคิดเห็นก่อนรวบรวมเป็น สมุดปกขาว เสนอต่อรัฐบาล ขณะที่ ปัญหาการเมืองเอกชนยังให้ความกังวลเนื่องมีผลต่อเศรษฐกิจ ธุรกิจ และการลงทุน

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวระหว่างเปิดสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 38 ในระหว่างวันที่ 26 – 27 พฤศจิกายน 2563 ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กรุงเทพฯ ว่า การประชุมครั้งนี้หอการค้าไทยและหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ พร้อมที่จะระดมความคิดเห็น และข้อคิดเห็นจากหอการค้าทั่วประเทศเพื่อสรุปผลในการแนวทางในการผลักดันเศรษฐกิจไทยในปี 2564 พร้อมนำผลสรุปผลทั้งหมดรวมเป็น สมุดปกขาว เสนอต่อนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

กลินท์ สารสิน
กลินท์ สารสิน

นอกจากนี้ การประชุมหอการค้าไทยครั้งนี้เปิดประชุมทั้งรูปแบบปกติและประชุมผ่านระบบ วีดีโอคอนเฟอร์เร้นท์ มีผู้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้กว่า 700 คน ซึ่งการทำงาน 1 ปีที่ผ่านมา เช่น การผลักดันปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ การส่งแสริมและยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการ โครงการ 1 หอการค้า 1 ท่องเที่ยวชุมชุน โครงการ 1 ไร่ ได้เงิน 1 ล้าน การส่งเสริมการศึกษา 1 หอการค้า 1 สหกรณ์การเกษตร เป็นต้น

ส่วนการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจหลังจากปัญหาของโควิด-19 สิ่งที่หอการค้าให้ความสำคัญและต้องกันผลักดันให้เกิดขึ้น เรื่องของการกักเก็บน้ำจากปัจจุบันอยู่ที่ 7% ให้เป็น 14% การพัฒนาด้านบริการ สินค้าชุมชน การพัฒนาบุคคลากร การป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบ 2 การส่งเสริมการท่องเที่ยว การเดินหน้า โมเดล Happy ที่ต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นในทุกจังหวัดทั่วประเทศ

ขณะที่ ปัญหาการชุมนุมของคณะราษฎรที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทางภาคเอกชนมีความเป็นห่วง อยากให้รัฐบาลรวมถึงผู้ชุมนุมเจรจาโดยใช้สันติวิธี เพราะหากเกิดความรุนแรงหรือความวุ่นวายขึ้น จะมีผลกับความเชื่อมั่น การใช้จ่ายภายในประเทศ รวมถึงการลงทุนของทั้งนักลงทุนต่างประเทศและนักลงทุนไทย

อย่างไรก็ตามมองว่า เศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะฟื้นตัวขึ้นแต่ทางหอการค้าไทยยังคงมีความกังวลถึงการส่งออกของไทยเพราะยังคงติดปัญหาในเรื่องของค่าระวางเรือที่สูงขึ้นและตู้คอนเทนเนอร์ที่ยังขาดแคลนเพราะถูกดึงไปใช้ที่จีน เวียดนามและสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ ยังมีความเป็นห่วงในเรื่องของแรงงานหลังจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแล้วประเทศไทยยังคงขาดแคลนแรงงานในประเทศ รวมถึงค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่า ห่วงในปีหน้าจะแข็งค่าถึง 29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ การใช้นโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยจะออกมาในรูปแบบใด

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า การชุมนุมที่เกิดขึ้นเวลานี้ยังประเมินไม่ได้ว่ามีผลกระทบกับภาวะเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน ต้องมีการติดตามการชุมนุมอย่างใกล้ชิด เพราะเวลานี้การชุมนุมยังถือว่าเป็นการชุมนุมแบบแฟลชม็อบไม่ค้างคืนและยังอยู่ในหลักของการชุมนุมโดยสันติ ไม่มีความรุนแรงจึงไม่มีผลต่อเศรษฐกิจ

แต่หากมีการยกระดับการชุมนุมขึ้นจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า จากที่คาดว่าจะฟื้นตัวในช่วงปลายไตรมาสที่1ปีหน้า เป็นฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง เพราะการชุมนุมจะมีผลกับความเชื่อมั่น การใช้จ่ายทำได้ไม่เต็มที่

อย่างไรก็ตาม สัญญาณเศรษฐกิจของประเทศเวลานี้กำลังค่อยๆปรับตัวดีขึ้นแล้ว ดูได้จากความเชื่อมั่นของผู้บริโภครวมถึงความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ค่อยๆฟื้นตัว จากการใช้นโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และความคืบหน้าของการผลิตวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 จะทำให้การค้าโลกมีความมั่งคั่งมากขึ้น รวมถึงการส่งออกของไทยกลับมาฟื้นตัวได้ คาดว่าในช่วงไตรมาสที่ 4 เศรษฐกิจของไทยจะติดลบอยู่ที่ร้อยละ 4-5 ทั้งปี ติดลบ 6% และจะสามารถกลับมาเป็นบวกได้ในช่วงปลายไตรมาสที่ 1 ปีหน้าและทั้งปี 2564 เศรษฐกิจของประเทศ จะขยายตัวเป็นบวกที่ 4%