กรมเจรจาการค้าชงผลดี FTA-อียู GDP เพิ่มแลกคุ้มครองทรัพย์สินปัญญา

FTA

เปิดผลศึกษาเอฟทีเอไทย-อียู ยกเลิกภาษีทุกรายการช่วยดันจีดีพีเพิ่ม 1.28% มูลค่า 2.05 แสนล้านบาทต่อปี ช่วยลดช่องว่างความยากจน 0.07% เตรียมชง “จุรินทร์” พิจารณา คาดเข้า ครม.ไฟเขียวต้นปี’64

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยผลศึกษาถึงประโยชน์และผลกระทบจากการฟื้นเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) โดยสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (ไอเอฟดี) พบว่า หากเอฟทีเอยกเลิกภาษีนำเข้าระหว่างกันทั้งหมดจะช่วยให้จีดีพีของไทยขยายตัวในระยะยาว 1.28% คิดเป็นมูลค่า 2.05 แสนล้านบาทต่อปี โดยการส่งออกเพิ่มขึ้น 2.83% หรือ 2.16 แสนล้านบาทต่อปี และการนำเข้าเพิ่มขึ้น 2.81% หรือ 2.09 แสนล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ ผลจากเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจะทำให้คนจนลดลง 2.7 แสนคน รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น 1.1% ช่องว่างความยากจนลดลง 0.07%

โดยสินค้าส่งออกที่มีโอกาสส่งออกดีขึ้น เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้าและสิ่งทอ ผลิตภัณฑ์อาหาร เคมีภัณฑ์ ยาง และพลาสติก เป็นต้น ส่วนการเปิดเสรีภาคบริการ เช่น สิ่งแวดล้อม การจัดส่งสินค้า การเงินและประกันภัย และการขนส่งทางทะเล จะช่วยลดต้นทุนการผลิต ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว 5% หรือ 8.01 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ประเด็นท้าทายของเอฟทีเออียู จะมีเรื่องการยกระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งการขยายระยะเวลาการคุ้มครองสิทธิบัตร จากความล่าช้าในการขึ้นทะเบียนวางตลาดยา การผูกขาดข้อมูลยา การให้ความคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ตามแนวทาง UPOV 1991 และการคุ้มครองสิทธิแรงงานตามแนวทางของแรงงานโลก (ILO)

พร้อมกันนี้ กรมยังได้สำรวจความคิดเห็นประชาชน 1,036 ตัวอย่างทั่วประเทศ พบว่า ส่วนใหญ่เห็นว่าการนำเข้าสินค้าจากอียู จะทำให้ได้รับสินค้าที่มีคุณภาพสูงขึ้นและมีตัวเลือกหลากหลายมากขึ้น

“การศึกษานี้พบทั้งประโยชน์และผลกระทบ แต่ก็อยู่ภายใต้สมมุติฐานเชิงวิชาการเท่านั้น ซึ่งในทางปฏิบัติกรมยังจำเป็นต้องหารือกับทุกภาคส่วน จัดทำท่าทีการเจรจาแต่ละประเด็นอย่างรอบคอบ รัดกุม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ร่วมหาแนวทางช่วยเหลือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยประชาชนสามารถอ่านผลศึกษาฉบับเต็มจากเว็บไซต์ www.dtn.go.th จากนั้นกรมจะนำผลศึกษารวมถึงผลการรับฟังความคิดเห็นเสนอนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พิจารณาก่อนเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติเจรจาในช่วงต้นปี 2564”