บีโอไอปรับแผนดูดลงทุน เพิ่มอุตฯ “โปรตีนทางเลือก”

แล็ปทดลอง

เปิดเผยปี’64 บีโอไอตะลุยพบนักลงทุน พร้อมปรับเงื่อนไข เพิ่มประเภทกิจการ ครอบคลุมโปรตีนทางเลือก-บริการดีลิเวอรี่ทางการแพทย์-ไบโอโพลิเมอร์หวังดูดการลงทุนกลับ พร้อมสั่ง 16 สนง. ดันลงทุนนอกคู่ขนาน

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากที่วิกฤตโควิด-19 ทำให้การลงทุนของปี 2563 ชะลอตัวลง ดังนั้น ในปี 2564 บีโอไอต้องปรับแผนเพื่อดึงการลงทุนกลับมา คู่ขนานกับการส่งเสริมการขยายการลงทุนออกไปต่างประเทศ โดยผ่านสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุนในต่างประเทศ 16 สาขาทั่วโลก

ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

สำหรับแผนการกระตุ้นการลงทุนในประเทศ จะจัดให้มีการสร้างเครือข่าย (networking) ระหว่างบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอไปแล้ว เพื่อให้กลุ่มนักลงทุนดังกล่าวมีโอกาสพบกันถือเป็นอีกช่องทางในการสร้างพันธมิตร (พาร์ตเนอร์) การหาช่องทางการตลาด กระจายสินค้า

มีเป้าหมาย เพื่อให้ได้ 1+1 เท่ากับ 3 ทั้งยังจะมีการจัดกิจกรรมพบนักลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย อย่างอุตสาหกรรมการแพทย์ อุตสาหกรรมอาหาร ทั้งรายเล็ก SMEs และ startup

“การที่จะดึงการลงทุนกลับมาได้ เราต้องดูว่ายังเหลือประเภทกิจการใดที่ยังไม่ได้รับการส่งเสริมอีกบ้าง ซึ่งมีการประเมินแนวโน้มว่าปีหน้าอุตสาหกรรมยา การแพทย์ อาหาร คือ ดาวรุ่ง ในเมื่อไทยเก่งเรื่องอาหารก็ควรส่งเสริมกิจการที่เกี่ยวข้อง เช่น โปรตีนทางเลือก หรือ alternative protein ในแผนปี 2564 ต้องปรับเพื่อดึงการลงทุน คือ พยายามจัดกิจกรรมพบนักลงทุนให้มากขึ้น”

นางสาวดวงใจ กล่าวว่า จากการพบนักลงทุน ทำให้บีโอไอทราบว่ายังมีประเภทกิจการที่บีโอไอยังไม่มีการส่งเสริมจึงได้ปรับปรุงเพิ่มประเภทกิจการ รวมถึงปรับเงื่อนไขบางประเภทกิจการ ที่ยังไม่มีการสนับสนุน เช่น ประเภทกิจการโปรตีนทางเลือก (alternative protein) ประเภทกิจการบริการจัดส่งทางด้านการแพทย์ (delivery) ประเภทกิจการสารที่ได้จากพืช (biopolymer) หรืออาจเพิ่มหมวดใหม่ขึ้นมา แล้วจัดกลุ่มประเภทกิจการใหม่ เป็นต้น

ซึ่งล่าสุดบอร์ดบีโอไอเปิด 4 ประเภทกิจการใหม่ คือ กิจการโรงพยาบาลผู้สูงอายุ และศูนย์ดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง กิจการสนับสนุนและบริหารจัดการการวิจัยทางคลินิก และศูนย์การวิจัยทางคลินิก

ที่ผ่านมาประเภทกิจการที่ใช้นวัตกรรมสำคัญ และเป็นเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมหลักในอนาคตของประเทศ เช่น กิจการเทคโนโลยีชีวภาพ กิจการบริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ อุตสาหกรรมการแพทย์ มียอดขอรับการส่งเสริมสะสม 3 ปี (2561-2563) สูงถึง 39,474 ล้านบาท 171 โครงการ เช่น บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด การผลิตโมเลกุลโปรตีนจากพืช และบริษัท แนบโซลูท จำกัด บริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์

อีกด้านหนึ่ง บีโอไอมีแผนจะผลักดันการออกไปลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะแถบประเทศเพื่อนบ้านทั้ง CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) ซึ่งแม้ว่าในขณะนี้ประเทศกลุ่มนี้จะยังมีปัญหาเรื่องการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างหนัก ทำให้มีการปิดประเทศ (ล็อกดาวน์) จนนักลงทุนไม่สามารถเดินทางได้ แต่ก็ยังเป็นประเทศที่นักลงทุนให้ความสนใจอยู่เช่นเดิม ทางบีโอไอเตรียมจัดกิจกรรมพบนักลงทุนในพื้นที่แถบจังหวัดชายแดน ซึ่งจะเริ่มที่จังหวัดแถบชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในเร็ว ๆ นี้


และได้มอบนโยบายการทำงานให้สำนักงานเศรษฐกิจการลงทุนในต่างประเทศ 16 สาขาในทั่วโลก ให้ใช้การพูดคุยผ่านระบบออนไลน์อย่างสม่ำเสมอแม้ว่าจะติดปัญหาโควิด