“ทองเปลว” ปรับลุคภาคเกษตร gri Challenge ตั้งเป้าปี’65 จีดีพีไม่ต่ำ 3.8%

Photo by Tauseef MUSTAFA / AFP

ปลัดเกษตรฯ ลุย “เชื่อมโยงการบริหาร แปลงสารให้ชัด จัดสรรให้ถูก” มุ่งขับเคลื่อนการดำเนินงานกระทรวงเกษตรฯ 8 ข้อ สู่การปฏิรูปภาคเกษตร ลั่นปี 2565 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพีเกษตร) เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 3.8 ต่อปี เกษตรกรที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี พื้นที่ชลประทานเพิ่มปีละ 350,000 ไร่

วันที่ 1 ธ.ค. 2563 นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมมอบแนวทางการขับเคลื่อนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่าแนวทางการขับเคลื่อนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้แนวคิด “Agri Challenge” จะมุ่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายรัฐบาล นโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้บรรลุเป้าหมาย แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้เกษตรกร วางรากฐานการทำงานของกระทรวงรองรับความปกติใหม่ (New Normal) และสร้างเอกภาพในการขับเคลื่อนภารกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

โดย “เชื่อมโยงการบริหาร แปลงสารให้ชัด จัดสรรให้ถูก” คือการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์กับพันธกิจของกระทรวง สร้างการสื่อสารนโยบายของกระทรวงไปยังผู้ปฏิบัติ และบริหารจัดการให้สอดคล้องกับภารกิจ สอดคล้องนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้ง 8 ข้อ คือ 1) เกษตรกรรมยั่งยืน 2) แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า 3) ข้อมูลด้านการเกษตร 4) การประมงยั่งยืน 5) ตลาดนำการผลิต 6) ลดต้นทุนการผลิต 7) พัฒนา ศพก. และ 8) บริหารจัดการแหล่งน้ำ

ส่วนเป้าหมายการขับเคลื่อนภาคเกษตรภายในปี 2565 มุ่งเน้น 4 ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย 1) ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศสาขาเกษตรเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 3.8 ต่อปี 2) ผลิตภาพการผลิตของภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 1.2 ต่อปี 3) เกษตรกรที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี และ 4) พื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าปีละ 350,000 ไร่

“สำหรับภารกิจเร่งด่วน ที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบายให้บรรลุเป้าหมาย แบ่งเป็น 3 ด้าน ประกอบด้วย 1) ภารกิจเร่งด่วน เช่น งานโครงการพระราชดำริ โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ โครงการเกษตรแปลงใหญ่ โครงการ Smart Farmer เป็นต้น 2) การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้เกษตรกร ”

ทองเปลว กองจันทร์

เช่น ภัยแล้ง ภัยพิบัติ ฝุ่น การรับเรื่องร้องทุกข์ เป็นต้น และ 3) การวางรากฐานการทำงานของกระทรวงรองรับความปกติใหม่ (New Normal) เช่น การกำหนดตัวชี้วัดร่วม การติดตามระบบการทำงานต่าง ๆ เป็นต้น ทั้งนี้ ทุกภารกิจจะมีการมอบหมายผู้บริหารและหน่วยงานเจ้าภาพที่ชัดเจน เพื่อการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งขอให้ทุกฝ่ายเร่งดำเนินการ และสำหรับภารกิจใดที่ยังไม่ชัดเจน ต้องเร่งหารือกำหนดแนวทางให้ชัดเจน

โดยจะกำหนดให้มีการประชุมผู้บริหารของกระทรวงเป็นประจำทุกเดือน ในคณะกรรมการบริหารการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและการแก้ไขปัญหาภาคเกษตร รวมทั้งให้สื่อสารไปยังทุกหน่วยงานทั้งในส่วนกลางและจังหวัดทันทีหลังจากการประชุม เพื่อความเข้าใจและการปฏิบัติงานอย่างเป็นเอกภาพ