19 จังหวัดผวาโรคระบาดหมู กระทุ้งรัฐแก้หวั่นสูญ 2 แสนล้าน

วงการหมูหวั่นอหิวาต์ ASF แพร่เข้าไทย 19 จังหวัดเหนือ-อีสาน-กลาง-ตะวันตก ระทึก ล่าสุดฟาร์มหมู “ปากท่อ ราชบุรี” เมืองหลวงผู้เลี้ยงสุกรแจ็กพอตโรคระบาดลึกลับ หมูติดโรคไม่ป่วยไม่ตาย แต่แพร่เชื้อได้ ชี้ไวรัสกลายพันธุ์ จี้รัฐสกัดด่วนก่อนกระทบผู้เลี้ยงทั้งระบบ 2 แสนล้าน

แหล่งข่าวจากวงการผู้เลี้ยงสุกรเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้วงการผู้เลี้ยงสุกรกำลังวิตกกังวลอย่างมากหลังมีกระแสข่าวเกิดโรคระบาดในฟาร์มหมูหลายจังหวัด โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโรคในฟาร์มหมูขุนขนาดกลางแห่งหนึ่งในพื้นที่ อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี ซึ่งเปรียบเหมือนเมืองหลวงของผู้เลี้ยงสุกร เนื่องจากมีผู้เลี้ยงรายใหญ่ รายกลาง รายย่อย อยู่จำนวนมาก มีแม่พันธุ์หมูรวมกันทั้งจังหวัดกว่า 4 แสนแม่ เพราะหากไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้จะกระทบต่อผู้เลี้ยงสุกรในวงกว้างมหาศาล คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท ที่สำคัญหวั่นเกรงว่าจะเกิดการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในหมู (ASF) ซึ่งเคยระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน

19 จังหวัดผวาอหิวาต์หมู

ขณะเดียวกัน พื้นที่เลี้ยงหมูใน 19 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคเหนือตอนบน-ตอนล่าง รวม 11 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา น่าน แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูนลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ พิจิตร เพชรบูรณ์, ภาคกลาง ได้แก่ นครสวรรค์, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ นครราชสีมา และบุรีรัมย์, ภาคตะวันออก 2 จังหวัด ได้แก่ ปราจีนบุรี และสระแก้ว และภาคตะวันตก ได้แก่ ตาก ได้เกิดการระบาดของโรคในลักษณะคล้าย ๆ กัน กระแสความวิตกกังวลเกี่ยวกับโรค ASF จึงเกิดขึ้นในวงกว้าง แม้กรมปศุสัตว์ไม่ได้ประกาศว่าตรวจสอบพบโรค ASF ในประเทศไทย

ที่น่าห่วงคือกรมปศุสัตว์ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลเพียงหน่วยงานเดียว ไม่มีบุคลากรและงบประมาณเพียงพอในการควบคุมการระบาดของโรค รวมทั้งการลักลอบเคลื่อนย้ายหมู่ ทั้งที่รัฐบาลได้ยกระดับเรื่อง ASF เป็นวาระแห่งชาติ ผลที่ตามมาจึงขาดการบูรณาการทำงานระหว่างหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังไม่มีการประกาศใช้กฎหมายควบคุมการเคลื่อนย้ายอย่างชัดเจน ทำได้เพียงการขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน

ASF กลายพันธุ์ยิ่งอันตราย

แหล่งข่าวกล่าวว่า ล่าสุดมีกระแสข่าวว่าสาเหตุที่ยังตรวจสอบไม่พบการระบาดของโรค ASF ส่วนหนึ่งมาจากการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส ASF ทำให้สุกรที่มีเชื้อไม่แสดงอาการป่วย แต่สามารถแพร่เชื้อได้ ทั้งนี้ หากเชื้อที่กำลังระบาดในฟาร์มหมูหลายพื้นที่เป็นเชื้อ ASF แต่รัฐบาลยังไม่ยอมรับว่าประเทศไทยมีการระบาดของโรคดังกล่าว และเลี่ยงว่าเป็นโรคเพิร์ส หรือ PRRS โดยมีการฆ่าหมูไปไม่ต่ำกว่า 3 แสนตัวแล้ว แม้จะมีการจ่ายเงินชดเชย แต่จ่ายได้ไม่มากนัก และยิ่งทำให้มีการแอบลักลอบเคลื่อนย้ายหมูมากขึ้น จะส่งผลกระทบให้โรคแพร่ระบาดกระจายวงกว้างไปในทุกภาค

