PRISM Expert ส่องเทรนด์พลังงานปี 64 วิกฤตหรือโอกาส

วันที่ 26 พ.ย. กลุ่ม ปตท.ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรม (สอท.) จัดงาน The Annual Petroleum Outlook Forum ดำเนินการต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2555  โดยทีมนักวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมัน (PRISM Expert) จากบริษัทในกลุ่ม ปตท. ซึ่งในปีนี้นำเสนอผ่านช่องทางออนไลน์ ในหัวข้อ “เมื่อโรคปฏิวัติโลก…เจาะลึกจุดเปลี่ยนโลกพลังงาน”

เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัวแบบช้าๆ

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย CIMB กล่าว ในหัวข้อ “เศรษฐกิจไทย ฝ่าวิกฤติ ต้องคิดใหม่” ว่า ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัวแบบช้า ๆ การส่งออกของไทยในปีหน้า
จะเป็นตัวขับเคลื่อนของเศรษฐกิจไทยได้เป็นอย่างดี โดยปัจจัยที่ต้องจับตามีทั้งหมด 4 ด้าน ได้แก่ 1.ความชัดเจนในการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือปัจจัยการเมืองในประเทศที่จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภค แม้เชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากปัจจัยทางการเมือง แต่ก็ต้องพยายามจัดการไม่ให้สะดุด

2.ค่าเงินบาท ที่ปัจจุบันแข็งค่าอย่างมากทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวและการส่งออกเมื่อเปลี่ยนเป็นเงินบาทก็จะลดลง ศักยภาพในการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งก็จะลดลง จึงจำเป็นต้องเข้ามาดูแลเรื่องนี้ไม่ให้ลดความสามารถในการส่งออก 3.การดูแลไม่ให้โควิด-19 มีการระบาดรอบสอง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเชื่อว่าถ้าวัคซีนสามารถนำมาใช้ได้เร็วจะทำให้เศรษฐกิจกลับฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

และ 4.สงครามการค้า (เทรดวอร์) ไทยเองไม่ควรเลือกข้าง ต้องใช้กลยุทธ์ความสัมพันธ์กับจีน โดยมองว่าควรพยายามค้าขายกับจีนผ่านช่องทางต่าง ๆ รวมถึงเดินหน้าตามสหรัฐฯ หากมีมาตรการส่งเสริมการค้าหรือการลงทุน ควบคู่กันไป

เปรียบโควิดพายุลูกใหญ่

ด้านนายเมธา วีระโอฬารกุล พนักงานการค้าระหว่างประเทศ ฝ่ายการค้าอนุพันธ์ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) มอง ว่าสถานการณ์โควิด-19 เป็นเหมือนพายุลูกใหญ่ที่เข้ามากระทบเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการใช้น้ำมัน โดยที่ผ่านมาความต้องการใช้น้ำมันในประเทศสหรัฐอเมริกาลดลง 2.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ฝั่งประเทศยุโรปที่มีการล็อคดาวน์เช่นเดียวกัน จึงทำให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลง 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน

รวมทั้งนี้ จีน ความต้องการใช้ลดลง 600,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นตัวเลขมาจากภาคขนส่ง ในด้านการบินที่ต้องใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง แต่เนื่องจากแต่ละประเทศไม่สามารถเปิดน่านฟ้า ไม่มีเที่ยวบิน ซึ่งมีตัวเลขลดลงกว่า 47% จากการเก็บสถิติของสมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาตา)

ทั้งนี้ ความต้องการใช้จะฟื้นคืนมาได้ต้องอาศัยความคลี่คลายของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งดูได้จากประเทศจีนที่สามารถควบคุม คลี่คลายสถานการณ์ดังกล่าวได้ และมีทิศทางตัวเลขประเมินเศรษฐกิจ (จีดีพี) เป็นบวก ซึ่งในปีหน้าการคาดการณ์จีดีพีของประเทศจีนจะอยู่ที่ 8.2% จะส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเติบโตอยู่ที่ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน และเป็นสัดส่วนโดยรวมของโลกเติบโตขึ้น 6.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ก็ยังไม่สามารถทดแทนได้ทั้งหมด ทั้งนี้ทั้งนั้น ถือว่าเป็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ดี โดยมีปัจจัยมาจากการบิน การขับขี่ และภาคอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มของสถานการณ์การใช้น้ำมันของโลกในปี 2564 นั้น จะแบ่งได้เป็น 2 อย่าง ได้แก่ 1. ถ้าสถานการณ์มาตรการทางเศรษฐกิจจากทุก ๆ ประเทศอัดฉีดเข้าไปได้เพียงพอ หรือสถานการณ์โควิด-19 สามารถควบคุมได้ รวมถึงสงครามทางการค้า(เทรดวอร์) ระหว่างจีนกับสหรัฐลดความรุนแรงลง สามารถเจรจากันได้มากขึ้น จะส่งผลให้จีดีพีเติบโตอยู่ที่ 5.2% และส่งผลการใช้น้ำมันเติบโตอยู่ที่ 5.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน 2.ถ้ามาตรการทางด้านเศรษฐกิจไม่เพียงพอ สถานการณ์โควิดไม่สามารถควบคุมได้ รวมถึงเทรดวอร์ยังรุนแรงอยู่นั้นจะส่งผลให้จีดีพีโลกเติบโตเพียง 3.4% และความต้องการใช้น้ำมันจะเพิ่มขึ้นเพียง 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน

จับตาปริมาณการผลิตกลุ่มนอนโอเปก

ขณะที่ นายคณิน บดีพัฒน์ นักวางแผนกลยุทธ์ฝ่ายแผนกลยุทธ์ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันในปี 64 ยังต้องจับตาการลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ว่าจะลดกำลังการผลิตตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ และจับตาปริมาณการผลิตของกลุ่มนอนโอเปก อย่างสหรัฐ ว่าจะมีทิศทางอย่างไร

