หอการค้าไทย-จีน ยื่น ศบค. ขอแทรเวลบับเบิลฟื้นฟู เศรษฐกิจปี’64

FILE. Lillian SUWANRUMPHA / AFP

จีนไม่เพียงเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยต่อเนื่องมานานกว่า 8 ปี แต่ด้วยความสัมพันธ์แน่นแฟ้น “นักธุรกิจจีน” จึงเป็นนายทุนใหญ่ที่เข้ามาลงทุนในไทยอย่างยาวนาน เสียงสะท้อนของทุนจีนในประเทศไทยนับได้ว่ามีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่น้อย

เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา “หอการค้าไทย-จีน” องค์กรภาคเอกชนขนาดใหญ่ ได้รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทย-จีนของคณะกรรมการหอการค้าไทย–จีน และเครือข่ายสมาพันธ์หอการค้า สมาคมธุรกิจต่าง ๆ ของจีนกว่า 60 สมาคม ชี้ชัดว่าไทยยังได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 แต่เศรษฐกิจจะพลิกกลับมาเป็นบวก และยังต้องใช้เวลาฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างน้อยอีก 6 เดือน

จีดีพี Q1 ต่ำกว่า 2.5%

นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีนกล่าวว่า จากการสำรวจมุมมองต่อภาวะเศรษฐกิจไทย พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 44.1% คาดการณ์ว่าอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะโตต่ำกว่า 2.5% และ 41.3% คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะโตอยู่ระหว่าง 2.5-3.5% โดยภาคธุรกิจ พาณิชย์ อิเล็กทรอนิกส์ สินค้าเกษตร บริการโลจิสติกส์ บริการสุขภาพ และสินค้าเกษตรแปรรูป จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมากที่สุดตามลำดับ

ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมที่ต้องเผชิญกับความท้าทาย ได้แก่ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ การก่อสร้าง และอุตสาหกรรมการผลิต เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องมีมาตรการการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อให้เกิดการกระตุ้นการลงทุนของธุรกิจ

จับคู่ท่องเที่ยวรายมณฑล

ขณะที่ภาคท่องเที่ยว “นักท่องเที่ยวจีน” ถือว่าเป็นกลุ่มหลักที่เดินทางมาเยือนประเทศไทยในแต่ละปี ซึ่งภาพสะท้อนหลังจากหอการค้าได้หารือร่วมกับสมาคมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ทั้งในส่วนธุรกิจโรงแรมและธุรกิจบริการนักศึกษาจีนระบุว่า ยังคงได้รับผลกระทบอย่างมาก

โดยภายในสัปดาห์นี้จะยื่นหนังสือไปยังศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) เพื่อขอให้รัฐบาลพิจารณามาตรการจับคู่กับประเทศหรือเมืองที่มีอัตราการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต่ำ เพื่อแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยวระหว่างกัน หรือแทรเวลบับเบิล

เบื้องต้นขอให้เร่งรัดพิจารณา 20 มณฑลของจีนซึ่งไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ โดยเฉพาะในมณฑลกว่างโจวที่มีความพร้อมในทุกด้าน นำร่องเปิดการท่องเที่ยวจับคู่กับภูเก็ต ขอให้รัฐบาลพิจารณาเรื่องผลกระทบด้านเศรษฐกิจด้วย ไม่อยากให้มองเพียงเรื่องผู้ติดเชื้ออย่างเดียวเท่านั้น แม้ว่าปัจจัยที่ดีที่สุดในปี 2564 คือ วัคซีน และหากมีวัคซีนแล้วก็ตาม แต่ไทยยังคงต้องใช้เวลากว่า 6 เดือนนับจากนี้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ หากปิดประเทศใช้เวลานานกว่านี้จะยิ่งซ้ำเติมภาคการท่องเที่ยว

“อยากให้รัฐบาลกล้าตัดสินใจ เรายื่นหนังสือไปครั้งที่แล้วยังไม่มีการตอบรับ จึงขอให้รัฐบาลมองในเรื่องผลกระทบด้านเศรษฐกิจ และไทยเองได้รับการยอมรับจากทั่วโลกด้านการแพทย์ มาตรการควบคุมอย่างดี ดังนั้น ควรเปิดแทรเวลบับเบิลรายมณฑลที่พร้อม 20 มณฑล

โดยเริ่มจากกว่างโจวซึ่งมีจีดีพีแค่มณฑลเดียวเทียบเท่าไทยทั้งประเทศ จับคู่กับภูเก็ตก่อน และอยากให้ลดจำนวนวันในการกักตัวของนักท่องเที่ยวที่มีหลักฐานใบรับรองต่าง ๆ เพื่อจูงใจเข้ามา ซึ่งตอนนี้มีนักท่องเที่ยวจีนรอเข้ามาท่องเที่ยวจับจ่ายใช้สอยในไทยจำนวนมาก เชื่อว่าจะช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้ดี”