หากเป็นอย่างนั้น ผู้เลี้ยงรายย่อยที่ไม่สามารถควบคุมโรคได้จะล้มหายออกจากระบบกันหมด ขณะที่ผู้เลี้ยงรายใหญ่ต่างขยายการเลี้ยงทดแทนรายย่อยที่หายไป จึงเกรงกันว่าอนาคตวงการหมูจะเป็นของผู้เลี้ยงรายใหญ่ทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ”

ลักลอบขนหมูต้นตอแพร่โรค

“สัปดาห์ที่ผ่านมาฟาร์มแห่งหนึ่ง ใน อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี พบโรคระบาดและได้ทำการฆ่าและกลบฝังหมูจำนวนหนึ่ง โดยเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทำการสอบสวนโรคพบว่า ฟาร์มดังกล่าวได้ซื้อลูกสุกรขนาดเล็กมาจากฟาร์มแห่งหนึ่งใน จ.บุรีรัมย์ เพื่อนำมาขุน และก่อนหน้านี้ฟาร์มรายนี้ได้เคลื่อนย้ายลูกหมูบางส่วนไปยังฟาร์มในพื้นที่ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนกลับไปเก็บเชื้อในฟาร์มต้นทางที่ จ.บุรีรัมย์ กลับไม่พบเชื้อ จึงยังไม่ทราบแน่ชัดว่าหมูขุนในฟาร์มที่ปากท่อติดโรคมาจากไหน สันนิษฐานว่ามีความเป็นไปได้อีกกรณีว่าติดโรคมาจากรถขนย้าย

ขณะที่ผู้เลี้ยงหมูรายใหญ่เองหลายรายก็วิตกกังวลกรณีหมูติดโรคระบาด ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาการลักลอบขนย้ายหมูโดยมีการจ่ายเงินใต้โต๊ะ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องเข้มงวดและดำเนินการกับผู้กระทำผิดโดยเฉียบขาด มิฉะนั้นจะเกิดการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในวงกว้างตอนนี้หลายคนลดการจ่ายเงินลงขันลงในส่วนของภาคเอกชนที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติเคยขอความร่วมมือไว้ เพราะต่างต้องเก็บเงินไว้ใช้กรณีมีปัญหา”

13 จังหวัดเสี่ยง

แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรฯเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วงกลางเดือนที่ผ่านมาได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการอำนวยการป้องกันควบคุมและกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร ครั้งที่ 3ที่กระทรวงเกษตรฯ โดยมี นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นั่งเป็นประธาน โดยที่ประชุมได้มีการรายงานสถานการณ์ของโรค ASF การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 และงบฯกลางสำรองจ่าย เพื่อเป็นการป้องกันและชดเชย ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง 13 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย,เชียงใหม่, พะเยา, น่าน, ลำพูน, แม่ฮ่องสอน,ลำปาง, แพร่, ตาก, อุตรดิตถ์, นครราชสีมา, บุรีรัมย์ และสระแก้ว

ทั้งนี้ ได้มีรายงานจากสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์ ที่ได้มีการเก็บตัวอย่างการตรวจหาสารพันธุกรรมของ ASF ทางห้องปฏิบัติการ ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2562 จากผลิตภัณฑ์จากเนื้อสุกร จำนวน 3,256 ตัวอย่าง พบผลเป็นบวก 316 ตัอย่าง เก็บตัวอย่างวัตถุดิบอาหารสัตว์ จำนวน 464 ตัวอย่าง ไม่พบผลบวก ขณะที่เก็บสารพันธุกรรมจากสุกรมีชีวิตในฟาร์มและโรงฆ่าซากสุกร จำนวน 22,254 ตัวอย่าง พบการตรวจเป็นบวก 17 ตัวอย่าง

