พณ.เผยพฤติกรรมผู้มีรายได้น้อย45% ซื้ออาหาร-ปรุงในบ้าน สอดรับบัตรคนจน เกาะติดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า โครงการสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย ถือว่ารัฐบาลมาถูกทางแล้ว ในเรื่องเพิ่มรายได้และลดภาระประชาชน ทั้งนี้ ดูจากการสำรวจราคาสินค้าและบริการในสินค้าจำเป็นต่อชีวิตประจำวัน ในเดือนกันยายน 2560 พบว่า ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศ ค่าใช้จ่ายรวมเฉลี่ยเดือนละ 11,554 บาท/ครัวเรือนสมาชิกไม่เกิน 5 คน โดยสัดส่วน 45.12% เป็นการใช้จ่ายอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ มีการซื้ออาหารเพื่อบริโภคในบ้านมากว่าซื้ออาหารนอกบ้าน โดยส่วนใหญ่ซื้อข้าวสาร เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ ไข่ ผักและผลไม้ รวมถึงเครื่องปรุงอาหาร ส่วนอีก 54.88% เป็นค่าใช้จ่ายไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ในส่วนนี้ 24.60% เป็นค่าเช่าบ้าน วัสดุก่อสร้าง ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม และของใช้ในบ้าน

เมื่อเทียบกับการสำรวจครัวเรือนกลุ่มชนบท ที่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยครัวเรือนละ 14,979 บาท/เดือน สัดส่วนใช้จ่ายสำหรับอาหาร อยู่ที่ 42.63% ส่วนใหญ่ยังบริโภคในบ้าน อีกสัดส่วน 57.37% ใช้จ่ายหมวดไม่ใช่อาหาร ซึ่ง 20.13% ใช้จ่ายกับค่าเช่าบ้าน วัสดุก่อสร้าง ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม และของใช้ในบ้าน ขณะที่การสำรวจครัวเรือนโดยรวมทุกรายได้ เฉลี่ยใช้จ่ายเดือนละ 20,421 บาท พบว่า สัดส่วน 36.41% ใช้จ่ายเพื่ออาหาร โดยสัดส่วนบริโภคในบ้านและนอกเท่าๆ กัน อีก 63.59% เป็นการใช้จ่ายหมวดไม่ใช่อาหาร และ 22.91 % ใช้จ่ายเพื่อเช่าบ้าน วัสดุก่อสร้าง ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม และของใช้ในบ้าน

นอกจากนี้ ในการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกันยายน 2560 พบว่าประชาชนมีความเชื่อมั่นการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นทั้งในปัจจุบัน และการคาดการณ์ในอนาคต 3 เดือนข้างหน้า แต่ยังต่ำระดับ 50 แต่ดัชนีขยับขึ้นเป็นเดือนที่ 2 สะท้อนมุมมองต่อการใช้จ่ายประชาชนดีขึ้น โดยข้อเสนอของประชาชน คือ ต้องการให้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับจังหวัด กระตุ้นใช้จ่ายรากหญ้า เพิ่มรายได้ครัวเรือน แก้หนี้ครัวเรือน และเพิ่มความรู้ในการประกอบอาชีพ

“ผลสำรวจสะท้อนว่าครัวเรือนที่มีรายได้น้อยมีความต้องการรายได้เพื่อซื้ออาหารและของใช้ในบ้านสูงกว่าครัวเรือนภาพรวม และมีความเชื่อมั่นต่อการใช้จ่ายระดับหนึ่ง ผลสำรวจจะทำให้รัฐบาลเห็นว่าต้องเพิ่มเติมอะไรในร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ ที่ตรงกับความต้องการจริงของผู้ถือบัตรผู้มีรายได้น้อย อย่างอาหารสดและเครื่องปรุง ส่วนจะเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการที่รัฐช่วยเหลือค่าครองชีพจาก 200-300 บาท/เดือน ไม่ขอระบุ เพราะโครงการเพิ่งเริ่มดำเนินการต้องใช้เวลาอีกระยะ แต่ที่ต้องดูคือความหลากหลาย ส่วนผลกระทบต่อเงินเฟ้อ นั้น กำลังติดตามว่าประชาชนซื้อสินค้าอะไรและมีน้ำหนักในการคำนวณเงินเฟ้อแค่ไหน ซึ่งปกติไตรมาส 4 ราคาสินค้าอาจขยับบ้าง แต่กระทรวงพาณิชย์ยังคงเงินเฟ้อรวมทั้งปีไม่เกิน1%” นางสาวพิมพ์ชนกกล่าว

 

ที่มา  มติชนออนไลน์