ศึก AD ฟิล์มบรรจุภัณฑ์เดือด ผู้ใช้หวั่นผูกขาด “ดักคอ” อย่าอุ้มโรงงานเดียว

เอกชนดิ้นค้าน “พาณิชย์” เคาะเอดีฟิล์ม BOPP นำเข้าจาก 3 ประเทศ ตามข้อเรียกร้อง “เอ.เจ.พลาสท์” หวั่นผูกขาดตลาดขึ้นราคา กระทบผู้ใช้ BOPP นับหมื่นรายอ่วม พร้อมเปิดข้อมูลเอเจแจ้ง ตลท.ไม่เสียหายแถมมีกำไรจ่อขยายกำลังการผลิต สวนทางผู้ผลิตแจงสินค้ามีคุณภาพ-ปริมาณเพียงพอไม่มีนโยบายขึ้นราคา ด้านกรมการค้าต่างประเทศ รับนโยบายจุรินทร์สั่งห้ามละเลยประโยชน์สาธารณะ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดประชุมรับฟังความเห็นผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องทั้งผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้ใช้ สินค้าฟิล์มบรรจุภัณฑ์ไบแอคเซียลลี ออเรียนเต็ดโพลิโพรพิลีน(BOPP) เกรดทั่วไป ความหนา 0.90-0.91 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร (ก./ลบ.ซม.) พิกัด 3920.20.10

หลังจากที่ได้ประกาศเปิดไต่สวนเพื่อใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) สินค้าดังกล่าวที่นำเข้าจากอินโดนีเซีย จีน และมาเลเซีย ไปเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2563 ตามคำร้องของบริษัท เอ.เจ.พลาสท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าชนิดนี้เพียงรายเดียวของประเทศ ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน (ทตอ.) มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน

ซึ่ง ทตอ.พิจารณาแล้วมีข้อมูลเพียงพอที่แสดงให้เห็นว่ามีการทุ่มตลาดสินค้าดังกล่าวจริง ทั้งจากจีน ทุ่มตลาดในอัตรา 15.44% ของราคา ซี.ไอ.เอ., อินโดนีเซีย ทุ่มตลาด 5.90% ของราคา ซี.ไอ.เอ. และมาเลเซีย ทุ่มตลาด 28.56% ของราคา ซี.ไอ.เอฟ.

ทั้งยังสร้างความเสียหายต่อผู้ผลิตจากปริมาณการนำเข้าสินค้าดังกล่าว “เพิ่มสูงขึ้น” และราคาขายในประเทศ ซึ่งมีผลกระทบต่อการดำเนินการของอุตสาหกรรมภายใน
ทางกรมฯได้รับข้อมูลจากการตอบแบบสอบถามของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม นำมาสู่การจัดประชุมรับฟังความเห็นครั้งนี้ ซึ่งผู้ประกอบการประมาณ 100 ราย เข้าร่วมให้ความเห็น เช่น สยามโนมูระ ไทยออฟติก ไดอิชิ นากาเซ่ อุทามากิ นำวัฒนา ฟิล์มมาสเตอร์ และ ดาต้า แพ็ก เป็นต้น

4 ประเด็นต้องสรุป

ที่ประชุมได้พิจารณาใน 4 ประเด็น คือ 1) หากมีการเรียกเก็บเอดีสินค้านำเข้าจะทำให้เกิดการผูกขาดตลาดและนำไปสู่การปรับราคาสินค้าหรือไม่ เพราะปัจจุบันในตลาดนี้เหลือผู้ผลิตเพียงรายเดียว 2) หากพึ่งพาผู้ผลิตเพียงรายเดียว อาจจะนำไปสู่ปัญหาเรื่องสินค้า เช่น ผู้ผลิตอาจไม่สามารถผลิตสินค้าได้คุณภาพที่ผู้ใช้ต้องการ และอาจมีปริมาณไม่เพียงพอ กระทบการส่งมอบสินค้าหรือไม่

3) การพิจารณาเอดีจะใช้เฉพาะ BOPP เกรดทั่วไปก็จริง แต่ในพิกัดนี้ยังมีสินค้าเกรดพิเศษบางรายการแฝงอยู่ด้วย ซึ่งผู้ผลิตภายในจะสามารถผลิตสินค้าดังกล่าวได้หรือไม่ และจะบรรเทาความเสียหายอย่างไร และ 4) เมื่อมีการปรับขึ้นภาษีเอดี จะทำให้ต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตแพ็กเกจจิ้งเพิ่ม

ดังนั้นอาจจะทำให้ผู้ผลิตแพ็กเกจจิ้งได้รับผลกระทบอาจจะต้องหันไปนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปเข้ามาแทน เหตุใดไม่ขยายผลให้ครอบคลุมไปยังสินค้าหมวดอื่น ๆ เช่น ฟิล์มเกรดพิเศษด้วย

แหล่งข่าวผู้ใช้ฟิล์ม BOPP กล่าวว่า ที่ประชุมตั้งข้อสังเกตว่า เอ.เจ.พลาสท์เป็นผู้ผลิตเพียงรายเดียว ไม่ใช่ตัวแทนของกลุ่มอุตสาหกรรม อาจไม่ตรงกับนิยามของกฎหมายที่กำหนดไว้ว่า ผู้ที่จะร้องต้องเป็นตัวแทนอุตสาหกรรม

ไม่เสียหายจ่อ-เพิ่มกำลังการผลิต

แหล่งข่าวผู้นำเข้า BOPP กล่าวว่า กรมแจ้งในที่ประชุมว่าการฟ้องร้องเนื่องจากพบว่าในช่วง 9 เดือนมีการนำเข้าสินค้า BOPP จาก 3 ประเทศเพิ่มขึ้นคือ จากมาเลเซีย ปริมาณ 7,200 ตัน คิดเป็น 38% จีน 5,600 ตัน คิดเป็น 30% และอินโดนีเซีย 3,000 ตัน คิดเป็น 16% ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตเสียหาย

แต่จากข้อมูลการรายงานของบริษัทเอเจฯในตลาดหลักทรัพย์ฯ ระบุว่า บริษัทมีกำไร และกำลังจะขยายไลน์การผลิตสินค้า BOPP อีก 1 ไลน์การผลิต กำลังจะมีการซื้อที่ดิน และกำลังจะขยายโรงงานไปที่เวียดนาม นั่นสะท้อนว่าบริษัทไม่ได้มีความเสียหายจากการทุ่มตลาดใช่หรือไม่

หวั่นผูกขาด-ดันต้นทุนพุ่ง

ขณะที่ผู้ใช้ฟิล์มอีกราย กล่าวว่า การพิจารณาเอดีครั้งนี้ขอให้คำนึงถึงผู้ใช้ปลายน้ำ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมด้วย เพราะจะมีผู้ใช้ฟิล์มชนิดนี้อีกนับหมื่นรายที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่อง

“หากมีการพิจารณาเอดีจะนำไปสู่การผูกขาดตลาดในอนาคตหรือไม่ ถึงแม้ว่าจะฟ้องเพียงสินค้าเกรดทั่วไปพิกัดเดียวก็เป็นการเหมารวมทั้งหมดในอุตสาหกรรม นำไปสู่ปัญหาเรื่องราคาสินค้าในอนาคต

เพราะถึงแม้ว่าผู้บริหารชุดนี้จะมายืนยัน แต่หากเปลี่ยนผู้บริหาร นโยบายการกำหนดราคาก็อาจจะเปลี่ยนตามไปด้วย เราเชื่อว่าถ้ามี monopoly แล้ว จะไม่มีคำว่า resonable price แน่นอน”

ขณะที่ประเด็นเรื่องการซัพพลายวัตถุดิบ หากมีการขึ้นเอดี มีผู้ใช้ที่ซื้อสินค้าจากผู้ผลิตรายนี้ตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบันบริษัทยังส่งมอบสินค้าล่าช้าไม่ตรงกำหนด ทำให้บริษัทตนต้องไปขอเลื่อนการส่งมอบสินค้ากับลูกค้าที่เป็นผู้ใช้ จึงกังวลว่าหากในอนาคตมีการใช้มาตรการแล้วบริษัทจะส่งมอบล่าช้า และนำไปสู่ปัญหาที่ต้องเลื่อนหรือถูกปรับจากลูกค้าได้

ย้ำไม่ปรับราคา-ผลิตพอใช้

ด้านนายทศพล จินันท์เดช รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ.เจ.ฯ ซึ่งได้เข้าร่วมประชุมด้วย กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทไม่เคยถูกตำหนิเรื่องคุณภาพสินค้า หรือผลิตเกรดต่าง ๆ ได้ไม่ครบ โดยบริษัทสามารถผลิตได้ทุกเกรดรวมถึงเกรดพิเศษด้วย

แต่ที่เราเรียกร้องให้ไต่สวนเอดีเฉพาะเกรดธรรมดาเท่านั้น อีกด้านหนึ่งในมุมการส่งออกทางเราก็ถูกฟ้องเอดีจากประเทศทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนามเช่นกัน

“บริษัทเน้นเรื่องความสม่ำเสมอในการผลิตและส่งมอบสินค้า เช่น ในช่วงที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกขยับสูงขึ้นจนส่งผลต่อเรซิ่นซึ่งเป็นวัตถุดิบของเรา ก็ยังส่งสินค้าซัพพอร์ตลูกค้าตลอดเวลา ส่วนเรื่องราคาแม้ว่าในช่วงโควิดที่มีความต้องการซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว แต่เรายังขายราคาเดิม หลังจากการประชุมครั้งนี้บริษัทพร้อมที่จะปรับปรุงทุกอย่างตามข้อเสนอให้ดีขึ้น”

เกณฑ์พิจารณาเน้น 3 ประโยชน์

ด้านนายชุตินนท์ สิริยานนท์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า กระบวนการพิจารณาไต่สวนเอดีจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี ซึ่งขณะนี้เหลือเวลาอีก 10 เดือน และยังสามารถขยายระยะเวลาเพิ่มอีกได้ประมาณ 6 เดือน

ส่วนหลักการพิจารณาตามกฎหมาย ทางผู้ผลิตแม้ว่าจะเพียงผู้ผลิตรายเดียวก็สามารถยื่นคำร้องได้เช่นเดียวกัน หากได้รับผลกระทบจากสินค้าที่เข้ามาทุ่มตลาด ซึ่งการทุ่มตลาดหมายถึงสินค้าที่นำเข้ามาขายในไทยในราคาที่ต่ำกว่าราคาที่ขายในประเทศผู้ผลิต

อย่างไรก็ตาม ทตอ.ยังต้องพิสูจน์ว่าความเสียหายที่อ้างนั้นได้รับผลจากการทุ่มตลาดจริง ๆ ไม่ใช่กระทบจากการบริหารงานที่ผิดพลาดของบริษัท

“คณะกรรมการต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งผู้ผลิต ผู้ใช้ โดยนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีจุรินทร์ ในฐานะประธาน ทตอ. ให้พิจารณารอบด้าน ไม่ใช่เฉพาะในมุมผู้ผลิต หรือผู้ใช้ ผู้นำเข้า แต่ต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะร่วมด้วย เพราะเรื่องนี้อยู่ในบทบัญญัติกฎหมาย”