กรมปศุสัตว์ป้องกันเข้ม

ขณะที่แหล่งข่าวจากวงการปศุสัตว์เปิดเผยว่า การตรวจสอบพบ ASF ในทางปฏิบัติมีความเป็นไปได้ แต่หลักสำคัญหากตรวจพบโรคในระดับที่สามารถคอนโทรลได้ หรือประเมินว่าไม่รุนแรง กรมปศุสัตว์อาจไม่ออกประกาศเรื่องการระบาด เช่น ก่อนหน้านี้เคยมีเคสแถบชายแดน จ.เชียงราย สามารถควบคุมการระบาดได้ใน 1-2 สัปดาห์ ทำให้ไทยได้รับการชื่นชมจากต่างประเทศว่าสามารถป้องกัน ASF ได้ดี ตลอด 2 ปี

“ที่ผ่านมาภาครัฐโดยเฉพาะกรมปศุสัตว์จริงจังในการป้องกันการแพร่ระบาดมาก ฟาร์มต่าง ๆ ก็เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น normal practice ถ้าเจอก็ต้องฝังกลบ ไม่ให้แพร่กระจาย ไม่เพียงต้องออกประกาศห้ามเคลื่อนย้ายหมูป้องกันการแพร่กระจายเท่านั้น แต่ต้องเพิ่มมาตรการฝังกลบทันที ซึ่งต้องได้รับงบประมาณสนับสนุนเพิ่ม เพราะหากปล่อยให้ผู้เลี้ยงรายย่อยตื่นกลัวขายหมูออกมา จะมีการเคลื่อนย้ายหมู”

ราคาลดลงระยะสั้น

ส่วนผลกระทบต่อตลาดหมูจะกระทบด้านราคา กรณีตรวจสอบพบ ASF ราคาจะลดลงในระยะสั้น เพราะผู้เลี้ยงโดยเฉพาะรายย่อยจะเทขายหมูออกมาก่อน จากนั้นเมื่อปริมาณการเลี้ยงลดลง ซัพพลายลดลง ราคาจะปรับขึ้นตามกลไกตลาด โครงสร้างการเลี้ยงหมูของไทยต่างจากจีนและเวียดนาม เพราะไทยเลี้ยงหมูทั้งระบบ 18-20 ล้านตัว เป็นการผู้เลี้ยงรายใหญ่ 10 ราย เช่น ซีพี เบทาโกร เซ็นทาโกร ไทยฟู้ด 40-50% ที่เหลือเป็นรายย่อย

ต่างจากเวียดนามและจีนซึ่งมีสัดส่วนการเลี้ยงโดยรายย่อยมากกว่า การคอนโทรลทำได้ยากกว่าไทย เช่น ในเวียดนาม เมื่อพบเชื้อราคาดิ่งไป 4 เดือนจึงปรับขึ้น ตอนนี้ราคาหมูกก.ละ 200 บาท แพงกว่าไทยที่ กก.ละ 150 บาท ส่วนในจีนราคาขยับขึ้นถึง กก.ละ 300 บาท

“ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหมูปลายทางของไทยลดลง กก.ละ 20 บาท อาจมาจากปัจจัยอื่น จากที่ไทยเลี้ยงใช้บริโภคในประเทศเป็นหลัก ส่งออกน้อยเดือน ต.ค.เป็นช่วงเทศกาลกินเจ ประชาชนลดบริโภคหมู ต่อด้วยการปิดภาคเรียน ทั้งหมู ไก่ ไข่ ราคาลดลงหมด แต่หลังเปิดภาคเรียนราคาจะขยับสูงขึ้น ส่วนผลกระทบด้านการส่งออกหากเกิดการแพร่ระบาดจะอ่อนไหว กระทบการส่งออกบ้างแต่ไม่มาก เพราะไทยส่งออกหมูน้อย”