“ทูตสหรัฐ” เสนอพิมพ์เขียว นำไทยสู่ฮับการเงินแข่งฮ่องกง-สิงคโปร์

การเข้ามารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยของ H.E. Mr.Michael George DeSombreได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ ๆ ที่แตกต่างไปจากเอกอัครราชทูตสหรัฐคนก่อน ๆ ไม่ว่าจะเป็น การจัดแถลงข่าวร่วมกับเอกอัครราชทูตหลายประเทศเพื่อให้ข้อแนะนำกับรัฐบาลไทย ถึงการค้าและการลงทุน ไปจนกระทั่งถึงวิธีการที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทยหลัง COVID-19 ด้วยการอ้างอิงถึงระดับความสำเร็จในการแข่งขันกับประเทศสิงคโปร์-ฮ่องกงเป็นคู่เปรียบเทียบ และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทูตสหรัฐก็ได้ทำหนังสือเพื่อยื่นข้อเสนอแนะมาตรการเพื่อการพัฒนาภาคบริการทางการเงินและระบบนิเวศของกลุ่ม startup ของประเทศไทย โดยมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

ดึงกองทุนเข้าประเทศ

เพื่อให้ไทยแข่งขันกับฮ่องกง-สิงคโปร์ ในฐานะการเป็นศูนย์กลางทางการเงินเต็มรูปแบบในระดับภูมิภาคได้ ไทยควรแสวงหามาตรการจูงใจให้ผู้จัดการกองทุนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น กองทุนร่วมลงทุน (venture capital) กองทุนหุ้นนอกตลาด (private equity) และกองทุนที่มีการป้องกันความเสี่ยง (hedge funds) ให้เข้ามาตั้งกิจการในประเทศไทย แต่การแข่งขันกับศูนย์กลางทางการเงินในระดับภูมิภาคอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฮ่องกง-สิงคโปร์ ไทยจะต้องมีการกำหนดอัตราภาษีที่แข่งขันได้ เพื่อดึงดูดผู้จัดการกองทุนและผู้ประกอบอาชีพด้านบริการทางการเงิน

ด้วยการลดหรือยกเลิกภาษีที่เก็บจากกำไรจากการขายหลักทรัพย์ที่ถูกหักตามภาษีเงินได้นิติบุคคล/ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา, การลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (อัตราสูงสุดไทยเก็บที่ 35% ในขณะที่สิงคโปร์อยู่ที่ 17% ฮ่องกง 16.5%), ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล (ไทย 20% สิงคโปร์ 17% ฮ่องกง 15%), การยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 15% ที่คิดจากทรัพย์สินทางปัญญาที่จดทะเบียนในไทย, อนุญาตให้มีการแปลงหนี้เป็นทุนและแปลงหุ้นบุริมสิทธิเป็นหุ้นสามัญได้ โดยให้บันทึกธุรกิจดังกล่าวให้เป็นรายการที่ไม่ต้องเสียภาษี

เคลื่อนย้ายเงินเข้า-ออกเสรี

การผ่อนคลายมาตรการควบคุมเงินตราของธนาคารแห่งประเทศไทยลง จากเหตุผลที่ว่ากองทุนต่าง ๆ ที่จะเข้ามาตั้งในประเทศไทยจะต้องสามารถเคลื่อนย้ายเงินเข้า-ออกได้ เมื่อมีการขายหุ้นหรือการลงทุนอื่น ๆ ที่จะต้องมีการ “แปลงค่า” จากเงินบาทได้เต็มตามจำนวนและสามารถเคลื่อนย้ายสกุลเงินต่างประเทศได้อย่างเสรี โดยธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจะต้องยอมรับความผันผวนของค่าเงินบาทที่เพิ่มสูงขึ้น เพื่อแลกกับการมีสภาพคล่อง แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงดำเนินมาตรการอื่น ๆ เพื่อป้องกันความผันผวนหรือการบิดเบือนค่าเงิน (manipulation) ได้

ดังนั้น การผ่อนคลายควรเริ่มจากการอนุญาตให้กองทุนที่จะเปิดสำนักงานใหญ่ในไทยสามารถเปิดบัญชีสกุลเงินบาทได้โดยไม่จำกัดวงเงิน และให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนได้อย่างเสรี โดยไม่มีขั้นตอนยุ่งยากซับซ้อน อาทิ การยกเลิกเงินสกุลเงินบาทสำหรับผู้มีถิ่นฐานนอกประเทศไทยในการทำธุรกรรมทางธนาคารทั่วไป และการยกเลิกบัญชีสกุลเงินบาทสำหรับผู้มีถิ่นฐานนอกไทยเพื่อการลงทุนในหลักทรัพย์และตราสารทางการเงิน รวมทั้งการไม่จำกัดวงเงินสำหรับธนาคารไทยในการกู้ยืมเงินบาทเพื่อเสริมสภาพคล่องด้วย

นอกจากนี้ ควรลดขั้นตอนเอกสาร/กระบวนการอนุมัติการซื้อขายเงินตราต่างประเทศและตราสารอนุพันธ์เงินตราต่างประเทศ ณ ธนาคารที่ได้รับอนุญาต และยกเลิกกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการนำส่งเงินตราต่างประเทศกลับประเทศ

ให้ Visa นักธุรกิจการเงิน-บัญชี-กม.

