ไทยเทสต๊อกเร่งส่งออกปาล์ม รัฐอัดฉีดชาวสวนเฮราคาขยับ 7 บ./กก.

ปาล์ม

ยอดส่งออกปาล์มน้ำมันหลังรัฐบาลหนุนระบายสต๊อก พุ่ง 183% ตลาดอินเดียมาแรง ด้าน ส.โรงกลั่นหวั่นปลายฤดูราคาผลปาล์มพุ่ง เฉียด กก.ละ 7 บาท ฉุดส่งออกไตรมาส 4 ร่วง ด้านเกษตรกรจ๋อยราคาแพงชวดเงินชดเชยประกันรายได้

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การส่งออกน้ำมันปาล์มในเดือนตุลาคม 2563 มีปริมาณเพิ่มขึ้น 183.0% ถือเป็นการขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน โดยตลาดส่งออกสำคัญ คือ อินเดีย มาเลเซีย จีน ลาว และมาลาวี ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรที่มีการส่งออกขยายตัวเป็นอันดับต้นของไทย

ปาล์ม

นายกฤษดา ชวนะนันท์ นายกสมาคมโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์การส่งออกน้ำมันปาล์มดิบในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา (กรกฎาคม-ตุลาคม 2563) ขยายตัวเป็นอย่างมาก

เห็นจากการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีปริมาณ 30,000-40,000 ตัน เป็นผลจากมีปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบส่วนเกินจำนวนมาก ประกอบกับนโยบายรัฐบาล ที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ส่งเสริมการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบไปต่างประเทศเพื่อระบายสต๊อก ทำให้การส่งออกเพิ่มขึ้น

โดยเฉพาะตลาดอินเดียเป็นตลาดที่ส่งออกไปเติบโตเพิ่มขึ้นมากเทียบกับช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีปริมาณการส่งออกไม่มากนัก

โดยแนวโน้มช่วงปลายปี 2563 การส่งออกจะชะลอตัวลง เป็นผลจากปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบลดลง เพราะผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ส่งผลให้ราคาผลปาล์มสูงขึ้น

โดยเฉลี่ยปาล์มน้ำมันที่เปอร์เซ็นต์น้ำมัน 18% กก.ละ 6-7 บาท สูงกว่าระดับราคาประกันรายได้ กก.ละ 4 บาท และราคาน้ำมันปาล์มดิบขยับจาก 20-25 บาท ไปเป็น กก.ละ 30 บาท ซึ่งทำให้การส่งเสริมการใช้น้ำมันปาล์มดิบในการผลิตพลังงานลดลงเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามเรื่องการส่งเสริมไบโอดีเซลที่ผ่านมายังไม่มากเท่าที่ควร เพราะการแพร่ระบาดของโควิดทำให้ประชาชนลดการเดินทาง ความต้องการใช้น้ำมันลดลง ส่งผลให้ยอดการใช้น้ำมันปาล์มดิบสำหรับผลิตไบโอดีเซล เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 120,000 ตัน จากก่อนหน้านี้เคยสูงถึง 150,000 ตัน

ส่วนความต้องการนำน้ำมันปาล์มดิบสำหรับใช้ในการผลิตไฟฟ้า หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับซื้อ ก็มีการรับซื้อไปเพียง 37,000 ตัน

คาดว่าจากนี้ กฟผ.คงไม่รับซื้อเพื่อไปผลิตไฟฟ้าแล้ว ขณะที่ความต้องการบริโภคน้ำมันปาล์มก็ลดลงด้วย จากการที่ราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวดไม่แตกต่างจากราคาน้ำมันถั่วเหลืองมากนัก จึงทำให้ผู้บริโภคหันไปซื้อน้ำมันถั่วเหลืองแทน ซึ่งคาดการณ์เฉลี่ยจะลดลงเหลือเดือนละ 70,000-80,000 ตัน จากปกติที่ใช้ 100,000 ตันต่อเดือน ลดลงมาอยู่ที่ 70,000-80,000 ตันต่อเดือน

“การส่งออกในปี 2564 ยังต้องรอประเมินในช่วงผลผลิตจะเริ่มออกสู่ตลาดมาก ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เนื่องจากราคาผลปาล์มจะลดลง หากมีปริมาณเพิ่มมากเกินกว่าปริมาณความต้องการใช้อาจจะผลักดันให้มีการส่งออก แต่ขณะนี้สต๊อกน้ำมันปาล์มดิบลดลงแล้วไม่ได้สูงมากจึงยังประเมินไม่ได้ว่าจะส่งออกได้อย่างที่ผ่านมาหรือไม่”

นายชโยดม สุวรรณวัฒนะ ประธานชมรมคนปลูกปาล์มน้ำมัน จ.กระบี่ กล่าวว่า สถานการณ์ผลผลิตปาล์มในช่วงนี้เป็นช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ทำให้ปริมาณราคาผลปาล์ม กก.ละ 4-7 บาท ขึ้นอยู่แต่ละพื้นที่และเปอร์เซ็นต์น้ำมันปาล์ม หากผลปาล์มที่มีเปอร์เซ็นต์น้ำมันที่ 18% ราคา กก.ละ 6-7 บาท โดยคาดว่าหากผลผลิตปาล์มออกสู่ตลาดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป แนวโน้มราคาผลปาล์มจะอ่อนตัวลงมาอยู่ที่ กก.ละ 2-5 บาท


“ผลจากราคาปาล์มน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นถึง กก.ละ 7 บาท เกินกว่าระดับราคาประกันรายได้ที่กำหนด กก.ละ 4 บาท ทำให้เกษตรกรไม่ได้รับชดเชยส่วนต่างโครงการประกันรายได้”