หากมีกรณี BASE CASE ที่ความต้องการใช้น้ำมัน เพิ่มขึ้น 5.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ปริมาณการผลิตเป็นไปตามเป้าหมาย ก็จะทำให้มีปริมาณการผลิตเข้ามาในระดับกลาง หรือเพิ่มขึ้นราว 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ก็จะทำให้สมดุล คือ ความต้องการใช้น้ำมันสุทธิเพิ่มขึ้น 3.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ในช่วง 45-55 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จะสามารถปรับตัวสูงขึ้นจากปี 63

แต่หากเป็นกรณี LOW CASE ที่ความต้องการใช้น้ำมัน เพิ่มขึ้น 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ปริมาณการผลิตไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยมีการผลิตเพิ่มเข้ามาสู่ตลาด ส่งผลให้คาดการณ์ปริมาณผลิตเพิ่มขึ้นราว 5.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ก็จะทำให้สมดุล คือมีปริมาณการผลิตส่วนเกิน 4.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ในช่วง 35-45 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

ไทยออยล์มั่นใจปีหน้าโลกฟื้น

ส่วนนายภาณุพงศ์ ปั้นลี้ นักวิเคราะห์การพาณิชย์ ฝ่ายการวางแผนพาณิชย์ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก เนื่องจากมีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงและรวดเร็ว กระทบไปทุกภาคส่วน โดยเฉพาะสายการบินและภาคการผลิต ตลอดจนภาคบริการที่ต้องล็อกดาวน์ ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินผลกระทบภาพรวมครั้งนี้อาจจะมีมูลค่าสูงถึง 9-12 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 12% ของจีดีพีโลก

กระทั่งเริ่มมีการปรับตัวเข้าสู่ความสมดุล แต่ละประเทศทั่วโลกต่างออกมาตรทางการเงินและการคลัง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การรับมือของภาคอุตสาหกรรมและประชาชน ที่ปรับตัวหันใช้เทคโนโลยีเข้าสู่ระบบออนไลน์มากขึ้น ตลอดจนการหันมาพึ่งพิงเศรษฐกิจภายในประเทศมากยิ่งขึ้น ควบคู่มาตรการควบคุมการระบาดทำให้เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวได้ในปีหน้า 2564 ซึ่งหากทำได้ดีเศรษฐกิจก็อาจจะฟื้นตัวในรูปแบบของ NIKE Shape แต่หากทำไม่ได้ดี ก็อาจจะฟื้นตัวในรูปแบบ L Shape ยังคงจับตาดูต่อไป

โลกเปลี่ยนผุดอุตสาหกรรม Circular Economy

ด้านนายอัศวิน แผ่นเทอดไทย นักวิเคราะห์ Market Intelligence บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอลจำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โลกปัจจุบันอยู่ในยุค 4.0 มีหุ่นยนต์และเอไอทำงานร่วมกับมนุษย์ เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมมากจนหลงลืมการใส่ใจสิ่งแวดล้อม ซึ่งองค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้ทุกประเทศหันมาให้ความสำคัญก๊าซเรือนกระจกมาโดยตลอด เพราะอนาคตโลกจะร้อนและอาจเกิดภัยพิบัติได้อีกซึ่งไม่สามารถคาดเดาได้ เนื่องจากบทเรียนในปีนี้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน นั่นคือโควิด-19 แต่หากพิจารณาแหล่งที่มาสำคัญ คือภัยใกล้ตัว มลพิษทางอากาศ p.m.2.5 จะยิ่งเป็นปัจจับเสี่ยงทำให้อัตราการเสียชีวิตจากโควิดเพิ่ม 8% โดยล่าสุด ยอดผู้เสียชีวิตพุ่งถึง 1.4 ล้านคน จะทำให้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น จะดีกว่าหรือไม่ หากจะรอเพียงวัคซีนแล้วหันมาใส่ใจมลภาวะทางอากาศ

อย่างไรก็ดี หลังโควิด -19 เมื่อทุกคนพยายามป้องกันตัวเองมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการใช้ถุงมือยาง หน้ากากอนามัย จึงเกิดขยะมหาศาล ยอดขยะปีนี้พุ่งถึง 200 เท่า มากเป็นประวัติศาสตร์ ดังนั้น การจัดการขยะจึงสำคัญ Curcular Economy จึงมีบทบาทสำคัญต่อการจัดการขยะในประเทศอย่างมาก ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคระหว่างกัน ประเทศมีหน้าที่สนับสนุน ส่งเสริม และเอกชน ตลอดจนประชาชนช่วยกันลดขยะ ดังจะเห็นจากประเทศใหญ่เริ่มเคลื่อนไหว อาทิ EU ผลักดันธุรกิจสีเขียว และตั้งเป้าว่า 2050 จะปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์เป็นภูมิภาคแรก ตลอดจนประเทศจีนตั้งเป้าปี 2060 เช่นกัน รวมถึงทุกประเทศเริ่มหันมาใส่ใจไบโอพลาสติก


“สุดท้าย ประชาชนต้องเริ่มจาก 7 R refill repair reuse return reduce refuse recycle ทั้งนี้ สุดท้ายแล้วความยั่งยืนจะเกิดได้ต้องมาจากการสร้างสมดุล ทลายข้อจำกัดด้านเศษฐกิจ ตลอดจนการดึงทรัพยากรมาใช้ให้พอดีและอาจจะมี Circular Economy plus เพิ่มเติมในอนาคต ทั้งนี้ทั้งนั้นทุกคนต้องตระหนักรู้ร่วมกันเพื่อความยั่งยืนต่อไป”