รัฐบาลไทยต้องมีการผ่อนคลายเกี่ยวกับข้อจำกัดด้านแรงงานต่างชาติที่มีฝีมือในอุตสาหกรรมเป้าหมาย-ธุรกิจต่อเนื่องและที่ปรึกษาทางด้านการเงิน ด้วยการให้ผู้ลงทุนในภาคการเงินได้รับการ “ยกเว้น” ไม่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดเรื่องโควตาในการจ้างแรงงานต่างชาติสำหรับระดับประธาน-ผู้บริหารระดับสูง-ผู้ชำนาญการพิเศษเป็นเวลา 10 ปี, การผ่อนคลาย visa สำหรับธุรกิจที่ให้บริการทางการเงินและที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมาย-บัญชี-การเงิน ให้บริษัทยื่นเอกสารเป็นรายปีในการรักษา visa

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยจะสามารถดึงดูดบุคลากรทางด้านการเงินที่มีความสามารถสูง ๆ เข้ามาในประเทศได้ด้วยการผ่อนคลายข้อกำหนดในการได้รับใบอนุญาตและหนังสือรับรองของท้องถิ่น อาทิ ในระยะเปลี่ยนผ่านให้บุคคลต่างชาติที่ถือใบอนุญาตที่ยังไม่หมดอายุและออกโดยผู้กำกับหลักทรัพย์ที่เป็นที่ยอมรับ (ใบอนุญาตในฮ่องกง) ได้รับ “ยกเว้น” ไม่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านการขอใบอนุญาตของไทย และควรจัดให้มีการสอบใบอนุญาตสำหรับภาคบริการทางการเงินทุกประเภทเป็นภาษาอังกฤษ และธุรกิจที่ให้บริการเสริมทางภาคการเงิน อาทิ บริษัทกฎหมาย-นักบัญชีจะต้องไม่มีข้อจำกัดทางกฎหมายและให้สามารถดำเนินกิจการได้เช่นเดียวกับบริษัทไทย

นำการเงินเข้าสู่ระบบดิจิทัล

ไทยควรต้องพัฒนากฎหมายห้างหุ้นส่วนจำกัดเพื่อสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนที่มีการระดมเงินทุนจากภายในประเทศเพื่อนำมาลงทุนนอกประเทศ การอนุญาตให้หุ้นส่วนสามัญสามารถจัดตั้งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดได้ ต้องอนุญาตให้เอกสารบางฉบับขององค์กรเป็น “ข้อมูลที่เป็นความลับ” และต้องมีการปรับปรุง กม.อีกหลายฉบับที่ใช้กำกับดูแลให้มีความทันสมัยด้วยการเปรียบเทียบกับ กม.ที่ใช้บังคับในฮ่องกงและสิงคโปร์

แนวทางการปฏิรูปกฎหมายจะต้องครอบคลุมถึงข้อกำหนดเรื่องการนำส่งเงินกลับประเทศ (repatriation requirements), ข้อกำหนดเรื่องเงินกองทุนที่ต้องดำรงไว้มากจนเกินไป, ข้อกำหนดเรื่องวงเงินข้ามวัน (overnight balances), กฎเกณฑ์การจดทะเบียนของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯที่มากเกินไป, ข้อจำกัดเกี่ยวกับประเภทสินทรัพย์ที่สามารถใช้เป็นหลักประกันและขั้นตอนการดำเนินการที่เกี่ยวข้องและข้อจำกัดเกี่ยวกับการตั้งสำนักงานสาขาของธนาคารต่างประเทศ เป็นต้น
ส่วนการพัฒนาอุตสาหกรรมบริการทางด้านการเงินเข้าสู่ระบบดิจิทัลนั้น นับเป็นโอกาสอันดีที่ผู้บริโภคและภาคธุรกิจไทยเริ่มคุ้นเคยกับการใช้บริการดิจิทัลในช่วงของการล็อกดาวน์จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ดังนั้น ไทยควรจะต้องปรับปรุงการทำงานของระบบพร้อมเพย์ ด้วยการเพิ่มความปลอดภัย เพิ่มความถี่ในการเคลียริ่ง (clearing frequency) และการเชื่อมต่อกับระบบกลไกการชำระเงินระหว่างประเทศ (อาทิ การเชื่อมโยงไปยังสิงคโปร์) การเพิ่มวงเงินการทำธุรกรรมพร้อมเพย์ จาก 2 ล้านบาทเป็น 10 ล้านบาท

นอกจากนี้ รัฐบาลไทยควรสร้างแรงจูงใจให้เกิดนวัตกรรมและส่งเสริมการเกิดขึ้นของ startup เพื่อให้ไทยเป็น unicorn (startup ที่มีมูลค่าสูงกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ) ด้วยการ “ยกเว้น” ภาษีจาก BOI ในช่วง 10 ปี หลังจากที่ startup รายนั้นมีกำไรจากการประกอบธุรกิจ การพัฒนากองทุนร่วมลงทุนสำหรับ startup (anget fund of fund) การช่วยเหลือจากรัฐสำหรับการระดมเงินทุนสาธารณะ (crowdfunding) และการออกมาตรการจูงใจสำหรับบริษัทผู้นำทางเทคโนโลยี (Tentpole Tech)