สัญญาณลงทุนจีนมาไทยคึกคัก

ในด้านการลงทุนนั้น “ทุนจีน” ยังมองอาเซียนเป็นตลาดใหญ่ โดยสนใจลงทุนในอุตสาหกรรมยาง เกษตรแปรรูป อีคอมเมิร์ซ ซึ่งผลดีจากการที่รัฐบาลเข้าร่วมลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) หรือ FTA จะยิ่งเป็นโอกาสเปิดตลาด แต่จริง ๆ แล้วมองว่ากรอบการค้าเกิดขึ้นมาแล้วก็ผ่านไป สำคัญคือสินค้าไทยจะต้องเน้นคุณภาพและพัฒนาให้ดีขึ้นมากกว่า

ทั้งยังมีผลจากปัจจัยการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา ที่ได้ นายโจ ไบเดน เป็นประธานาธิบดีคนใหม่นั้น เชื่อว่าจะทำให้ความขัดแย้งระหว่างประเทศสหรัฐและจีนผ่อนคลายลง จะส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของระหว่างสองประเทศ ทำให้การค้าโลกผ่อนคลายมากขึ้นที่จะมีส่วนทำให้ไทยได้รับผลดีตามไปด้วยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่านักธุรกิจจีนกลับไม่กังวลต่อสถานการณ์การเมือง การชุมนุมที่ยืดเยื้อ โดยยังมองว่าการเมืองก็คือการเมือง

อีคอมเมิร์ซ-เกษตรมาแรง

ทั้งนี้ จากการสำรวจแนวโน้มการลงทุนในประเทศไทยไตรมาสแรกปีหน้า พบว่าธุรกิจที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยยังเป็นเทรนด์อีคอมเมิร์ซ 72% พืชผลเกษตร 50% โลจิสติกส์ 45% บริการสุขภาพ 44% เกษตรแปรรูป 38% อุตสาหกรรมท่องเที่ยว 32% (ดูกราฟิก)

โดย นายหลี่ เฟิง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ Bank of China มองว่า นักธุรกิจจีนยังมีความสนใจที่จะลงทุนในประเทศไทยต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางพารา เฟอร์นิเจอร์ e-Commerce ชิ้นส่วนยานยนต์ ประกอบกับรัฐบาลจีนเองก็มองว่า ประเทศไทยยังคงเป็นตลาดสำคัญต่อการค้า และมีความพร้อมด้านโลจิสติกส์ การขนส่งทางเรือ ทางบก และทางอากาศ

“อุตสาหกรรมยางและอีคอมเมิร์ซได้รับความสนใจมาก ปีหน้าหากเปิดประเทศให้มีการลงทุนน่าจะเป็นโอกาสของไทย เพราะที่ผ่านมานักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยสูงเป็นอันดับหนึ่ง ทำให้มูลค่าการค้าขายระหว่างไทยกับจีนเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว”

ส่งออกฝ่าบาทแข็ง-โลจิสติกส์พุ่ง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเศรษฐกิจจะพลิกฟื้นมาเป็นบวก แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในช่วงปีที่ผ่านมาภาคการส่งออกได้รับผลกระทบจากการขนส่งทางเรือที่เสียหายหนักมาก กระทั่งมาถึงช่วงโควิด-19 ต้นทุนการขนส่งสูงมากจาก 100-200 เหรียญต่อตู้ พุ่งขึ้นกว่า 3 เท่า 400-500 เหรียญต่อตู้คอนเทนเนอร์ ดังนั้น อย่ามองว่าโลจิสติกส์ไปได้หมดทั้งที่การขนส่งทางเรือผู้ประกอบการแทบเจ๊ง ซึ่งทั้งหมดนี้อาจเป็นจุดอ่อนการค้าอย่างมาก

นอกจากนี้ อัตราแลกเปลี่ยนเป็นประเด็นที่ยังได้รับความสนใจจากนักลงทุน ล่าสุดในการลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ระหว่างหอการค้าไทย-จีน กับธนาคารแห่งประเทศจีน (ไทย) จำกัด (มหาชน) ซึ่งหวังว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสารทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และโอกาสทางธุรกิจ รวมถึงการเข้าถึงการบริการของธนาคารแห่งประเทศจีนทั่วโลกได้มากยิ่งขึ้น


โดยนายเฟิงระบุว่า อยู่ระหว่างกระตุ้นให้นักธุรกิจไทยและจีนหันมาใช้สกุลเงินของตนเองเพื่อลดการใช้สกุลที่ 3 โดยที่ผ่านมา Bank of China มีนโยบายให้สามารถใช้สกุลเงินหยวนในการชำระหนี้เพียง 20% อีก 80% ยังเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในอนาคตควรจะเพิ่มสัดส่วนให้มากขึ้น